แนะนำ 5 ยาแก้อาเจียนที่ใช้ได้ผลดี

อาการวิงเวียนศีรษะ และอาเจียนไม่ใช่อาการเจ็บป่วย แต่เป็นอาการของโรคหรืออาการบางอย่างอาการวิงเวียนศีรษะและอาเจียนเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ สาเหตุดังกล่าว ไดแก่ โรคกระเพาะและลำไส้อักเสบ อาหารเป็นพิษ ความเหนื่อยล้า จากการเดินทาง ปฏิกิริยาที่เกิดจากยา ความเจ็บปวดอย่างรุนแรง การกระสับกระส่ายมากเกินไป ความผิดปกติของต่อมไร้ท่อและการหมดสติ
ยาแก้อาเจียน เป็นกลุ่มยาที่ใช้รักษาอาการคลื่นไส้และอาเจียน มีกลไกการออกฤทธิ์ปรับเปลี่ยนสารสื่อประสาทซึ่งเป็นสารเคมีในสมองชนิดหนึ่ง ส่งผลให้อาการคลื่นไส้อาเจียนลดลง ยาแก้อาเจียนมีหลายชนิดสำหรับใช้รักษาอาการคลื่นไส้อาเจียนที่มีสาเหตุต่างกัน มีทั้งรูปแบบยาเม็ดรับประทาน ยาฉีด และแผ่นแปะ บางชนิดสามารถหาซื้อได้เองจากร้านขายยาและบางชนิดต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น

แนะนำยาที่ช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้และลดการอาเจียน

อาการอาเจียนเกิดจากสาเหตุที่แตกต่างกันในแต่ละคน และแต่ละครั้งที่มีอาการ จึงมียาแก้อาเจียนที่มีส่วนประกอบของยาต่างกันให้เลือก ยาแก้อาเจียนมักอยู่ในรูปแบบเม็ด และมีคุณสมบัติในการรักษาอาการคลื่นไส้ อาเจียนจากสาเหตุที่หลากหลาย ในขณะที่ยาส่วนน้อยมีฤทธิ์รักษาอาการคลื่นไส้จากสาเหตุบางอย่างโดยเฉพาะ

 ตัวอย่างยาแก้อาเจียนที่สามารถหาซื้อได้เองและใช้ได้ผลดี 

1.โมแลกซ์–เอ็ม (Molax–M) ขนาดแผงละ 10 เม็ด

โมแลกซ์–เอ็ม เป็นยาที่มีส่วนประกอบของดอมเพอริโดน 10 มิลลิกรัมต่อ 1 เม็ด ซึ่งช่วยชะลอระบบย่อยอาหาร และออกฤทธิ์ต่อสมองในการบรรเทาอาการคลื่นไส้และอาเจียนที่เกิดจากโรคกระเพาะ ภาวะกระเพาะอาหารบีบตัวช้าจากโรคเบาหวาน รวมถึงผลข้างเคียงจากการใช้ยาโดปามีน 

ควรรับประทานโมแลกซ์–เอ็มขณะท้องว่าง หรือก่อนอาหาร 15–30 นาที และอาจรับประทานก่อนนอนหากจำเป็น สำหรับปริมาณการใช้ผู้ใหญ่ และเด็กที่มีอายุมากกว่า 12 ปีซึ่งมีน้ำหนักมากกว่า 35 กิโลกรัม รับประทานครั้งละ 1–2 เม็ด แต่ไม่เกิน 3 เม็ดใน 1 วัน และไม่ควรรับประทานติดต่อกันนานกว่า 1 สัปดาห์

ควรระมัดระวังเรื่องปริมาณการใช้ยาโมแลกซ์–เอ็ม ในเด็กแรกเกิดและเด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร ผู้ป่วยที่มีภาวะโพแทสเซียมและแมกนีเซียมในเลือดต่ำ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา

2.สตูเจอรอน (Stugeron) ขนาดแผงละ 10 เม็ด

สตูเจอรอน เป็นยาที่มีส่วนประกอบของซินนาริซีน 25 มิลลิกรัมต่อ 1 เม็ด ซึ่งนิยมใช้ช่วยบรรเทาอาการเวียนหัว คลื่นไส้ เนื่องจากซินนาริซีนมีคุณสมบัติต้านผลของฮีสตามีน มีฤทธิ์กดประสาท และช่วยให้การไหลเวียนเลือดในหูชั้นในดีขึ้น จึงสามารถบรรเทาอาการอาเจียนจากการเมารถ เมาเรือ และหูชั้นในอักเสบได้

สำหรับการแก้อาเจียนที่เกิดจากการเมารถ เมาเรือ ผู้ใหญ่และเด็กอายุ 13 ปีขึ้นไป ควรรับประทาน 1 เม็ด ก่อนออกเดินทางครึ่งชั่วโมง ส่วนเด็กอายุ 6–12 ปี ควรรับประทานครึ่งเม็ดก่อนออกเดินทางครึ่งชั่วโมง และหากจำเป็นต้องรับประทานยาอีกครั้ง ผู้ใหญ่และเด็กควรเว้นระยะการรับประทานยา 6 ชั่วโมง

หากใช้ยาสตูเจอรอนเพื่อแก้อาการอาเจียนที่เกิดจากหูชั้นในอักเสบ ผู้ใหญ่และเด็กที่อายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป ควรรับประทานยาครั้งละ 1 เม็ด จำนวน 3 ครั้งต่อวัน ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ควรรับประทานยาครั้งละประมาณครึ่งเม็ด จำนวน 3 ครั้งต่อวัน 

ผู้ที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคพาร์กินสันควรระมัดระวังในการใช้ยาเป็นพิเศษ หญิงตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร และเด็กควรหลีกเลี่ยงการใช้ยา

3.นาวาเมด (Navamed) ขนาดแผงละ 2 เม็ด

นาวาเมดเป็นยาที่ใช้ป้องกันอาการคลื่นไส้ อาเจียน ที่มีส่วนประกอบของไดเมนไฮดริเนต (Dimenhydrinate) 50 มิลลิกรัมต่อ 1 เม็ด ที่มีฤทธิ์ต่อสมองในการยับยั้งความรู้สึกเวียนหัว คลื่นไส้ และอาเจียนจากการเมารถ เมาเรือได้ดี อีกทั้งยาหาซื้อได้ง่ายและมีราคาถูก 

ในการรับประทานยา ควรรับประทาน 30 นาที –1 ชั่วโมงก่อนออกเดินทาง สามารถทานพร้อมอาหารหรือขณะท้องว่างก็ได้ โดยผู้ใหญ่และเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปรับประทานครั้งละ 1 เม็ด ควรเว้นระยะการรับประทานยาแต่ละครั้ง 4–6 ชั่วโมง และไม่ควรรับประทานเกิน 6 เม็ดใน 1 วัน สำหรับเด็กอายุ 6–12 ปี ควรรับประทาน ครึ่งเม็ด–1 เม็ด ห่างกัน 6–8 ชั่วโมง และไม่ควรรับประทานเกิน 3 เม็ดใน 1 วัน 

ทั้งนี้ นาวาเมดอาจส่งผลข้างเคียงให้เกิดอาการง่วงได้ จึงไม่ควรขับขี่ และควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากอาจไปเพิ่มฤทธิ์กดประสาทให้มากขึ้น

4.เบสมอล (Besmal) ขนาดแผงละ 10 เม็ด

เบสมอลเป็นยาที่มีส่วนประกอบของบิสมัส สับซาลิไซเลท (Bismuth Subsalicylate) ปริมาณ 524 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นยาที่ช่วยปกป้องกระเพาะและหลอดอาหารส่วนปลาย บรรเทาความรู้สึกไม่สบายท้อง คลื่นไส้จากกรดในกระเพาะ เนื่องจากตัวยามีฤทธิ์ช่วยลดกรด รวมถึงสามารถรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้จากการติดเชื้อ H.pylory ได้

