ต่อมลูกหมากอักเสบ (prostatitis) 

โรคต่อมลูกหมากอักเสบ (prostatitis) เป็นการอักเสบหรือติดเชื้อของต่อมลูกหมากซึ่งเป็นอวัยวะที่อยู่บริเวณใต้กระเพาะปัสสาวะทำหน้าที่สร้างสารที่เป็นของเหลวประมาณ 30% ของน้ำอสุจิ โรคนี้พบได้ในผู้ชายทุกกลุ่มอายุแต่จะพบบ่อยในผู้ชายอายุประมาณ 50 ปีหรือน้อยกว่า

ต่อมลูกหมากอักเสบจะทำให้เกิดอาการปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะขัด บางครั้งมีอาการปวดเอว ปวดหลัง และปวดตึงบริเวณท้องน้อยร่วมด้วย บางรายรุนแรงจนปัสสาวะไม่ออก กรณีที่มีอาการอักเสบเฉียบพลัน จะมีอาการไข้หนาวสั่นร่วมด้วย

ชนิดของต่อมลูกหมากอักเสบ

1.ต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อเฉียบพลัน (acute bacterial prostatitis) เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียในต่อมลูกหมาก อาการของผู้ป่วยมักเฉียบพลัน และอาจรุนแรง โดยมีอาการไข้ บางรายอาจมีอาการหนาวสั่น ร่วมกับอาการผิดปกติในการปัสสาวะ เนื่องจากต่อมลูกหมากบวมขึ้นจนไปกดเบียดท่อปัสสาวะให้แคบลง เช่น ปัสสาวะบ่อย รู้สึกแสบขัด ปัสสาวะไม่สุด ปัสสาวะไม่พุ่งหรือต้องใช้เวลาในการเบ่ง  ปัสสาวะขุ่นหรือมีเลือดปน ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีอาการปัสสาวะไม่ออกฉับพลัน หรือ มีการติดเชื้อในกระแสเลือดร่วมด้วย

2.ต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อเรื้อรัง (chronic bacterial prostatitis) เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียในต่อมลูกหมาก แต่อาการไม่รุนแรงเท่าชนิดเฉียบพลัน มักมีอาการเป็นๆหายๆ มากกว่า 3 เดือนขึ้นไป ลักษณะที่พบบ่อยคือ มีประวัติการอักเสบติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะเป็นๆหายๆ และอาจมีกลุ่มอาการปวดในอุ้งเชิงกรานร่วมด้วย

3.ต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรัง (chronic prostatitis / chronic pelvic pain syndrome) เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด ปัจจุบันยังไม่สรุปแน่ชัดถึงกลไกการเกิด การอักเสบชนิดนี้ในต่อมลูกหมาก ผู้ป่วยมักมีอาการปวดเรื้อรังในอุ้งเชิงกรานเป็นหลัก ความปวดอาจเด่นชัดที่ ท้องน้อย ถุงอัณฑะ บริเวณฝีเย็บไปถึงทวารหนัก หรือ อวัยวะเพศ นอกจากนี้ยังพบว่า อาจมีความปวดตามหลังการหลั่งน้ำอสุจิ โดยผู้ป่วยอาจมีอาการผิดปกติในการปัสสาวะร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้

4.ต่อมลูกหมากอักเสบชนิดไม่มีอาการ (asymptomatic inflammatory prostatitis) เป็นการตรวจพบการอักเสบจากการตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา ซึ่งได้การเจาะชิ้นเนื้อต่อมลูกหมาก การผ่าตัดรักษาต่อมลูกหมากโต หรือการผ่าตัดรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก แต่พบเซลล์การอักเสบในชิ้นเนื้อที่ส่งตรวจ โดยผู้ป่วยไม่มีอาการของการอักเสบที่ต่อมลูกหมากมาก่อน ข้อมูลทางการศึกษา ณ ปัจจุบัน เชื่อว่าไม่มีความจำเป็นต้องให้การรักษา

สาเหตุของต่อมลูกหมากอักเสบ

การอักเสบของต่อมลูกหมากแต่ละชนิดอาจมีสาเหตุที่ต่างกัน โดยการอักเสบชนิดเฉียบพลันอาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรียเล็ดลอดเข้าไปยังต่อมลูกหมากผ่านทางท่อปัสสาวะ ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อบริเวณดังกล่าว แต่การอักเสบชนิดเรื้อรังยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด เพียงแต่คาดว่าเกิดจากการกลับมาติดเชื้อซ้ำเนื่องจากปัจจัยบางอย่าง

นอกจากนี้ปัจจัยบางประการก็อาจเพิ่มความเสี่ยงของภาวะดังกล่าว เช่น 

  • มีอายุระหว่าง 30 – 50 ปี
  • มีประวัติเคยเป็นต่อมลูกหมากอักเสบมาก่อน
  • เคยเข้ารับการตรวจชิ้นเนื้อบริเวณต่อมลูกหมาก
  • มีโรคประจำตัวหรือประวัติการเจ็บป่วยเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะอักเสบ ภาวะท่อปัสสาวะผิดรูป เข้ารับการรักษาด้วยการสวนท่อปัสสาวะ โรคลำไส้แปรปรวน ภาวะขาดน้ำ โรคทางเพศสัมพันธ์ มีเชื้อ HIV หรือเป็นโรคเอดส์
  • เคยบาดเจ็บบริเวณท้องน้อยที่อาจเกิดจากอุบัติเหตุ การทำกิจกรรมอย่างการปั่นจักรยานหรือขี่ม้า
  • ถูกทารุณทางเพศ
  • มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก

การวินิจฉัยภาวะต่อมลูกหมากอักเสบ

ในเบื้องต้นแพทย์จะซักอาการและประวัติการเจ็บป่วย ตรวจร่างกายและตรวจทวารหนัก (Digital Rectal Examination) จากนั้นแพทย์อาจตรวจด้วยขั้นตอนอื่น เช่น

  • ตรวจปัสสาวะ เพื่อหาร่องรอยของการติดเชื้อจากตัวอย่างปัสสาวะของผู้ป่วย
  • ตรวจเลือด เพื่อหาสัญญาณการติดเชื้อของร่างกาย และอาจช่วยให้พบสาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดอาการ
  • แสดงภาพภายในระบบทางเดินปัสสาวะและต่อมลูกหมากด้วยการใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือการอัลตราซาวด์ที่เป้นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงในการแสดงภาพ

ภาวะแทรกซ้อนของต่อมลูกหมากอักเสบ

การติดเชื้อและการอักเสบอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น หนองบริเวณต่อมลูกหมาก , ท่อนำอสุจิอักเสบ , ติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ นอกจากนี้สมรรถภาพทางเพศที่ลดลงเนื่องจากการอักเสบชนิดเรื้อรังอาจส่งผลต่อการมีเพศสัมพันธ์และชีวิตคู่ ในระยะยาวอาจส่งผลให้เกิดภาวะมีลูกยากได้ด้วย

การป้องกันต่อมลูกหมากอักเสบ

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันการอักเสบของต่อมลูกหมากอักเสบได้เต็มประสิทธิภาพ แต่อาจลดความเสี่ยงได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้ดีต่อสุขภาพมากขึ้น เช่น 

  • ดูแลสุขอนามัยของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณอวัยวะเพศ
  • สวมถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันการได้รับเชื้อแบคทีเรียหรือโรคทางเพศสัมพันธ์
  • รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติอยู่เสมอ 
  • ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม รวมถึงจำกัดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และคาเฟอีน 
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ 
  • ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม 
  • หากพบความผิดปกติใดๆ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง 

การรักษาต่อมลูกหมากอักเสบ 

การใช้ยาปฏิชีวนะ  ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อที่ตรวจพบและอาการของผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วยมีไข้สูง อาจพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ แล้วเปลี่ยนเป็นชนิดรับประทานเมื่ออาการดีขึ้น สำหรับต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อชนิดเฉียบพลัน  มักให้การรักษา 2-4 สัปดาห์  สำหรับต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อชนิดเรื้อรัง มักให้การรักษา 4-6 สัปดาห์  หรืออาจนานถึง 12 สัปดาห์

การรักษาต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรัง  (chronic prostatitis / chronic pelvic pain syndrome) ยังเป็นหนึ่งในสิ่งที่ยากมากที่สุดในปัญหาระบบทางเดินปัสสาวะ   เพราะกลไกการเกิดไม่แน่ชัด เนื่องจากการอักเสบชนิดนี้ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ  ณ ปัจจุบันที่ผู้ป่วยมีอาการ จึงยังเป็นที่ถกเถียงถึงความจำเป็น ในการใช้ยาปฏิชีวนะในผู้ป่วยกลุ่มนี้  คำแนะนำที่เป็นมาตรฐาน คือ ใช้การประเมินรูปแบบที่เด่นชัดตามกลุ่มอาการ เรียกว่าระบบ UPOINTs ที่แยกเป็น 7 กลุ่มอาการ  แล้วรักษาตามกลุ่มอาการนั้น


แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
– โรงพยาบาลบางปะกอก
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM

แชร์

สินค้าที่เกี่ยวข้อง

No results found.

ยังไม่มีบัญชี