ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (Obstructive Sleep Apnea: OSA) สาเหตุ อาการ ป้องกัน

เป็นภาวะความผิดปกติอย่างหนึ่งของการหายใจที่เกิดขึ้นระหว่างนอนหลับ เป็นอันตรายและอาจทำให้เกิดความผิดปกติอื่นตามมาจนถึงเสียชีวิตได้ พบได้ในทุกอายุ โดยมักจะพบมากขึ้นตามอายุที่มากขึ้น ผู้ชายมากกว่าผู้หญิง หรือกลุ่มคนที่น้ำหนักตัวมาก ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่สังเกตถึงความผิดปกติในขณะหลับของตนเอง บ่อยครั้งที่ผู้พบความผิดปกติเป็นคู่สมรสหรือคนใกล้ชิด

👉 สาเหตุของภาวะ OSA

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้นเกิดจาก กล้ามเนื้อบริเวณลำคอหย่อนตัวมากเกินไป ขณะนอนหลับ ทำให้ลิ้นหรือเพดานอ่อนอุดกั้นทางเดินหายใจ สาเหตุที่ทำให้เกิด OSA มีดังนี้

  1. น้ำหนักตัวเกิน (Obesity) – ไขมันสะสมรอบคอสามารถกดทับทางเดินหายใจ
  2. โครงสร้างทางเดินหายใจแคบโดยกำเนิด – เช่น มีต่อมทอนซิลหรืออะดีนอยด์โต
  3. อายุที่มากขึ้น – กล้ามเนื้อคอหย่อนตัวมากขึ้นตามวัย
  4. เพศชาย – ผู้ชายมีความเสี่ยงมากกว่าผู้หญิง
  5. การดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้ยานอนหลับ – ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัวมากเกินไป
  6. ปัญหาทางจมูก – เช่น ภาวะผนังกั้นช่องจมูกคด หรือจมูกอุดตันเรื้อรัง

👉 อาการของภาวะ OSA

ผู้ที่มีภาวะ OSA มักมีอาการดังนี้

  • กรนเสียงดัง และหยุดกรนสลับกับการหายใจเงียบเป็นช่วง ๆ
  • สะดุ้งตื่นกลางดึก หรือรู้สึกหายใจติดขัด
  • ง่วงนอนมากในเวลากลางวัน แม้นอนนานพอ
  • ปวดศีรษะตอนตื่นนอน
  • อารมณ์แปรปรวน ขี้ลืม หรือไม่มีสมาธิ
  • นอนไม่หลับ หรือรู้สึกไม่สดชื่นเมื่อตื่น

👉 ผลกระทบจากภาวะ OSA

หากไม่ได้รับการรักษา OSA อาจก่อให้เกิดผลกระทบระยะยาว เช่น

  • โรคความดันโลหิตสูง
  • เบาหวานชนิดที่ 2
  • โรคหลอดเลือดหัวใจและหัวใจล้มเหลว
  • โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
  • ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

👉 การวินิจฉัยภาวะ OSA

วิธีที่แพทย์ใช้วินิจฉัยภาวะนี้ได้แก่

  • ซักประวัติและตรวจร่างกาย : โดยเฉพาะการวัดรอบคอ น้ำหนักตัว และลักษณะทางเดินหายใจ
  • การตรวจการนอนหลับ (Polysomnography) : เป็นการทดสอบในห้องตรวจนอนหลับ เพื่อติดตามคลื่นสมอง การหายใจ ระดับออกซิเจน และการเคลื่อนไหวของร่างกายขณะนอนหลับ

การรักษาภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ

การรักษาภาวะ OSA มีหลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค

1. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดน้ำหนัก, งดดื่มแอลกอฮอล์ก่อนนอน, เลิกสูบบุหรี่

2. การใช้เครื่องช่วยหายใจ CPAP
เครื่อง CPAP (Continuous Positive Airway Pressure) เป็นเครื่องที่เป่าลมผ่านหน้ากากเข้าไปในจมูกหรือปากขณะนอนหลับ เพื่อป้องกันทางเดินหายใจไม่ให้ยุบตัว เหมาะสำหรับผู้ที่มี OSA ระดับปานกลางถึงรุนแรง

3. เครื่องมือในช่องปาก (Oral Appliance)
ทันตแพทย์จะออกแบบเครื่องมือที่ช่วยเลื่อนขากรรไกรล่างไปด้านหน้า เพื่อเปิดทางเดินหายใจ ใช้สำหรับกรณี OSA ระดับเบา-ปานกลาง

4. การผ่าตัด
ในบางกรณี เช่น ต่อมทอนซิลโตมาก หรือมีความผิดปกติทางกายภาพ แพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัด เช่น

  • การตัดเพดานอ่อนหรือลิ้นไก่ (UPPP)
  • การผ่าตัดจมูก (แก้ไขผนังกั้นโพรงจมูกคด)
  • การผ่าตัดขากรรไกร (Maxillomandibular advancement)

👉 การป้องกันภาวะ OSA

แม้บางสาเหตุจะควบคุมไม่ได้ (เช่น พันธุกรรม หรืออายุ) แต่ยังมีวิธีลดความเสี่ยงได้ เช่น รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อการนอนหลับโดยไม่ต้องใช้ยานอนหลับดูแลสุขภาพช่องจมูกให้โล่งอยู่เสมอ

หากท่านมีปัญหาสุขภาพ หรือต้องการปรึกษาการใช้ผลิตภัณฑ์และการใช้ยาอย่างถูกวิธี สามารถเข้ามาปรึกษาได้ที่หน้าร้านขายยาจุฬาลักษณ์เภสัชทุกสาขา หรือใช้บริการให้คำปรึกษา ช่องทางออนไลน์ได้ทุกช่องทางของเรานะคะ


ข้อมูลอ้างอิง (References):

  1. นพ. สักกะ ณ ตะกั่วทุ่ง โสต ศอ นาสิกแพทย์ โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
  2. ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต
  3. โรงพยาบาลนนทเวช

เรียบเรียงข้อมูลโดย : www.chulalakpharmacy.com

แชร์

สินค้าที่เกี่ยวข้อง

No results found.

ยังไม่มีบัญชี