การรับประทานยาเบสมอล อาจรับประทานพร้อมอาหารหรือโดยไม่มีอาหารก็ได้ ผู้ใหญ่รับประทานครั้งละ 1 เม็ด เด็กอายุ 9–12 ปี รับประทานครึ่งเม็ด หากจำเป็นอาจรับประทานยาเพิ่มโดยเว้นระยะ 0.5–1 ชั่วโมง โดยไม่ควรรับประทานยาเกิน 8 ครั้งต่อวัน และไม่ควรใช้ยาติดต่อกันเกิน 2 วัน 

เด็ก ผู้ที่เป็นโรคไต หญิงตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาและใช้ยาอย่างระมัดระวัง ผู้ที่มีอาการแพ้ยาซาลิไซเลทหรือยาแอสไพรินไม่ควรรับประทาน

5. เวนซิกซ์ (Vensix)

ยาแก้อาเจียนเวนซิกซ์ ใน 1 เม็ดมียาไดเมนไฮดริเนต 50 มิลลิกรัม มีฤทธิ์ยับยั้งสารสื่อประสาท และมีวิตามินบี 6 10 มิลลิกรัม ทำให้เวนซิกซ์สามารถบรรเทาการอาเจียนจากการแพ้ท้องได้โดยเฉพาะ รวมถึงบรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียนจากการเมารถ เมาเรือ และเมาเครื่องบินได้ 

หากใช้ยาเพื่อป้องกันอาการคลื่นไส้ อาเจียนจากการเดินทาง ควรรับประทาน 30 นาที–1ชั่วโมงก่อนเดินทาง โดยผู้ใช้ยาอาจปรึกษาเรื่องปริมาณการใช้ยาเวนซิกซ์กับเภสัชกรก่อนรับประทาน 

สำหรับปริมาณการใช้ยาเวนซิกซ์จะแตกต่างกันไปตามช่วงอายุ โดยผู้ใหญ่และเด็กที่อายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไปรับประทานครั้งละ 1 เม็ด ทุก 4–6 ชั่วโมง และไม่ควรรับประทานเกิน 6–8 เม็ดใน 1 วัน ส่วนเด็กอายุ 2–5 ปี รับประทานครั้งละ ¼ – ครึ่งเม็ด แต่ละครั้งควรห่างกัน 6–8 ชั่วโมง และไม่ควรรับประทานเกิน 1 เม็ดครึ่งใน 1 วัน 

สำหรับเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป แต่น้อยกว่า 12 ปี ควรรับประทานครั้งละครึ่ง–1 เม็ด ห่างกัน 6–8 ชั่วโมง และไม่ควรรับประทานเกิน 3 เม็ดใน 1วัน ทั้งนี้ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เด็ก คนชรา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา

นอกจากการใช้ยาแก้อาเจียน ผู้ที่มีอาการเวียนหัว คลื่นไส้ อาจบรรเทาอาการได้เองที่บ้านด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การจิบน้ำเย็น การสูดลมหายใจลึก ๆ เพื่อเพิ่มออกซิเจนให้ร่างกาย รับประทานอาหารที่ช่วยบรรเทาอาการเวียนหัว หลีกเลี่ยงของทอด และขยับร่างกายอย่างสม่ำเสมอร่วมด้วย 

เมื่อใดต้องไปพบหมอ

1. อาการคลื่นไส้อาเจียนในเด็กเล็ก หรือทารก

2. อาการคลื่นไส้อาเจียน หลังการใช้ยา ต้องหยุดยานั้นทันที แล้วรีบกลับไปหาหมอ

3. อาการคลื่นไส้อาเจียนติดต่อกันหลายๆครั้ง ในระยะเวลาใกล้ๆ กัน หรือมีอาการคลื่นไส้อาเจียนติดต่อกันนาน 2-3 วัน

4. อาเจียนออกมาเป็นเลือด

5. อาเจียนร่วมกับมีอาการปวดท้องมาก หรือมีอาการอาเจียนอย่างแรงจนพุ่งเป็นสาย หรือมีอาการปวดหัว มีไข้ร่วมด้วย


แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– web หมอชาวบ้าน
– web pobpad
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM

แชร์

สินค้าที่เกี่ยวข้อง

No results found.

ยังไม่มีบัญชี