ซิฟิลิส (Syphilis) คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STIs) ผ่านการสัมผัสกับสารคัดหลั่งที่ทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียทรีโพนีมา พาลลิดัม (Treponema pallidum) สาเหตุที่ทำให้เป็นแผลซิฟิลิส หรือแผลริมแข็ง (Chancre) ขึ้นเป็นตุ่มนูนแตกออกเป็นแผลกว้างที่ปาก อวัยวะเพศ หรือทวารหนัก โรคซิฟิลิสที่ไม่ได้รับการรักษาให้หายตั้งแต่ระยะเป็นแผลจะพัฒนาเข้าสู่ระยะออกดอก และระยะติดเชื้อที่ทำลายระบบประสาท ระบบหลอดเลือดและหัวใจ และทำให้เสียชีวิตได้ในที่สุด ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษา
สาเหตุของโรคซิฟิลิส
เบื้องต้น โรคซิฟิลิสเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า ทริปโปนีมา พัลลิดุม สามารถแพร่เชื้อได้ผ่านการสัมผัสผู้ที่มีเชื้อ เช่น การจูบ, การสัมผัสแผล, การมีเพศสัมพันธ์, การรับเลือดมาจากผู้ติดเชื้อ และการสัมผัสเข็มที่ติดเชื้อ เป็นต้น นอกจากจะมีการติดต่อจากคนสู่คนแล้ว ยังสามารถติดต่อจากสตรีมีครรภ์ แล้วส่งต่อไปถึงลูกน้อยในครรภ์ได้อีกด้วย
โรคซิฟิลิส อาการเป็นอย่างไร
ระยะของโรคซิฟิลิส
โรคซิฟิลิส จะมีระยะการฟักตัวอยู่ที่ 2-4 สัปดาห์ และอาจนานถึง 3 เดือน โดยโรคนี้สามารถแบ่งออกได้เป็นอีก 4 ระยะ ดังนี้
- ระยะที่ 1
ผู้ป่วยจะมีแผลเล็กที่เรียกว่าแผลริมแข็งตรงจุดที่เกิดการติดเชื้อ โดยเฉพาะบริเวณอวัยวะเพศ ซึ่งผู้ป่วยบางคน อาจจะไม่ทันได้สังเกตอาการของตนเอง และไม่รู้ตัวว่ามีแผลเกิดขึ้น เพราะแผลจะไม่มีอาการปวด ซึ่งระยะนี้จะเกิดแผลหลังจากรับเชื้อไปแล้วไม่เกิน 2 เดือน และหายไปเองภายใน 6 สัปดาห์
- ระยะที่ 2
อาการจะพัฒนาจากระยะที่ 1 ในเวลาไม่เกิน 3 เดือน โดยจะแสดงอาการขึ้นมา เช่น เกิดตุ่มขึ้นตามตัว, น้ำหนักลดลง, ต่อมน้ำเหลืองมีอาการบวม และผมร่วง เป็นต้น แต่เช่นเดียวกับระยะที่ 1 อาการเหล่านี้จะสามารถหายได้เองเช่นกัน
- ระยะแฝง
เป็นระยะที่ผู้ป่วยแทบจะไม่แสดงอาการใด ๆ ว่าติดเชื้อซิฟิลิส แต่ยังคงมีเชื้ออยู่ในร่างกาย ก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่ซิฟิลิสระยะสุดท้าย ซึ่งอาจจะเป็นระยะที่มีการแพร่เชื้อมากที่สุดอาจเป็นได้
ระยะที่ 3
หากมาถึงระยะนี้ และไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง จะส่งผลข้างเคียงอย่างรุนแรง เช่น มีผลต่อระบบประสาท, หัวใจ, สมอง, อัมพาต, กระดูก และข้อต่อ หรืออาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

คำถามโรคซิฟิลิสที่พบบ่อย
1.ซิฟิลิสในทารกแรกเกิดรักษาหายไหม
คำตอบ : เนื่องจากซิฟิลิสเป็นโรคติดเชื้อ หากตอบสนองต่อการให้ยาฆ่าเชื้อก็สามารถหายเป็นปกติได้
2.โรคซิฟิลิสกับเอดส์เหมือนกันไหม
คำตอบ : ไม่เหมือนกัน โรคซิฟิลิสจะต่างกับโรคเอดส์ (HIV) คือสามารถรักษาให้หายขาดได้หากพบในระยะแรกๆ
3.ซิฟิลิสติดทางน้ำลายไหม
คำตอบ : ซิฟิลิสติดต่อทางน้ําลายได้ เพราะเชื้อแบคทีเรียนี้จะอยู่ในเลือดและสารคัดหลั่งต่าง ๆ จากร่างกาย รวมถึงในน้ำลายด้วย
4.โรคซิฟิลิสรักษานานไหม
คำตอบ : ซิฟิลิสใช้เวลารักษาประมาณ 1 – 3 สัปดาห์ ขึ้นกับระยะของโรคที่เป็น และจะต้องตรวจติดตามหลังจากรักษาไปแล้วจนครบ2ปี
5.เป็นซิฟิลิสแล้ว กลับมาเป็นซ้ำได้ไหม
คำตอบ : เป็นซ้ำได้ หากมีพฤติกรรมเสี่ยงอีกครั้งหรือได้รับเชื้อมาเพิ่ม
6.ตุ่มซิฟิลิสสังเกตยังไง
คำตอบ : ลักษณะรอยโรคจะเป็นตุ่มแผล สีแดงขอบนูนแข็ง ไม่เจ็บ อาจมีแผลเดียวหรือหลายแผลขึ้นที่บริเวณอวัยวะเพศ ปาก ทวารหนัก ท่อปัสสาวะ เยื่อบุตา
7.โรคซิฟิลิส หายเองได้ไหม
คำตอบ : ไม่ได้ หากไม่รักษาโรคก็จะลุกลามไปทำลายอวัยวะอื่นๆ ทำให้พิการและอาจเสียชีวิตได้
8.ซิฟิลิสส่งผลต่อการตั้งครรภ์หรือไม่
คำตอบ : ซิฟิลิสสามารถส่งผลกระทบต่อครรภ์มารดาคือ เพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้ง การคลอดก่อนกำหนดและการเสียชีวิตระหว่างตั้งครรภ์
ส่วนผลต่อทารกในครรภ์ ได้แก่ ทารกอาจเกิดมาพร้อมกับความผิดปกติ เช่น ผื่นที่ผิวหนัง ภาวะบวมน้ำ ความผิดปกติของกระดูก หูหนวก หรือการมองเห็นบกพร่อง หากไม่ได้รับการรักษา ทารกอาจเสียชีวิตในครรภ์หรือหลังคลอด
9.ซิฟิลิสถ้าปล่อยไว้จะเกิดอะไรขึ้น
คำตอบ : หากซิฟิลิสไม่ได้รับการรักษา เชื้อแบคทีเรียจะคงอยู่ในร่างกายและลุกลามผ่านระยะต่าง ๆ ซึ่งสามารถสร้างความเสียหายต่อสุขภาพอย่างรุนแรง สร้างความเสียหายร้ายแรงต่ออวัยวะสำคัญ เช่น สมอง หัวใจ หลอดเลือด และกระดูก อาจเกิดภาวะสมองเสื่อม อัมพาต หัวใจล้มเหลว หรือถึงขั้นเสียชีวิต
นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังมีโอกาสแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นและในกรณีหญิงตั้งครรภ์ เชื้ออาจส่งผ่านไปยังทารกในครรภ์ได้
การป้องกันโรคซิฟิลิส
- ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
- ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีแผลบริเวณอวัยวะเพศ
- สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งขณะมีเพศสัมพันธ์
- หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา และการใช้ยาเสพติด
- เข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
การตระหนักถึงโรคร้าย และการป้องกันตัวเองจากโรคเหล่านั้น ที่ติดมากับเพศสัมพันธ์ ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเมื่อป่วยแล้ว จะไม่สามารถย้อนเวลากลับไปให้ร่างกายเป็นปกติได้ เมื่อพบตนเองมีอาการน่าสงสัยว่าจะเป็นโรคดังกล่าว ควรเข้าพบแพทย์ เพื่อรักษาโรคอย่างทันท่วงที และรับคำแนะนำในการป้องกันตนเอง ก่อนที่จะสายเกินแก้
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– โรงพยาบาลเพชรเวช
– โรงพยาบาล medpark
– web intouchmedicare
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM