ภาวะหมดไฟจากการทำงาน (Burnout Syndrome) สาเหตุและวิธีป้องกัน

ภาวะหมดไฟ มีจุดเริ่มต้นจากการทำงานที่ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ และยังไม่สามารถยอมรับผลงานที่เกิดขึ้นได้ หากปล่อยไว้นานจะยิ่งมีความเสี่ยง ซึ่งอาจพัฒนากลายเป็นโรคซึมเศร้าได้ เมื่อเกิดภาวะนี้จึงต้องรีบพักผ่อน ปรับตัว และหาทางออกร่วมกันกับเพื่อนร่วมงาน หากรีบมองกลับมาถึงสาเหตุของปัญหาแล้วปรับตัวได้เร็ว อาจจะช่วยแก้ไขภาวะหมดไฟได้เร็วยิ่งขึ้น

🔥ภาวะหมดไฟในการทำงาน คืออะไร

เป็นสภาวะด้านจิตใจที่เกิดจากความเหนื่อยล้า หรือเกิดจากความเครียดจากการทำงาน ส่งผลให้ประสิทธิภาพของงานลดลง ไม่มีแรงผลักดันให้อยากทำงานต่อ และเริ่มมีความคิดในแง่ลบเกี่ยวกับงานที่ทำอยู่ ในบางรายอาจส่งผลให้ไม่ต้องการพบเจอใคร และมีโอกาสพัฒนากลายเป็น โรคซึมเศร้า” ในที่สุดหากสิ่งแวดล้อมไม่ดีขึ้น หรืออยู่ในสภาพจิตใจเช่นนี้บ่อยครั้ง ภาวะนี้ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม ICD โดยองค์การอนามัยโลก ซึ่งเป็นโรคทางสุขภาพจิตที่ควรได้รับการรักษา

🧪สาเหตุของ Burnout Syndrome มาจากอะไร?

🔬ความเครียดจากการทำงาน

  1. ภาระงานที่มากเกินไป : การทำงานที่ต้องใช้เวลานานและมีความเครียดสูง
  2. การขาดการสนับสนุนจากองค์กร : การไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้บังคับบัญชาหรือเพื่อนร่วมงาน
  3. ความคาดหวังที่สูงเกินไป : การตั้งเป้าหมายที่ยากเกินไปหรือการต้องการทำงานให้สมบูรณ์แบบ
  4. สภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่ดี : ความขัดแย้งระหว่างเพื่อนร่วมงาน การขาดการสื่อสารที่ดี

👨ปัจจัยส่วนบุคคล

  1. การขาดสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน : การให้ความสำคัญกับงานมากเกินไปและไม่มีเวลาพักผ่อน
  2. การขาดทักษะในการจัดการความเครียด : การไม่สามารถจัดการกับความเครียดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  3. การตั้งความคาดหวังจากตนเองที่สูงเกินไป : การต้องการทำงานให้สมบูรณ์แบบเสมอ

🩺อาการของภาวะหมดไฟ

อาการของ Burnout สามารถแสดงออกได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ เช่น:

  • รู้สึกหมดแรง ไม่มีเรี่ยวแรงแม้ในตอนเช้า
  • ขาดแรงจูงใจในการทำงาน ไม่รู้สึกภูมิใจในผลงานตัวเอง
  • หงุดหงิดง่าย ไม่อดทนเหมือนเดิม
  • รู้สึกว่าทำอะไรก็ไร้ความหมาย
  • ปวดหัว ปวดเมื่อยเรื้อรัง หรือมีปัญหาในการนอนหลับ
  • เริ่มหลีกเลี่ยงงาน หรือมีความคิดอยากลาออกบ่อยขึ้น

💊การป้องกันภาวะหมดไฟจากการทำงาน

การป้องกันที่ดีที่สุดคือ “การรู้ทันตนเอง” และสร้างสมดุลในชีวิต ดังนี้:

1. จัดสมดุลชีวิตการทำงาน (Work-Life Balance)

  • แบ่งเวลาให้กับครอบครัว งานอดิเรก และการพักผ่อน
  • อย่าให้งานเข้ามาแทนที่ชีวิตส่วนตัว

2. เรียนรู้ที่จะปฏิเสธ

  • อย่ารับงานเกินกำลัง หรืองานที่ไม่ใช่ความรับผิดชอบโดยตรงหากคุณยังไม่พร้อม

3. สื่อสารกับหัวหน้างานหรือเพื่อนร่วมงาน

  • หากรู้สึกว่างานหนักเกินไป ควรเปิดใจพูดคุยอย่างตรงไปตรงมา

4. ดูแลสุขภาพจิตและร่างกาย

  • พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • ฝึกสมาธิ หรือทำกิจกรรมที่ช่วยลดความเครียด เช่น ฟังเพลง อ่านหนังสือ ปลูกต้นไม้

5. รู้จักสังเกตตัวเอง

  • ถ้ารู้สึกผิดปกติต่อเนื่องหลายวัน หรือไม่มีความสุขกับงานเลย ควรพิจารณาปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต

หากรู้สึกหมดไฟในการทำงาน เครียด หรือหดหู่มาก ๆ การขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างที่ไว้ใจและเข้าใจ เพื่อพูดคุย ระบายความเครียด จะช่วยบรรเทาอาการของภาวะ Burnout Syndrome ได้ แต่หากรู้สึกว่าอาการมีความรุนแรง และไม่สามารถรับมือได้ ควรรีบปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ

หากท่านมีปัญหาสุขภาพ หรือต้องการปรึกษาการใช้ผลิตภัณฑ์และการใช้ยาอย่างถูกวิธี สามารถเข้ามาปรึกษาได้ที่หน้าร้านขายยาจุฬาลักษณ์เภสัชทุกสาขา หรือใช้บริการให้คำปรึกษา ช่องทางออนไลน์ได้ทุกช่องทางของเรานะคะ


ข้อมูลอ้างอิง (References):

  1. นพ. อโณทัย สุ่นสวัสดิ์ ศูนย์จิตรักษ์ โรงพยาบาลกรุงเทพ
  2. นพ. เจตน์ปิยะ อ้นมี โรงพยาบาลพิษณุเวช

เรียบเรียงข้อมูลโดย : www.chulalakpharmacy.com

แชร์

ยังไม่มีบัญชี