ยาลดกรด (Antacids) เป็นยาที่ใช้เพื่อช่วยปรับสภาพความเป็นกรด ของกรดภายในกระเพาะอาหาร ทำให้มีความเป็นกลางมากขึ้น หรือก็คือ ช่วยลดกรด จากการที่ภายในกระเพาะอาหารหลั่งกรดมาช่วยย่อยอาหารมากเกินไป ยานี้จะแตกต่างจากยาลดกรดในกลุ่ม H2 receptor blockers และ proton pump inhibitors (PPIs) เนื่องจากยาพวกนั้นจะลดการหลั่งของกรดในกระเพาะแทน
ยาลดกรดนั้นใช้เพื่อช่วยบรรเทาอาการของโรคกรดไหลย้อน (GERD) อาหารไม่ย่อย ท้องอืด อาการแสบร้อนกลางอก และแผลในกระเพาะอาหาร เนื่องจากยาลดกรดนั้นจะช่วยบรรเทาอาการปวด และปัญหาที่เกิดขึ้นจากอาการของโรคเหล่านี้ แต่ไม่สามารถรักษาโรคให้หายขาด หรือป้องกันไม่ให้เกิดโรคเหล่านี้ได้
ยาลดกรดบางอย่าง อาจสามารถช่วยเคลือบหลอดอาหาร เพื่อปกป้องหลอดอาหารจากกรดในกระเพาะอาหาร หรือสร้างชั้นเจลเคลือบบนชั้นกระเพาะอาหาร เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้กรดไหลย้อนกลับเข้าไปในหลอดอาหาร ยาลดกรดนั้นมีทั้งแบบยาน้ำและยาเม็ดสำหรับเคี้ยว และยาน้ำนั้นมักจะมีประสิทธิภาพมากกว่ายาแบบเม็ด แต่ไม่ว่าจะเป็นยาลดกรดยี่ห้อใดหรือรูปแบบใด ก็มักจะมีส่วนผสมที่คล้ายคลึงกัน ดังนี้
- อลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ (aluminium hydroxide)
- แมกนีเซียมคาร์บอเนต (magnesium carbonate)
- แมกนีเซียมไตรซิลิเกต (magnesium trisilicate)
ในบางครั้งอาจจะมีส่วนผสมพิเศษเพิ่มขึ้นเพื่อช่วยแก้ปัญหาเฉพาะอย่างต่างๆ เช่น
- ไซเมทิโคน (simethicone) เพื่อช่วยบรรเทาอาการท้องอืด จุกเสียด แน่น
- แอลจิเนต (alginates) เพื่อป้องกันไม่ให้กรดไหลย้อนกลับเข้าไปในหลอดอาหาร
พฤติกรรมเสี่ยง ที่อาจทำให้คุณต้องกินยาลดกรด
- ชอบรับประทานอาหารรสจัด เช่น รสเปรี้ยว รสเผ็ด
- มักจะรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา
- ชอบดื่มกาแฟมาก และมักดื่มกาแฟตอนท้องว่าง
- รับประทานยาแก้ปวดชนิดระคายเคืองกระเพาะอาหารตอนท้องว่างอยู่บ่อยๆ
- สูบบุหรี่จัด ดื่มแอลกอฮอล์มาก
- ดื่มน้ำอัดลมบ่อยมาก
- มีความเครียดสะสม หรือมักวิตกกังวลเป็นประจำ
หากมีพฤติกรรมข้อใดข้อหนึ่งเป็นระยะเวลานาน อาจเป็นสาเหตุของอาการปวดแสบท้อง ซึ่งเป็นอาการของโรคแผลในกระเพาะอาหารหรือกรดไหลย้อนได้ การรักษาสามารถกินยาลดกรดเพื่อลดกรดเกินในกระเพาะอาหาร ควบคู่ไปกับการปรับลดพฤติกรรมเสี่ยง 7 ข้อข้างต้น เพื่อทำให้สุขภาพดีขึ้นได้
คำเตือนและข้อควรระวังในการใช้ยาลดกรด
เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยาลดกรด ผู้ใช้ยาควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้
- ควรแจ้งประวัติการแพ้ยาและอาการแพ้อื่น ๆ แก่แพทย์ก่อนการใช้ยา เพราะส่วนผสมบางตัวในยาอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการแพ้
- ผู้ที่มีปัญหาโรคตับ โรคไต หรือมีภาวะหัวใจล้มเหลว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาทุกครั้ง เพื่อป้องกันการสะสมของยาในปริมาณมากภายในร่างกาย
- ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ตับแข็ง หรือสภาวะอื่น ๆ ที่ต้องรับประทานอาหารประเภทโซเดียมต่ำ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา เพราะยาลดกรดบางชนิดอาจมีส่วนผสมของโซเดียมในปริมาณมาก
- ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา เพราะยาลดกรดบางชนิดอาจมีส่วนผสมของโซเดียมไบคาร์บอเนต ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงกับทารกในครรภ์
- เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ควรขอคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยา
- ไม่ควรรับประทานยาลดกรดติดต่อกันนานเกิน 2 สัปดาห์ นอกเหนือจากคำสั่งของแพทย์
- ไม่ควรรับประทานยาลดกรดพร้อมกับยาชนิดอื่นภายใน 2–4 ชั่วโมง เพราะอาจดูดซึมฤทธิ์ยาตัวอื่นจนทำให้ออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่

การใช้ยาลดกรดอย่างปลอดภัย
ยาลดกรดแต่ละชนิด แต่ละยี่ห้อ อาจจะมีขนาดยาและวิธีการใช้ยาที่แตกต่างกันไป ควรอ่านฉลากยา หรือปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนที่จะใช้ยา
- ยาลดกรดในรูปแบบเคี้ยว ควรเคี้ยวยาให้ละเอียดก่อนค่อยกลืน อย่ากลืนยาลงไปทั้งเม็ด
- ยาลดกรดแบบน้ำ ควรเขย่าขวดยา ให้ยาผสมเข้ากันดี ก่อนรับประทานยาทุกครั้ง
ยาลดกรดจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด หากรับประทานยาเมื่อเริ่มมีอาการ ซึ่งมักจะเกิดหลังจากมื้ออาหารแต่ละมื้อ และก่อนนอน ดังนั้นควรรับประทานยาลดกรดทันทีหลังอาหาร เพื่อช่วยบรรเทาอาการต่างๆ เช่น อาหารไม่ย่อย หรือแสบร้อนกลางอก ได้เร็วที่สุด
ยาลดกรดมักจะใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น และไม่จำเป็นต้องใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน หากคุณสังเกตพบว่าคุณจำเป็นต้องใช้ยาลดกรดเป็นประจำ เป็นเวลานานกว่า 2 สัปดาห์ติดต่อกัน โปรดรีบติดต่อแพทย์ในทันที
ผลข้างเคียงจากการใช้ยาลดกรด
ยาลดกรดแทบไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงเมื่อรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมและในกรณีที่จำเป็น แต่ในผู้ป่วยบางคนก็อาจเกิดอาการท้องเสีย ท้องผูก ท้องอืด เรอ คลื่นไส้ หรืออาเจียนได้ ขึ้นอยู่กับประเภทและส่วนผสมหลักในการออกฤทธิ์ของยา
โดยยาลดกรดที่มีส่วนผสมของแมกนีเซียมอาจทำให้เกิดอาการท้องเสีย ยาลดกรดที่มีส่วนผสมของอะลูมิเนียมอาจทำให้เกิดอาการท้องผูก ส่วนยาลดกรดที่มีส่วนผสมทั้งแมกนีเซียมและอะลูมิเนียมอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงในการขับถ่ายลดลง หรืออาจเป็นไปได้ทั้งอาการท้องผูกและท้องเสีย หากหยุดรับประทานยาแล้วยังมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นเช่นเดิมควรไปพบแพทย์
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– web hellokhunmor
– webpobpad
– web mordee
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM