ฝีฝักบัว อาการ สาเหตุ และวิธีป้องกัน

ฝีฝักบัว (Carbuncles) ฝีฝักบัวเกิดจากการอักเสบของผิวหนังชั้นที่อยู่ลึกลงไปและบริเวณรูขุมขน มีลักษณะเป็นก้อนหนองในรูขุมขนหลายก้อนอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม มีอาการเจ็บเมื่อสัมผัสโดน เกิดการติดเชื้อจากแบคทีเรีย มักพบบริเวณหลัง ต้นขา รักแร้ และด้านหลังลำคอ ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาจมีอาการไข้และมีอาการหนาวสั่นร่วมด้วย เมื่อตุ่มแดงยุบจะมีโอกาสเกิดรอยแผลเป็นมากกว่าฝีทั่วไป ในปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาถึงอัตราการเกิดของโรคนี้อย่างชัด แต่พบว่าเป็นโรคที่เกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัยและพบได้มากในเมืองร้อน

สาเหตุของฝีฝักบัว

ฝีฝักบัวมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสแตฟิโลค็อกคัสออเรียส (Staphylococcus Aureus) ที่อยู่บนผิวหนัง โดยเฉพาะผิวบริเวณที่อับชื้น เช่น ปาก จมูก รักแร้ ขาอ่อน หรือขาหนีบ เป็นต้น ซึ่งโดยปกติเชื้อนี้มักไม่ก่อให้เกิดอันตราย ทว่าเมื่อเชื้อเข้าสู่ผิวหนังผ่านรอยแผลหรือรอยขีดข่วน ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะตอบสนองโดยส่งเม็ดเลือดขาวมากำจัดเชื้อดังกล่าว จึงส่งผลให้เกิดอาการอักเสบและเกิดฝีซึ่งเป็นตุ่มหนองอักเสบตามมา หากเชื้อแบคทีเรียลุกลามสู่ใต้ชั้นผิวหนังก็อาจทำให้การอักเสบขยายวงกว้าง จนเกิดเป็นก้อนหนองอยู่รวมหลายก้อนและกลายเป็นฝีฝักบัวในที่สุด

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงจะทำให้เกิดโรคฝีฝักบัวได้ง่ายขึ้น คือ 

  • ผู้ที่บริเวณผิวหนังบริเวณคอและหลัง มีการเสียดสีหรือเกิดแผลได้ง่าย
  • เป็นผู้ที่มีสุขอนามัยไม่ดี ไม่รักษาสุขอนามัยตนเอง ไม่รักษาความสะอาดในการโกนขน ผม หนวด เครา
  • ผู้ที่มีสุขภาพโดยรวมไม่ดี มีโรคประจำตัวต่างๆ หรือมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี , ผู้ป่วยเบาหวาน , โลหิตจาง , ขาดสารอาหาร , ผู้ที่รับประทานยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค , ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง , ผู้ป่วยตับเรื้อรัง
  • ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับคนที่ติดเชื้อแบคทีเรียชนิดดังกล่าว

อาการของฝีฝักบัว

  • ผิวหนังเกิดบวมและตุ่มสีชมพูหรือแดง
  • มีอาการคันก่อนที่ก้อนเนื้อจะปรากฏขึ้นมา
  • เจ็บปวดผิวหนังรอบ ๆ บริเวณที่เกิดก้อนเนื้อ
  • ก้อนเนื้อมีหนองเกิดขึ้นและอาจขยายใหญ่ขึ้นใน 2-3 วัน
  • ผิวหยาบกร้าน และมีหนองไหลออกมา
  • ปวดเมื่อยตามร่างกาย
  • รู้สึกเมื่อยล้า อ่อนเพลีย
  • หนาวสั่นและมีไข้

ภาวะแทรกซ้อนของฝีฝักบัว

ในรายที่มีการติดเชื้อลุกลาม ฝีฝักบัวอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงจากการติดเชื้อที่ผิวหนังเป็นวงกว้างได้ โดยจะส่งผลให้

  • มีอาการไข้และอ่อนเพลียร่วมด้วย
  • การติดเชื้ออาจลุกลามเป็นการติดเชื้อในอวัยวะต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียงได้ เช่น กระดูก เกิดกระดูกอักเสบ
  • เชื้อโรคอาจลุกลามเข้าสู่กระแสเลือดก่อให้เกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด การติดเชื้อของเยื่อบุหัวใจ เกิดเป็นเยื่อบุหัวใจอักเสบ
  • เชื้อดื้อยา
  • เมื่อแผลหายมักกลายเป็นแผลเป็น

วิธีรักษาฝีฝักบัว

วิธีการรักษาฝีฝักบัวอาจทำได้ด้วยหลายวิธี ทั้งนี้ขึ้นอยู่ระดับความรุนแรงของอาการและบริเวณที่เกิดฝีฝักบัว แต่หากเป็นฝีที่ใบหน้า ใกล้กระดูกสันหลัง มีขนาดใหญ่ขึ้นและรักษาไม่หายภายใน 2 สัปดาห์ หรือมีฝีขึ้นหลายหัวติด ๆ กัน ควรไปพบคุณหมอเพื่อเข้ารับการรักษาที่ถูกต้อง เช่น

  • การรับประทานยาปฏิชีวนะ เช่น ไดคล็อกซาซิลลิน (Dicloxacillin) อิริโทรมัยซิน (Erythromycin) เพื่อบรรเทาอาการปวด โดยคุณหมออาจให้รับประทานต่อเนื่องเป็นอย่างน้อย 1 สัปดาห์
  • สบู่ต้านเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งอาจช่วยป้องกันการเกิดฝี และต้านเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง
  • การผ่าตัด หากฝีมีขนาดใหญ่ คุณหมออาจระบายหนองออกด้วยการผ่าตัดหรือใช้เข็ม รวมถึงอาจต้องเอาเซลล์ผิวที่ตายแล้วออกด้วย

วิธีป้องกันฝีฝักบัว

การมีสุขอนามัยที่ดีอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดฝีฝักบัวได้ นอกจากนั้นควรดูแลตัวเองด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • รับประทานยาตามที่คุณหมอสั่งให้ครบถ้วน และไม่ควรหยุดยาเองแม้ฝีจะยุบไปแล้ว
  • ประคบร้อนบริเวณที่เป็นฝีวันละ 3-4 ครั้ง ครั้งละ 10-15 นาที
  • หลีกเลี่ยงการเอาฝีไปสัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ รวมถึงไม่ควรบีบหรือเจาะหนองออกด้วยตัวเอง เพราะอาจทำให้เกิดรอยแผลเป็น และแผลอาจเกิดการติดเชื้อ
  • หากหนองแตกควรทำแผลอย่างน้อยวันละ 2-3 ครั้ง ด้วยอุปกรณ์ทำแผลที่สะอาด
  • ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารและหลังการใช้ห้องน้ำ
  • อาบน้ำบ่อย ๆ เพื่อให้ผิวของคุณปราศจากเชื้อแบคทีเรีย
  • ทำความสะอาดผ้าปูที่นอน เสื้อผ้า ชุดชั้นใน และผ้าเช็ดตัว เป็นประจำ และไม่ควรใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
  • ควรไปพบคุณหมอหากมีอาการป่วยหรือมีปัญหาผิวอื่น ๆ ที่อาจก่อให้เกิดแผลบนร่างกาย


แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– โรงพยาบาลบางปะกอก
– web hellokhunmor
– web pobpad
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM

แชร์

สินค้าที่เกี่ยวข้อง

No results found.

ยังไม่มีบัญชี