บุคลิกภาพแบบหลงตัวเอง (Narcissistic Personality Disorder)

คุณเคยเจอหรือเคยได้ยินปรากฏการณ์ที่เมื่ออยู่กับคน ๆ หนึ่งแล้วรู้สึกแย่อย่างบอกไม่ถูก ในบางครั้งคุณอาจจะเกิดความรู้สึกผิดต่อเขาขึ้นมาอย่างไม่แน่ใจว่าตัวเองทำผิดอะไร มีคำถามกับตัวเองว่า “ทำไมเราทำอะไรก็ผิดไปหมด” หรือบางครั้งอาจจะรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอไปเลย หากความรู้สึกเช่นนี้เกิดขึ้นแค่ในเวลาที่อยู่กับบางบุคคลเท่านั้น เช่น แฟนของคุณ เพื่อน เพื่อนร่วมงาน คนในครอบครัว อาจเป็นไปได้ว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นมานั้นมันเกิดขึ้นเพราะเกมของคนที่มีบุคลิกภาพแบบหลงตัวเอง (Narcissistic Personality Disorder)

คนที่มีบุคลิกภาพแบบหลงตัวเอง (Narcissistic Personality Disorder) มีลักษณะอย่างไร?

  ⚫ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง เพราะคิดว่าตัวเองเหนือกว่าคนอื่น ดีกว่าคนอื่น คนอื่นจึงควรหมุนรอบตัวเขา ไม่ใช่เขาไปหมุนรอบตัวคนอื่น

  ⚫ขาดความเห็นอกเห็นใจคนอื่น ไม่สนใจว่าคนอื่นจะคิดหรือรู้สึกอย่างไร

  ⚫ต้องเป็นที่สนใจและจดจำจากคนอื่น

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดที่กล่าวไม่ใช่เกณฑ์การวินิจฉัยทางการแพทย์ แต่เป็นเพียงลักษณะโดยคร่าว ๆ เท่านั้น เพื่อให้เห็นภาพในเบื้องต้นของคนที่มีบุคลิกภาพแบบหลงตัวเอง ก่อนที่จะได้ไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับเกมของพวกเขา

1. Gaslighting “เกมปั่นประสาท”

คำนี้มาจากภาพยนตร์เรื่อง Gaslight ที่สามีได้ทำการปั่นประสาทภรรยาโดยใช้คำพูดกล่อมให้หลงเชื่อ และสับสนว่าอะไรคือความจริงอะไรคือความลวง เกมแบบ Gaslighting เป็นความตั้งใจของคนที่มีบุคลิกภาพแบบหลงตัวเองที่ต้องการปั่นประสาทให้อีกฝ่ายทำตามที่ตัวเองต้องการ

2. Love bombing “ระเบิดความรักในช่วงโปรโมชัน”

เกมนี้อาจจะชัดเจนกว่าในความสัมพันธ์รูปแบบแฟน โดยพวกเขาจะทำให้คุณรู้สึกเหมือนได้รับระเบิดความรักในช่วงที่เพิ่งรู้จักกัน ไม่ว่าจะหยอดคำหวาน เรียกคุณว่า “แม่ของลูกผม” แม้จะเพิ่งคบกันได้ไม่กี่วัน หรือชื่นชมคุณแบบเกินไปมาก เช่น “ผมไม่เคยพบใครที่ดีกับใจผมเท่าคุณมาก่อนเลยในชีวิต” โทรหาคุณบ่อย ๆ พร้อมกับคอยดูแลเทคแคร์ อยากได้อะไรก็หามาให้ได้หมด หากคุณติดปัญหาอะไรเมื่อไหร่เขาก็จะมาช่วยคุณแก้ปัญหาโดยทันที ปฏิบัติราวกับเขาเป็นทาสรักของคุณ

3. Ghosting “อยู่ดี ๆ ก็เป็นเหมือนผีล่องหนหายไป”

ทั้งที่คุณกับเขาก็อยู่ในความสัมพันธ์ที่ไม่ได้มีปัญหา ไม่เคยกระทบกระทั่ง และดูปกติเหมือนที่เคยเป็นมา แต่จู่ ๆ เขาก็หายตัวไปไม่มีการติดต่อกับคุณอีกเลย โดยเกมนี้สามารถเกิดขึ้นได้จากปัจจัยหลายอย่าง เช่น เขาหมดความสนใจต่อคุณและไม่อยากจะคบกับคุณอีกต่อไปแล้ว

4. Triangulation “ยกบุคคลที่สามมาอ้าง”

ก็คือการยกเอาคนอื่นมาเปรียบเทียบหรือการอ้างถึงความคิดเห็นของบุคคลที่สาม ก็เป็นอีกเกมที่เขาใช้เพื่อควบคุมให้อีกฝ่ายยอมทำตามความต้องการของเขา หรือลวงให้คุณไปทำอะไรก็ตามที่ตัวเขาเองไม่อยากเป็นคนลงมือทำแต่อยากได้รับประโยชน์จากการกระทำนั้น ยกตัวอย่างเช่น เขาต้องการให้เพื่อนสนิทที่ห่วงใยคุณไปให้พ้นทาง เขาอาจจะพยายามสร้างเรื่องขึ้นมาให้คุณเชื่อว่าเพื่อนสนิทของคุณชอบมายุ่มย่ามกับชีวิตรักของคุณกับเขามากเกินไปเพราะว่าเพื่อนสนิทของคุณมีนิสัยขี้อิจฉาไม่อยากเห็นใครดีกว่า

5. Playing the victim “รับบทเหยื่อ”

คนที่มีบุคลิกภาพแบบหลงตัวเองเวลาที่มีความรู้สึกก็มักจะรู้สึกขึ้นมาอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะเวลาที่ถูกวิจารณ์หรือสะท้อนให้เห็นตัวเอง ก็จะรู้สึกเจ็บปวดมากและไม่ต้องการที่จะยอมรับความจริง เพราะมันกระเทือนความเชื่อที่เขามีต่อตัวเอง

จึงทำให้เขาเชื่อว่าตัวเองก็ปกติดี คนอื่นต่างหากที่ไม่ปกติ หากพบว่าคนใกล้ชิดมีลักษณะเช่นนี้แต่คุณยังมีความห่วงใยและอยากจะอยู่ในความสัมพันธ์ต่อ ก็อาจจะไปลองคุยกับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาคลินิกก่อนก็ได้ว่าวิธีการอยู่ร่วมกับคนที่มีบุคลิกภาพแบบหลงตัวเองอย่างที่คุณเองไม่ต้องเจ็บปวดหรือตกเป็นเครื่องมือในเกมของเขามันมีวิธีอย่างไร

ปรึกษาเภสัชกรปัญหาสุขภาพ การใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ สามารถเข้ามาปรึกษาได้ที่หน้าร้านขายยาจุฬาลักษณ์เภสัชทุกสาขา หรือปรึกษาได้ช่องทางออนไลน์ได้ ทุกช่องทางของเรานะคะ


แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– psychcentral.commanipulation-games-narcissists-play
– psychcentral.com/narcissistic-personality-disorder

เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM

แชร์

สินค้าที่เกี่ยวข้อง

No results found.

ยังไม่มีบัญชี