โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STIs) เป็นปัญหาสุขภาพที่อันตราย เมื่อมีอาการระคายเคืองท่อปัสสาวะ ปัสสาวะแสบขัดมักเป็นจุดเริ่มต้นที่หลายคนสงสัยว่าเป็นหนองในหรือไม่ แต่ในขณะเดียวกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ยังมีอีกหนึ่งโรคที่คล้ายคลึงกับหนองในเป็นอย่างมาก นั่นคือโรคหนองในเทียม โรคนี้อาการมักไม่รุนแรงจึงสังเกตยาก แต่สามารถนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้หากละเลยการรักษา โรคหนองในเป็นโรคที่ติดต่อได้จากการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ได้ป้องกัน และสามารถเกิดได้ทั้งเพศหญิงและชาย
โรคหนองในมี 2 ประเภท คือ โรคหนองในแท้ และ หนองในเทียม
หนองในหรือ หนองในแท้ หรือ Gonorrhea เป็นการอักเสบในท่อปัสสาวะอย่างหนึ่ง มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียนชื่อ Neisseria gonorrhoeae และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธุ์ (STIs) ซึ่งน่าจะเป็นชื่อที่คุ้นหูมากที่สุด
อาการหนองในแท้ในผู้หญิงและผู้ชาย จะมีอาการแตกต่างกัน โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- ในผู้ป่วยชาย มักมีอาการปัสสาวะแสบขัด และมีหนองไหล เป็นมูกขุ่นออกจากท่อปัสสาวะ
- ในผู้ป่วยหญิง มักมีอาการตกขาวผิดปกติเป็นหนองหรือมูกปนหนองไหลออกจากช่องคลอด ปัสสาวะแสบขัด แต่ส่วนใหญ่ 30 – 40% ของผู้ป่วยโรคหนองในแท้ไม่มีอาการผิดปกติ
หนองในเทียม หรือ Non-gonococcal urethritis (NGU) เป็นการอักเสบในท่อปัสสาวะ และเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STIs) เช่นเดียวกันกับหนองในแท้ มีอาการคล้ายคลึงกัน แต่หนองในเทียมมีสาเหตุมาจากแบคทีเรียชนิดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ Neisseria gonorrhoeae ที่เป็นสาเหตุหลักของหนองใน
อาการหนองในเทียมในผู้หญิงและผู้ชายจะมีอาการ ดังนี้
- ในผู้ป่วยชาย มักมีอาการปัสสาวะแสบขัด อวัยวะเพศปวดบวมแดง และมีน้ำหนองเป็นมูกใสไหลออกมาจากท่อปัสสาวะ
- ในผู้ป่วยหญิง จะมีตกขาวเป็นมูกใสผสมกับหนอง มีกลิ่นเหม็น ปัสสาวะแสบขัด และอาจมีเลือดออกกระปริบกระปรอยร่วมด้วย
ซึ่งชนิดของเชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อยที่เป็นสาเหตุของโรคหนองในเทียมคือแบคทีเรีย Chlamydia trachomatis และอาจจะพบได้จากเชื้ออื่นๆ เช่นเดียวกัน เช่น Ureaplasma parvum, Mycoplasma genitalium, Trichomonas vaginalis หรือ เชื้อไวรัส เช่น herpes simplex virus เป็นต้น
วิธีป้องกันโรคหนองใน
- สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะมีเพศสัมพันธ์ช่องทางใดก็ตาม
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วยหนองใน ไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน
- หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดโรคหนองใน และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีอาการผิดปกติ เช่น ปัสสาวะแสบขัด มีผื่นขึ้นที่อวัยวะเพศ มีหนองไหลออกจากอวัยวะเพศ
- ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เปลี่ยนคู่นอนบ่อย หรือคู่นอนป่วยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรเข้ารับการตรวจโรคหนองในแท้เป็นประจำทุกปี
- ใช้ Dental Dam หรือแผ่นยางอนามัยสำหรับการร่วมเพศทางปาก (oral sex)
- งดใช้ของเล่นทางเพศร่วมกับคนอื่น
จะเห็นได้ว่า อาการของโรคหนองในแท้และหนองในเทียมนั้นคล้ายกันมาก แต่หนองในทั้ง 2 แบบมีวิธีการรักษาต่างกัน ยาปฏิชีวนะที่ใช้ก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้น หากมีอาการของโรคหนองในชนิดใดก็ตามก็ไม่ควรซื้อยากินเอง ควรได้รับการตรวจยืนยันเชื้อจากแพทย์ เพื่อจะได้รับการรักษาและใช้ยาได้ถูกโรค และป้องกันโรคแทรกซ้อนและอันตรายจากการใช้ยาผิดที่จะตามมาอีกด้วย
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– โรงพยาบาลกรุงเทพ
– www.fascino.co.th
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM