ช็อกโกแลตซีสต์ (chocolate cyst) เรียกอีกชื่อหนึ่งคือ endometriotic cyst หรือ endometrioma เป็นภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เกิดจากเยื่อบุโพรงมดลูกที่หลุดลอกเป็นประจำเดือน ไหลย้อนกลับไปทางท่อนำไข่เข้าไปในช่องท้องและอุ้งเชิงกราน ทำให้เซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกไปฝังตัวและเจริญกลายเป็นถุงน้ำ ซึ่งภายในบรรจุไปด้วยของเหลวคล้ายเลือดประจำเดือน สะสมไว้จนกลายเป็นสีเข้มขึ้นคล้ายสีช็อกโกแลต
โดยมักพบเยื่อบุโพรงมดลูกไปเจริญอยู่ที่บริเวณผิวด้านนอกมดลูกและบริเวณใกล้เคียง เช่น ท่อนำไข่ รังไข่ กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ และเยื่อบุช่องท้องบริเวณอุ้งเชิงกราน นอกจากนี้ยังมีทฤษฎีที่เชื่อว่าเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกกระจายไปที่อื่นได้ โดยผ่านทางระบบหลอดเลือดและน้ำเหลือง ทำให้สามารถพบความผิดปกติที่อวัยวะอื่นๆ ได้ทั้ง ปอด ตับ ต่อมน้ำเหลือง สมอง และผิวหนัง เป็นต้น
ใครบ้างเสี่ยงเป็นช็อกโกแลตซีสต์
กลุ่มที่มีความเสี่ยงในการเป็นโรคช็อกโกแลตซีสต์หรือโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ คือผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ทุกคน นับตั้งแต่วัยเริ่มมีประจำเดือนจนถึงวัยก่อนหมดประจำเดือน เนื่องจากโรคเยื่อบุโพรงมดลูกที่เจริญผิดที่จะสัมพันธ์กับฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิง
- มีประจำเดือนตั้งแต่อายุยังน้อย
- มีประจำเดือนรอบสั้น โดยเฉพาะรอบห่างของประจำเดือนน้อยกว่า 27วัน
- มีประจำเดือนมาก หรือนานกว่า 7 วันต่อครั้ง
- มีสมาชิกในครอบครัว เช่น แม่ ยาย พี่สาว มีประวัติเป็นโรคนี้
- มีความผิดปกติเกี่ยวกับทางออกของประจำเดือน เช่น ผู้ป่วยที่มีเยื่อพรหมจารีปิด หรือมีความผิดปกติที่ปากมดลูก
9 อาการเสี่ยงโรคช็อกโกแลตซีสต์
ช็อกโกแลตซีสต์เป็นโรคที่พบบ่อยในสตรีวัยเจริญพันธ์ ส่วนอาการของช็อกโกแลตซีสต์ไม่ใช่อาการเฉพาะเจาะจงอาจพบในโรคอื่นได้เหมือนกัน โดยอาการเสี่ยงเป็นช็อกโกแลตซีสต์ได้แก่
1.ปวดท้องเวลามีประจำเดือน และปวดมากขึ้นเรื่อยๆ (progressive dysmenorrhea)
2.ประจำเดือนมาผิดปกติ
3.เจ็บช่องคลอดขณะมีเพศสัมพันธ์
4.มีอาการท้องผูก หรือท้องเสียร่วมด้วย
5.ปวดหน่วงลงทวารหนักช่วงมีประจำเดือน
6.ปัสสาวะเป็นเลือด หรือถ่ายเป็นเลือดช่วงมีประจำเดือน
7.มีเลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอด หรือประจำเดือนมามากกว่าปกติ
8.หากถุงน้ำมีขนาดใหญ่อาจคลำพบก้อนบริเวณท้องน้อยได้
9.สัมพันธ์กับอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง และภาวะมีบุตรยาก
ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดตามมาได้
หากเรามีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือมีช็อกโกแลตซีสต์ เช่น
- เกิดพังผืดในช่องท้อง หรืออุ้งเชิงกราน เกิดเป็นการปวดท้องน้อยเรื้อรัง
- พังผืดที่เกิดขึ้น ทำให้ท่อนำไข่ตีบตัน ตั้งครรภ์ยาก หรือเพิ่มความเสี่ยงต่อท้องนอกมดลูก นอกจากนี้ยังทำให้ตัวอ่อนฝังตัวในมดลูกได้น้อยลง
- พังผืดกดรัดท่อไต ทำให้ท่อไตบวม และไตบวม
อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้ ไม่ได้บ่งบอกถึงภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่อย่างเดียว มีบางโรคที่อาการคล้ายกันได้ การวินิจฉัยโรค จึงต้องดูหลายอย่างประกอบกัน ทั้งอาการ การตรวจร่างกาย การอัลตราซาวนด์ เมื่อได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องแล้ว จึงค่อยพิจารณาการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– โรงพยาบาลพญาไท
– โรงพยาบาลเวชธานี
– โรงพยาบาลวิมุต
– โรงพยาบาลบางปะกอก
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM