Cushing Syndrome (กลุ่มอาการคุชชิง) เกิดจากร่างกายมีระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) สูง ซึ่งอาจเป็นเพราะใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์มากเกินไป หรือร่างกายอาจผลิตฮอร์โมนนี้ออกมามากกว่าปกติ ทำให้มีอาการ เช่น น้ำหนักเพิ่มขึ้น มีภาวะอ้วน ใบหน้ากลมผิดปกติ มีก้อนไขมันด้านหลังช่วงระหว่างไหล่ และผิวหนังหน้าท้องแตกลายเป็นสีม่วงหรือสีชมพู เป็นต้น
สาเหตุของ Cushing Syndrome
สาเหตุที่พบบ่อยของ Cushing Syndrome คือ การใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดรับประทานในปริมาณมากและใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น ยาเพรดนิโซน การใช้ยาลูกกลอน ยาสมุนไพรพื้นบ้าน หรือยาอื่น ๆ ที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์
ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ได้แก่
- เกิดความผิดปกติ หรือมีเนื้องอกที่ต่อมหมวกไต
- เนื้องอกที่ต่อมใต้สมอง ทำให้ต่อมใต้สมองผลิตฮอร์โมนอะดรีโนคอร์ติโคทรอพิก (Adrenocorticotropic hormone) ออกมามากเกินไป จนทำให้เกิด Cushing Syndrome
- เกิดเนื้องอกในปอด ต่อมไร้ท่อหรือต่อมไทรอยด์ และตับอ่อน
- กรรมพันธุ์ เป็นสาเหตุที่พบได้น้อยมาก โดยผู้ป่วยอาจสืบทอดการเกิดเนื้องอกในต่อมไร้ท่อ ซี่งส่งผลต่อระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล และทำให้เกิด Cushing Syndrome ได้
อาการของ Cushing Syndrome แบ่งได้เป็นด้านต่าง ๆ ดังนี้
อาการที่พบได้ทั่วไป
- หิวบ่อย กินจุ ใบหน้าอ้วนกลม น้ำหนักเพิ่ม
- อ้วนขึ้น โดยเฉพาะส่วนกลางลำตัว เช่น บริเวณไหปลาร้า ลำตัวส่วนบน พุง แต่แขนขาลีบ
- มีก้อนไขมันสะสม โดยเฉพาะที่ใบหน้า ส่วนกลางลำตัว หลังส่วนบนหรือช่วงระหว่างบ่า
- ปัสสาวะมากและปัสสาวะบ่อย
- นอนไม่หลับ
อาการทางผิวหนัง
- ผิวหนังแห้ง
- ผิวหนังบางจนเห็นเส้นเลือด หรือเกิดรอยช้ำได้ง่าย
- ผิวหนังแตกลายเป็นสีชมพูหรือสีม่วง บริเวณต้นขา ท้องแขน และหน้าอก
- เกิดรอยแผลเป็นได้ง่าย
- เป็นสิวทั้งตามตัวและใบหน้า

อาการทางกระดูก
- กระดูกพรุน สูญเสียมวลกระดูก ทำให้กระดูกแตกหักง่าย
อาการทางกล้ามเนื้อ
- กล้ามเนื้ออ่อนแอ ต้นแขนต้นขาลีบ อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
อาการทางหัวใจและหลอดเลือด
- ความดันโลหิตสูง
- ปวดศีรษะ
อาการทางต่อมไร้ท่อ
- น้ำตาลในเลือดสูง
- เบาหวาน
อาการทางสมองและจิตใจ
- บกพร่องทางกระบวนการคิด
- วิตกกังวล หงุดหงิดง่าย
- ซึมเศร้า สับสน
- ไม่มีสมาธิ อารมณ์แปรปรวน
อาการทางระบบภูมิคุ้มกัน
- ติดเชื้อต่าง ๆ ได้ง่าย และอาจมีอาการป่วยที่รุนแรง
นอกจากนี้ ผู้ป่วยเพศชายอาจมีอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ หรือเผชิญภาวะมีบุตรยากด้วย ส่วนเพศหญิงประจำเดือนอาจมาไม่ปกติ หรือมีขนที่ใบหน้าและลำตัวมากกว่าปกติ หากพบอาการข้างต้น โดยเฉพาะหากอาการเหล่านั้นเกิดขึ้นในขณะใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์รักษาโรคหรือภาวะต่าง ๆ เช่น ข้ออักเสบ โรคหืด หรือโรคลำไส้อักเสบ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา เพราะอาจเสี่ยงต่อการเป็น Cushing Syndrome ได้
การวินิจฉัย Cushing Syndrome
แพทย์จะวินิจฉัยโดยสอบถามรายละเอียดของอาการที่เกิดขึ้น และตรวจร่างกาย รวมทั้งอาจตรวจเพิ่มเติมประกอบการวินิจฉัย เช่น
- ตรวจปัสสาวะ โดยเก็บตัวอย่างปัสสาวะ 24 ชั่วโมง เพื่อตรวจระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล
- ตรวจเลือด โดยการนำตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยไปวิเคราะห์ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลในห้องปฏิบัติการ
- ตรวจน้ำลาย เพื่อดูระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลในน้ำลาย ซึ่งจะทำการตรวจในเวลากลางคืน เพราะโดยปกติ ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลจะลดลงในช่วงเย็นเป็นต้นไป
- ตรวจภาพถ่าย ด้วยการทำซีที สแกน (Computerized Tomography: CT Scan) หรือเอ็มอาร์ไอ สแกน (Magnetic Resonance Imaging: MRI Scan) เพื่อตรวจหาความผิดปกติของต่อมใต้สมองและต่อมหมวกไต เช่น ตรวจหาเนื้องอก เป็นต้น
การรักษา Cushing Syndrome
- การลดหรือหยุดใช้ยาสเตียรอยด์ แพทย์จะตรวจสอบว่าควรหยุดใช้ยาหรือควรลดปริมาณการใช้ยาลงหรือไม่ รวมไปถึงสั่งยาตัวใหม่ที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ โดยผู้ป่วยไม่ควรหยุดหรือลดการใช้ยาสเตียรอยด์ด้วยตนเอง ต้องให้แพทย์เป็นผู้ปรับลดยาเท่านั้น
- การผ่าตัดเนื้องอกออก ในกรณีที่มีเนื้องอกเป็นสาเหตุ เช่น เนื้องอกต่อมใต้สมอง เนื้องอกต่อมหมวกไต เนื้องอกตับอ่อนหรือปอด โดยแพทย์จะทดสอบหาตำแหน่งของเนื้องอกก่อนพิจารณาผ่าตัด
- การฉายรังสี แพทย์อาจใช้วิธีนี้เมื่อไม่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดเนื้องอกได้
- การใช้ยารักษา ใช้เพื่อควบคุมการผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอลในร่างกาย ในกรณีที่ไม่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดและฉายรังสีได้ หรืออาจใช้ก่อนการผ่าตัดในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เพื่อช่วยลดอาการต่าง ๆ และลดความเสี่ยงจากการผ่าตัด
- การรักษาประคับประคองตามอาการ รักษาอาการต่าง ๆ ที่เป็นผลจากฮอร์โมนคอร์ติซอลสูง เช่น ให้ยารักษาโรคเบาหวานเมื่อมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง หรือให้ยาลดความดันโลหิตเมื่อมีความดันโลหิตสูง เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนของ Cushing Syndrome
ภาวะแทรกซ้อนของ Cushing Syndrome อาจเกิดขึ้นได้หากภาวะนี้ไม่ได้รับการรักษา เช่น กระดูกหักง่ายบริเวณเท้าและซี่โครงจากโรคกระดูกพรุน กล้ามเนื้อลีบและไม่มีแรงจากการเสียมวลกล้ามเนื้อ ติดเชื้อต่าง ๆ ได้ง่ายและรุนแรงจากฮอร์โมนกดภูมิคุ้มกันโรค โรคเบาหวานชนิดที่ 2 จากภาวะพร่องอินซูลิน มีไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน กลุ่มอาการอ้วนลงพุง (Metabolic Syndrome) ความดันโลหิตสูง เนื้องอกต่อมใต้สมอง นิ่วในไต เกิดความผิดปกติของระดับน้ำตาลและเกลือแร่ต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้
การป้องกัน Cushing Syndrome
การป้องกันตนเองจากภาวะ Cushing Syndrome หรือป้องกันการเกิดอาการและภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายหลังป่วยด้วยกลุ่มอาการนี้ ได้แก่
- หากต้องใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ควรใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำ ไม่ขาดยาหรือหยุดใช้ยาด้วยตนเอง ไม่ใช้ยาเกินปริมาณหรือนานกว่าที่แพทย์กำหนด
- ไม่ซื้อยาสเตียรอยด์ใช้เอง หลีกเลี่ยงการรับประทานยาลูกกลอน ยาสมุนไพรพื้นบ้าน หรือยาชุด ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนซื้อยาเสมอ
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน รับประทานอาหารที่ปรุงสุก สะอาด ล้างมือบ่อย ๆ เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และเป็นแหล่งพลังงานที่ใช้ในการฟื้นฟูร่างกาย รวมถึงอาจช่วยลดน้ำหนักส่วนเกินจากภาวะ Cushing Syndrome ได้ นอกจากนั้น ควรได้รับวิตามิน ดี และแคลเซียมอย่างเพียงพอ เพื่อให้กระดูกแข็งแรงและลดการเสียมวลกระดูกที่มักเกิดจาก Cushing Syndrome
- หลีกเลี่ยงหรือจำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะหากดื่มในปริมาณมาก จะทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมามาก
- ระมัดระวังเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว และการเกิดอุบัติเหตุ เพราะกระดูกอาจแตกหักได้ง่าย
- เพิ่มการทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายอย่างช้า ๆ และเหมาะสม เพราะกล้ามเนื้อยังอ่อนแอ เพื่อให้เกิดผลดีในระยะยาว
- บรรเทาอาการเจ็บปวดอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งการนวด การอาบน้ำร้อน การออกกำลังกายที่เกิดแรงกระแทกน้อย เช่น แอโรบิกในน้ำ และไทชิ อาจช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดของกล้ามเนื้อและข้อต่อจาก Cushing Syndromeได้
- ดูแลควบคุมน้ำหนักตัว ไม่กินมากเกินไป และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูงหรือมีน้ำตาลสูง เพราะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้ง่าย
- ดูแลสุขภาพจิต เพราะ Cushing Syndrome อาจทำให้ผู้ป่วยซึมเศร้าได้ หากมีอาการซึมเศร้า ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์หรือนักบำบัดเพื่อช่วยฟื้นฟูจิตใจ
- ควรสอบถามแพทย์หรือหาข้อมูล เพื่อเข้าร่วมกลุ่มบำบัดช่วยเหลือผู้ป่วย Cushing Syndrome เพราะผู้ป่วยจะได้เข้ากลุ่มและเจอกับผู้ที่เป็นโรคเดียวกัน มีการรักษาและประสบการณ์อื่น ๆ ที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการรับมือและฟื้นฟูโรคนี้ได้เป็นอย่างดี โดยควรเข้ารับการบำบัดควบคู่กับความช่วยและกำลังใจจากคนในครอบครัวหรือเพื่อนด้วย
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– โรงพยาบาลจุฬารัตน์แอร์พอร์ต9
– web pobpad
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM