สุขภาพ “ลิ้น”บอกโรค

ลิ้น บอกอะไรได้มากกว่าแค่การรับรส ลักษณะของลิ้นที่ปกติ สุขภาพดี เป็นสีชมพู บริเวณด้านหน้าเป็นกลุ่มเซลล์รับรสขนาดเล็ก ลักษณะเหมือนกำมะหยี่ ด้านหลังบริเวณโคนลิ้นจะเป็นกลุ่มเซลล์ที่มีขนาดใหญ่ มองเห็นเป็นลักษณะกลมคล้ายหัวไม้ขีด

การสังเกตสีลิ้นอาจช่วยบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นกับร่างกาย โดยสีลิ้นอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่สาเหตุของอาการ เช่น การสูบบุหรี่ สุขอนามัยภายในช่องปากไม่ดี การติดเชื้อภายในช่องปาก นอกจากนี้ การสังเกตสีลิ้นอาจบ่งบอกถึงสัญญาณของอาการที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต เช่น ภาวะขาดแคลนออกซิเจนในเลือด

ลิ้นเป็นหนึ่งในอวัยวะภายในช่องปากที่สำคัญของร่างกาย ทำให้เราสามารถรับรสชาติหรือพูดให้ชัดถ้อยชัดคำได้ แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า ลิ้นสามารถบ่งบอกถึงสภาวะสุขภาพบางอย่างของคุณได้อีกด้วย วันนี้เราจะพามาดูกันว่า ลิ้นแบบไหน บอกโรคอะไรได้บ้าง

1. ลิ้นสีขาว

สีลิ้นอาจเปลี่ยนเป็นสีขาวทั่วทั้งลิ้น เป็นเส้น หรือเป็นฝ้าสีขาวบนลิ้น โดยส่วนใหญ่แล้ว ลิ้นเป็นฝ้าสีขาวมักเป็นอาการของการมีแบคทีเรีย คราบอาหาร หรือเซลล์ที่ตายแล้วเกาะอยู่บนลิ้น นอกจากนี้ ลิ้นสีขาวอาจเป็นสัญญาณของโรคบางอย่าง เช่น การติดเชื้อราในปาก โรคไลเคน พลานัสในปาก ซิฟิลิส ไข้ไทฟอยด์ และกรดไหลย้อน 

ทั้งนี้ หากลิ้นมีสีขาวอาจเป็นรอยโรคฝ้าขาว (Leukoplakia) ซึ่งนอกจากจะเกิดจากการระคายเคืองที่ลิ้นแล้ว ยังอาจเป็นสัญญาณก่อนเกิดโรคมะเร็งอีกด้วย

2. ลิ้นสีเหลือง

คราบสีเหลืองบนลิ้นมักเกิดจากการเพิ่มขึ้นของแบคทีเรีย เนื่องจากการไม่ดูแลรักษาความสะอาดภายในช่องปากหรือการสูบบุหรี่ นอกจากนี้ ลิ้นสีเหลืองอาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น ปากแห้ง โรคสะเก็ดเงิน ดีซ่าน และการใช้ยาบางชนิด เช่น ธาตุเหล็ก ยาคุมกำเนิด ยาที่ใช้ในการทำเคมีบำบัด โดยสาเหตุเหล่านี้อาจทำให้สีลิ้นเปลี่ยนเป็นสีอื่นนอกจากสีเหลือง เช่น ลิ้นสีส้ม ลิ้นสีเขียว

3. ลิ้นสีแดง

หากสีลิ้นเปลี่ยนเป็นสีแดงหรือมีคราบสีแดงปรากฏขึ้นบนลิ้น อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงอาการขาดวิตามินบี หรืออาการของลิ้นลายแผนที่ อย่างไรก็ตาม หากมีลิ้นสีแดงร่วมกับอาการบวม ลิ้นเป็นปุ่มขรุขระ อาจเป็นสัญญาณของอาการที่อาจเป็นอันตราย เช่น การแพ้อาหารหรือแพ้ยา ไข้อีดำอีแดง มะเร็งลิ้น และโรคคาวาซากิ 

4. ลิ้นสีดำ

ลิ้นสีดำเป็นสีลิ้นที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยสาเหตุอาจเกิดจากการมีสุขอนามัยภายในช่องปากไม่ดี การสูบบุหรี่ การฉายรังสี และยาบางชนิด เช่น ยาบิสมัท ซับซาลิไซเลต (Bismuth Subsalicylate) ยาด็อกซีไซคลิน (Doxycycline) ยาเพนิซิลลิน (Penicillin)

โดยผู้ที่มีลิ้นสีดำมักมีขนเกิดขึ้นบนลิ้นร่วมด้วย โดยลิ้นเป็นขนอาจเกิดจากการสะสมตัวของคราบอาหารและคราบเคราตินบนลิ้น โดยเคราตินเป็นโปรตีนที่พบได้ในผม ผิวหนัง และเล็บ ซึ่งอาจส่งผลให้ลิ้นเป็นขนและมีสีดำ

5. ลิ้นสีเทา

ลิ้นสีเทาอาจเป็นสัญญาณของปัญหาเกี่ยวกับการย่อยอาหาร แผลในกระเพาะอาหาร หรือโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Eczema) นอกจากนี้ ลิ้นสีเทาอาจเกิดขึ้นในผู้ที่มีลิ้นลายแผนที่ โดยคราบสีเทาหรือสีขาวอาจปรากฏขึ้นบริเวณขอบของรอยหรือจุดแดงบนลิ้นได้

6. ลิ้นสีม่วง

ลิ้นสีม่วงเป็นสีลิ้นที่พบได้น้อย โดยคราบสีม่วงบนลิ้นอาจเป็นอาการบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น ร่างกายขาดวิตามินบี 2 การไหลเวียนเลือดไม่ดี โรคหัวใจ และโรคคาวาซากิ

7. ลิ้นสีน้ำเงิน

หากสีลิ้นเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน อาจเป็นอาการของการมีออกซิเจนภายในเลือดต่ำ โดยอาการนี้อาจส่งผลให้เล็บ ผิวหนัง ริมฝีปาก หรือลิ้นเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น การสำลักอาหาร โรคหัวใจ โรคปอด โรคทางเดินหายใจ 

ทั้งนี้ หากมีลิ้นสีน้ำเงินเกิดขึ้น ร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น ไอ มึนศีรษะ เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันทีเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อชีวิต

8.ลิ้นบวม

หากลิ้นใหญ่ขึ้นหรือบวมโดยไม่ทราบสาเหตุ อาจเป็นโรคไทรอยด์ชนิดขาดฮอร์โมนไทรอยด์ เกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถผลิตฮอร์โมนได้เพียงพอ ทำให้ระบบเผาผลาญทำงานลดลงทำจนให้รู้สึกอ่อนเพลียได้

9.ลิ้นแตก 

หากลิ้นเริ่มมีรอยแตก โดยที่ไม่มีเลือดไหลออกมา อย่าเพิ่งวิตกกังวลเพราะนั่นเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ตามวัย ควรใส่ใจสุขภาพช่องปากให้มากขึ้น เพราะเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรียอาจเข้าไปอยู่ตามรอยแตกของลิ้นได้ ควรแปรงฟันและลิ้นให้สะอาด

10.ลิ้นเป็นฝ้า

เป็นเรื่องใกล้ตัวที่หลายคนเป็นกังวลอยู่บ่อยๆ ซึ่งฝ้าที่ขึ้นบนลิ้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น มาจากเชื้อราในช่องปาก มักจะเกิดกับเด็กทารก ผู้สูงอายุ และผู้ที่ต้องใช้อุปกรณ์ทางทันตกรรม ไม่ว่าจะเป็นฟันปลอม หรืออุปกรณ์จัดฟัน สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการใช้ยาและน้ำยาบ้วนปาก

11.ลิ้นเลี่ยน (ลิ้นเรียบผิดปกติ)

โดยปกติแล้วลิ้นของคนเราจะมีลักษณะตะปุ่มตะป่ำเพราะมีตุ่มรับรสกระจายอยู่ทั่ว แต่หากลิ้นเริ่มมีลักษณะเรียบผิดปกติ หรือที่เรียกว่าลิ้นเลี่ยน อาจแปลว่าเกิดภาวะร่างกายขาดธาตุเหล็ก วิตามินบี 12 กรดโฟลิก ทำให้เกิดการอักเสบจนตุ่มรับรสตายและหลุดลอกไปจนผิวลิ้นเรียบ นอกจากนี้อาจมีอาการแสบร้อนที่ลิ้นขณะรับประทานอาหารที่เป็นกรด หรือมีรสชาติเค็ม

วิธีการดูแลตนเองเมื่อสีลิ้นเปลี่ยนไป

สาเหตุส่วนใหญ่ที่อาจส่งผลให้สีลิ้นเปลี่ยนไปมักเกิดจากการมีสุขอนามัยภายในช่องปากที่ไม่ดี ดังนั้น การรักษาความสะอาดภายในช่องปากอาจช่วยให้สีลิ้นกลับมาเป็นปกติได้ โดยวิธีการดูแลช่องปากให้สะอาดสามารถทำได้หลายวิธี เช่น

  • ใช้แปรงสีฟันทำความสะอาดลิ้นทุกวัน โดยเริ่มจากการแลบลิ้น และใช้แปรงทำความสะอาดให้ทั่วลิ้นจากด้านในออกสู่ด้านนอก การแปรงลิ้นอาจช่วยให้คราบอาหารและคราบแบคทีเรียที่เกาะอยู่หลุดออกจากลิ้นได้
  • แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และใช้น้ำยาบ้วนปากที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์วันละ 1 ครั้ง
  • ใช้ไหมขัดฟันเพื่อทำความสะอาดตามซอกฟันวันละ 1 ครั้ง
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่หรือการใช้ยาสูบ
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
  • ไปพบทันตแพทย์ทุก ๆ 6 เดือนเพื่อตรวจฟัน และตรวจปัญหาอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นภายในช่องปาก

ทั้งนี้ ควรปรึกษาแพทย์หากสีลิ้นยังคงไม่กลับมาเป็นสีปกติหลังจากการดูแลสุขอนามัยภายในช่องปาก หรือลิ้นมีขนาดหรือรูปร่างที่เปลี่ยนแปลงไป โดยแพทย์อาจวินิจฉัยหาสาเหตุและรักษาตามความเหมาะสมต่อไป


แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย
– โรงพยาบาลบางปะกอก
– web Pobpad
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM

แชร์

สินค้าที่เกี่ยวข้อง

No results found.

ยังไม่มีบัญชี