โรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ (Atopic Dermatitis) หรือที่หลายคนเรียกว่า “โรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง” เป็นโรคผิวหนังที่พบบ่อยในทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในผู้ที่มีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว เช่น โรคหืด (หอบหืด), แพ้อากาศ หรือแพ้อาหาร แม้จะไม่ใช่โรคติดต่อ แต่ก็ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตไม่น้อยเลยทีเดียว
👉 ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ?
- อายุ โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังสามารถพบได้ในทุกช่วงอายุ แต่มักพบบ่อยในวัยทารก
- มีประวัติเป็นภูมิแพ้ ผู้ที่มีประวัติส่วนตัวหรือครอบครัวเป็นโรคผิวหนัง ภูมิแพ้ ไข้ละอองฟาง หรือหอบหืด มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังได้มากกว่า
- อาชีพ งานที่ต้องมีการสัมผัสกับโลหะ ตัวทำละลาย หรือสารทำความสะอาดบางชนิด จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
🩺 สารก่อภูมิแพ้ต้นเหตุของการเกิดโรค
- สารก่อภูมิแพ้อากาศ ได้แก่ ไรฝุ่น แมลงสาบ ขน หรือรังแคสัตว์ เชื้อรา ละอองเกสร
- สารก่อภูมิแพ้ที่เป็นอาหารที่พบบ่อย ได้แก่ นมวัว ไข่ แป้งสาลี ถั่วเหลือง อาหารทะเล
อาการของโรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้
อาการของโรคสามารถแตกต่างกันไปตามช่วงวัยและระดับความรุนแรง แต่อาการทั่วไปที่พบได้ ได้แก่:
- ผิวแห้ง คันมาก โดยเฉพาะเวลากลางคืน
- มีผื่นแดงนูน ตุ่มน้ำใส หรือมีขุย
- ผิวหนังหนาและหยาบจากการเกาเรื้อรัง
- พบบ่อยบริเวณข้อพับ (ข้อศอก ข้อเข่า) ใบหน้า คอ มือ และเท้า
🔬 การวินิจฉัย เพื่อหาสาเหตุการเป็นโรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้
แพทย์ผิวหนังจะวินิจฉัยจากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และในบางกรณีอาจมีการทดสอบเพิ่มเติม เช่น การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Skin Prick Test) หรือการตรวจเลือด
🧪 การรักษาโรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้
- การดูแลผิวแบบพื้นฐาน อาบน้ำด้วยน้ำอุณหภูมิปกติ ลดการใช้สบู่ โดยไม่จำเป็นต้องใช้สบู่ทุกครั้งที่อาบน้ำ หลังอาบน้ำต้องซับตัวหมาด ทาครีมหรือโลชั่นทุกครั้งหลังอาบน้ำ ภายใน 3 นาที หลีกเหลี่ยงสารก่อความระคายเคืองแก่ผิว เช่น เหงื่อ น้ำลาย สารเคมี น้ำหอม แอลกอฮอล์ เสื้อผ้าที่หนาไม่ระบายอากาศ
- การรักษาเมื่อผื่นกำเริบ ยาทาต้านการอักเสบ เป็นตัวหลักในการรักษาผื่นกำเริบ ได้แก่
- ยากลุ่ม steroid
- ยากลุ่มที่ไม่ใช่ steroid

ยาฆ่าเชื้อชนิดทา ใช้เมื่อมีการติดเชื้อทางผิวหนัง
ยาฆ่าเชื้อชนิดรับประทาน ใช้เมื่อมีการติดเชื้อทางผิวหนังหลายตำแหน่ง หรือ เป็นบริเวณกว้าง
ยาแก้คันชนิดรับประทาน
การทำความสะอาดผื่นที่มีน้ำเหลืองแห้งกรัง โดยการใช้ผ้าก๊อซชุบน้ำเกลือประคบผื่นนาน 10-15 นาที แล้วเอาออก ทั้งนี้ เพื่อช่วยเอาสะเก็ดน้ำเหลืองบนผื่นออก ช่วยให้การทายามีประสิทธิภาพมากขึ้น
หากท่านมีปัญหาสุขภาพ หรือต้องการปรึกษาการใช้ผลิตภัณฑ์และการใช้ยาอย่างถูกวิธี สามารถเข้ามาปรึกษาได้ที่หน้าร้านขายยาจุฬาลักษณ์เภสัชทุกสาขา หรือใช้บริการให้คำปรึกษา ช่องทางออนไลน์ได้ทุกช่องทางของเรานะคะ
ข้อมูลอ้างอิง (References):
- พญ. ศศิกานต์ ซื่อศิริสวัสดิ์ กุมารแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพขอนแก่น
- รศ. นพ. ป่วน สุทธิพินิจธรรม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคผิวหนัง โรงพยาบาลพญาไท
- โรงพยาบาลเพชรเวช คลินิกอายุรกรรม
เรียบเรียงข้อมูลโดย : www.chulalakpharmacy.com