โรคบูลิเมีย (Bulimia) หรือโรคล้วงคอ 

โรคบูลิเมีย (Bulimia Nervosa หรือ Bulimia) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า โรคล้วงคอ คือพฤติกรรมการกินผิดปกติ โดยที่ผู้ที่เป็นโรคบูลิเมียจะมีอาการกินไม่หยุด (รับประทานอาหารในปริมาณมากในช่วงเวลาหนึ่ง) แล้วพยายามกำจัดอาหารออกด้วยวิธีต่างๆ เช่น ล้วงคอหลังกินอาหาร อาการของโรคบูลิเมียจะมีทั้งอาการทางกาย พฤติกรรม และอารมณ์ ถึงแม้จะยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่โรคบูลิเมียอาจมีสาเหตุจากหลายปัจจัยประกอบกัน ได้แก่พันธุกรรม สังคม หรือสุขภาวะทางอารมณ์ วิธีป้องกันโรคบูลิเมีย ได้แก่ การให้ความรู้ และการตระหนักถึงอาการของโรค

โรคบูลิเมีย (Bulimia Nervosa หรือ Bulimia) คือหนึ่งในอาการทางจิตเวชที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้ อาการของผู้ที่เป็นโรคบูลิเมีย ได้แก่ มีการรับประทานอาหารปริมาณมากในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ แล้วตามด้วยการทำให้ตัวเองอาเจียนหรือใช้ยาระบาย เนื่องจากกลัวน้ำหนักขึ้น ผู้ที่เป็นโรคบูลิเมียบางราย มีการออกกำลังกายอย่างหักโหม อดอาหาร หรือใช้ยาลดความอ้วน หรือสารเสพติดเพื่อลดน้ำหนักอีกด้วย

โรคบูลิเมียมักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยอาการของโรคมักจะเริ่มเกิดตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น ทั้งนี้่เกิดได้ในทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะมีเพศ อายุ เชื้อชาติ หรือลักษณะรูปร่างใดก็เป็นโรคบูลิเมียได้ นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นโรคบูลิเมียมักจะมีน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ปกติ ต่างจากผู้ที่เป็นโรคคลั่งผอม (anorexia) ที่จะมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์ปกติ นอกจากนี้ ผู้เป็นโรคบูลิเมียจะพยายามกำจัดอาหารออกหลังรับประทานเข้าไป ต่างจากผู้เป็นโรคกินไม่หยุด (binge eating) ที่จะไม่มีอาการล้วงคอ

ลักษณะอาการของผู้ป่วยโรค Bulimia มีดังนี้

  • รับประทานอาหารปริมาณมากในช่วงเวลาสั้น ๆ
  • จำกัดปริมาณอาหาร และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารบางชนิด
  • ล้วงคอเพื่อให้อาเจียนอาหารที่รับประทานเข้าไป หรือออกกำลังกายอย่างหักโหมเพื่อป้องกันน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
  • ใช้ยาระบาย ยาขับปัสสาวะ หรือสวนทวารหลังรับประทานอาหาร
  • ใช้อาหารเสริมหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อลดน้ำหนัก
  • กังวลหรือกลัวว่าน้ำหนักตัวจะเพิ่มขึ้น
  • หมกมุ่นอยู่กับน้ำหนักและรูปร่างของตนเอง
  • มีความคิดแง่ลบต่อภาพลักษณ์ของตนเอง
  • ควบคุมพฤติกรรมการรับประทานอาหารไม่ได้
  • สภาวะอารมณ์เปลี่ยนไปจากปกติ เช่น รู้สึกเครียด หรือวิตกกังวล เป็นต้น
  • ประจำเดือนมาผิดปกติ

อาการโรคบูลิเมียแบบไหนที่ควรพบแพทย์

หากคุณมีอาการของโรคบูลิเมีย แนะนำให้เข้ารับการรักษาทันที เพราะโรคบูลิเมียอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อคุณได้หากไม่ได้รับการรักษา โดยคุณอาจจะบอกคนที่คุณไว้ใจว่าคุณมีอาการของโรคนี้ เพื่อที่เขาจะแนะนำให้คุณพบแพทย์หรือกระทั่งไปพบแพทย์เป็นเพื่อนคุณ

สาเหตุของโรคบูลิเมีย

ในทางการแพทย์ปัจจุบันยังคงไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรค Bulimia แต่โรคนี้อาจเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ร่วมกัน ดังนี้

  • อายุ โรค Bulimia มักพบได้มากในช่วงวัยรุ่นตอนปลายจนถึงช่วงผู้ใหญ่ตอนต้น
  • เพศ เพศหญิงมีโอกาสเป็นโรค Bulimia มากกว่าเพศชาย
  • พันธุกรรม ผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัว โดยเฉพาะญาติสายตรงลำดับที่ 1 ป่วยเป็นโรคผิดปกติเกี่ยวกับการกิน เป็นโรคซึมเศร้า ติดสุรา หรือติดยาเสพติด
  • สภาวะทางร่างกาย ภาวะขาดสารสื่อประสาทเซโรโทนินในสมอง หรือการมีน้ำหนักตัวมากในวัยเด็กและวัยรุ่นก็อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้
  • สภาวะทางจิตใจ สภาวะอารมณ์และปัญหาสุขภาพจิตบางอย่างอาจเสี่ยงป่วยเป็นโรค Bulimia ได้ เช่น ความเครียด โรควิตกกังวล หรือเป็นผู้ที่มีความพึงพอใจในตนเองต่ำ เป็นต้น นอกจากนี้ การเผชิญสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียดหรือส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจก็อาจเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การป่วยโรคนี้ได้เช่นกัน เช่น การถูกคุกคามทางเพศ เป็นต้น
  • ค่านิยมตามสื่อต่าง ๆ สื่อโทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต และนิตยสารแฟชั่นที่มีภาพประกอบเป็นนางแบบหรือดาราหุ่นผอมเพรียว อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนเสี่ยงเป็นโรคล้วงคอ เนื่องจากสื่อเหล่านี้มักนำเสนอภาพลักษณ์ของผู้ที่มีรูปร่างผอมพร้อมกับความสำเร็จและชื่อเสียง
  • อาชีพ นักกีฬา นักแสดง นักเต้น และนางแบบ เป็นกลุ่มอาชีพที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคนี้ เนื่องจากผู้ฝึกสอนหรือผู้ปกครองอาจคอยกระตุ้นให้ลดน้ำหนัก หรือจำกัดปริมาณการรับประทานอาหารเพื่อสมรรถภาพร่างกายที่ดีขึ้น

ภาวะแทรกซ้อนของโรคบูลิเมีย

  • การทำให้ตนเองอาเจียนบ่อยๆ สามารถส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายดังนี้
  • กรดจากกระเพาะอาหารทำให้เกิดการอักเสบของกระเพาะอาหารและหลอดอาหาร
  • ฟันผุ ฟันเปลี่ยนสี มีเหงือกอักเสบและมีกลิ่นปาก เนื่องมาจากกรดของกระเพาะอาหาร
  • ใบหน้าดูเหมือนบวมฉุจากการที่ต่อมน้ำลายบวม
  • ไตอาจเสียหาย มีนิ่วไต จากการสูญเสียน้ำมากเกินไป
  • การทำงานของหัวใจผิดปกติ ใจสั่น จากการเสียสมดุลของเกลือแร่
  • ผิวหนังแห้ง ผมร่วง
  • ถ้าผู้ป่วยใช้ยาระบายเป็นประจำ อาจทำให้กล้ามเนื้อลำไส้เสียหายได้

การวินิจฉัยโรคบูลิเมีย มีวิธีการอย่างไร

แพทย์อาจเริ่มวินิจฉัยโรคบูลิเมียด้วยการซักประวัติและสอบถามอาการที่มี โดยแพทย์อาจถามคำถามต่อไปนี้เพื่อพิจารณาว่าคุณเข้าเกณฑ์ที่จะเป็นโรคบูลิเมียหรือไม่

  • มีอาการกินไม่หยุดเกิดขึ้นกับตัวเองเป็นช่วง ๆ หรือไม่
  • รู้สึกความคุมตัวเองไม่ได้ขณะที่กินไม่หยุดหรือไม่
  • เคยทำพฤติกรรมใด ๆ เพื่อกำจัดอาหารออกหรือไม่ (ล้วงคอตัวเองเพื่ออาเจียน หรือใช้ยาระบายโดยไม่จำเป็น)
  • ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เคยมีอาการกินไม่หยุดหรือไม่
  • เคยพยายามลดน้ำหนักด้วยการทานยาลดความอ้วนหรือยาชนิดอื่นหรือไม่
  • หมกมุ่นเรื่องการรับประทานอาหาร และรูปร่างของตนเองหรือไม่
  • คนในครอบครัวเคยมีอาการหรือเคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเกี่ยวกับปัญหาการกินหรือไม่

นอกจากถามคำถามข้างต้นแล้ว แพทย์อาจสั่งให้ตรวจเลือด ตรวจการทำงานของไต ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือตรวจปัสสาวะเพื่อตรวจหาผลกระทบที่เกิดจากโรคบูลิเมีย

ทั้งนี้ ระดับความรุนแรงของโรค Bulimia ขึ้นอยู่กับความถี่ของการกำจัดอาหารในแต่ละสัปดาห์ ซึ่งมีการจัดระดับความรุนแรงของโรค ดังนี้

  • ระดับไม่รุนแรง:         1-3 ครั้ง/สัปดาห์
  • ระดับปานกลาง:     4-7 ครั้ง/สัปดาห์
  • ระดับรุนแรง:         8-13 ครั้ง/สัปดาห์
  • ระดับรุนแรงมาก:     มากกว่า 13 ครั้ง/สัปดาห์

กรณีที่ป่วยด้วยโรคล้วงคอเป็นเวลานาน ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เนื่องจากอาการของโรคอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้

การรักษาโรคบูลิเมีย

ผู้ที่ป่วยเป็นโรคบูลิเมียอาจถูกส่งไปรักษากับทีมสหวิชาชีพที่ประกอบไปด้วย นักกำหนดอาหาร และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชศาสตร์ โดยแนวทางในการรักษาโรคบูลิเมียอาจใช้หลากหลายวิธีร่วมกัน ได้แก่

1.จิตบำบัด การบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy หรือ CBT) อาจช่วยให้ผู้ป่วยมีทัศนคติที่ดีต่ออัตลักษณ์ของตนเอง และปรับตัวเรื่องการรับประทานอาหาร และมีน้ำหนักตัวที่เหมาะสม

2.การปรึกษาทางด้านโภชนาการ นักกำหนดอาหารหรือผู้ให้คำปรึกษาจะช่วยแนะนำวิธีรับประทานอาหารให้เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้น

3.ยา ยาต้านเศร้ากลุ่มเอสเอสอาร์ไอ (Selective Serotonin Reuptake Inhibitors) เป็นยาต้านอาการซึมเศร้าที่ช่วยลดอาการของโรคได้

4.การเข้ากลุ่มจิตบำบัด วิธีนี้จะมีประโยชน์เมื่อใช้ร่วมกับการรักษาวิธีอื่น โดยจะให้ผู้ที่เป็นโรคบูลิเมียและสมาชิกในครอบครัวพูดถึงเรื่องราวของตัวเองให้แต่ละคนในกลุ่มฟัง

วิธีป้องกันโรคบูลิเมีย 

ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคบูลิเมียนั้นจะลดลงเมื่อรักษาอาการซึมเศร้าหรือวิตกกังวล นอกจากนี้ คนรอบข้าง ผู้ปกครองหรือครูอาจช่วยปรับทัศนคติว่ารูปร่างผอมแห้งที่สื่อนำเสนอนั้นไม่ใช่รูปร่างที่ควรมี เป็นรูปร่างที่ไม่ดีต่อสุขภาพ

เมื่อเป็นโรคบูลิเมีย ควรดูแลตัวเองที่บ้านอย่างไร

  • ให้กำลังใจตัวเองในการปฏิบัติตามแผนการรักษา และหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคบูลิเมีย
  • รับประทานอาหารตามที่ร่างกายควรได้รับ
  • อย่าเมินเฉยต่อคนในครอบครัวหรือเพื่อนที่คอยช่วยเหลือ 
  • อย่าเข้มงวดกับตัวเองมากเกินไปเรื่องน้ำหนัก
  • ระวังเรื่องการออกกำลังกาย


แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– โรงพยาบาลMedpark
– web pobpad
– โรงพยาบาลกระบี่
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM

แชร์

สินค้าที่เกี่ยวข้อง

No results found.

ยังไม่มีบัญชี