Cetirizine (เซทิริซีน) เป็นยาในกลุ่มยาแก้แพ้ (Antihistamine) มีคุณสมบัติในการรักษาอาการแพ้ต่าง ๆ เช่น น้ำมูกไหล เคืองตา คันจมูก คันคอ จาม มีผื่นขึ้น บรรเทาอาการบวมและคัน ซึ่งเกิดจากลมพิษ ภูมิแพ้อากาศ โรคหืด และโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis) ส่วนใหญ่เรามักเห็นยา Cetirizine (เซทิริซีน) ในลักษณะเป็นยาเม็ดสีขาว วงรี ขนาดเล็ก ชื่อการค้าที่มักจะติดหู ติดปาก เป็นที่รู้จักของหลาย ๆ คน คือ Zyrtec มีทั้งรูปแบบยาเม็ดและยาน้ำ มักจะเคยใช้ยานี้หรือมียานี้ติดบ้านไว้เหมือนเป็นยาสามัญประจำบ้านกันเลยทีเดียว
สรรพคุณยา Cetirizine (เซทิริซีน)
- รักษาโรคแพ้อาการ เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล คันจมูก จาม
- รักษาโรคภูมิแพ้ขึ้นตา เช่น คันตา น้ำตาไหล ตาแดง
- รักษาลมพิษ ผื่นคัน รอยบวม
- รักษาโรคผิวหนังอื่นๆ เช่น ผื่นแพ้สัมผัส ผื่นคัน
กลไกการออกฤทธิ์
กลไกการออกฤทธิ์ของยา คือ เซทิริซีนเป็นเมทาบอไลท์ของไฮดรอกซีซีน (hydroxyzine) มีความแรงและจำเพาะอย่างสูงต่อการยับยั้งการทำงานของตัวรับฮีสตามีน H1 บนเซลล์ในระบบทางเดินอาหาร หลอดเลือด และระบบทางเดินหายใจ
ปริมาณการใช้ยา Cetirizine (เซทิริซีน)
ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยตัวอย่างการใช้ยา Cetirizine เพื่อรักษาอาการปวดต่าง ๆ มีดังนี้
1. ยาชนิดรับประทาน
การใช้ยา Cetirizine ชนิดรับประทาน จะใช้เพื่อรักษาอาการแพ้จากโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis) ทั้งชนิดที่เกิดอาการแพ้เฉพาะบางฤดูกาล หรือเกิดอาการแพ้ได้ตลอดทั้งปี และรักษาอาการแพ้จากลมพิษเรื้อรังชนิดไม่ทราบสาเหตุ
ทั้งนี้ ไม่ควรรับประทานยาเกิน 10 มิลลิกรัมภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งปริมาณการรับประทานจะแบ่งตามช่วงอายุ ดังนี้
- เด็กอายุ 6–12 ปี รับประทานครั้งละ 5 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง
- เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่ รับประทานวันละ 10 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง หากอาการแพ้ไม่รุนแรง แพทย์อาจแนะนำให้แบ่งรับประทานยาครั้งละ 5 มิลลิกรัม วันละ 1–2 ครั้ง
2. ยาหยอดตา
การใช้ยา Cetirizine ชนิดหยอดตา จะใช้เพื่อรักษาอาการคันและระคายเคืองดวงตาจากโรคภูมิแพ้ขึ้นตา (Allergic Conjunctivitis) ซึ่งจะใช้ในเด็กอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่ โดยหยดยาที่ดวงตาข้างที่มีอาการครั้งละ 1 หยด วันละ 2 ครั้ง โดยเว้นระยะเวลาห่างกัน 8 ชั่วโมง
3. ยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ
การใช้ยา Cetirizine ชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำในการกำกับดูแลของแพทย์ที่สถานพยาบาลเท่านั้น โดยจะใช้รักษาอาการลมพิษเฉียบพลัน ซึ่งปริมาณการให้ยาจะแบ่งตามช่วงอายุ ดังนี้
- เด็กอายุ 6 เดือน จนถึงอายุ 5 ปี ให้ยาครั้งละ 2.5 มิลลิกรัม ทุก 24 ชั่วโมง
- เด็กอายุ 6–11 ปี ให้ยาครั้งละ 5–10 มิลลิกรัม ทุก 24 ชั่วโมง หรือขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ
- เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่ ให้ยาครั้งละ 10 มิลลิกรัม ทุก 24 ชั่วโมง
หากทานยา Cetirizine (เซทิริซีน) 1 เม็ด แล้วไม่หายสนิท สามารถเพิ่มเป็น วันละ 2 เม็ด(20 mg)ได้ไหม
ไม่ว่าจะทานพร้อมกันครั้งเดียวเลย 2 เม็ด หรือจะแบ่งรับประทาน 1 เม็ด ในตอนเช้าและอีก 1 เม็ด ในตอนเย็น พบว่า ประสิทธิภาพในการรักษาอาการภูมิแพ้ไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากยามากขึ้น สรุปคือขนาดสูงสุดที่ให้ประสิทธิภาพในการรักษาคือ 10 mg/วัน โดยในบางรายอาจเริ่มที่ 5 mg/วัน หรือ อาจแบ่งรับประทานเป็น ครั้งละ 5 mg วันละ 2 เวลา คือ เช้ากับเย็นก็ได้ มีรายงานพบอาการข้างเคียงในผู้ที่รับประทานยาในขนาด 5 เท่าของขนาดยาที่แนะนำต่อวัน คือ มีอาการสับสน เวียนหัว ปวดหัว ม่านตาขยาย ง่วงซึม มึนงง กระสับกระส่าย เหนื่อยล้า ไม่สบายตัว หัวใจเต้นเร็ว สั่น ท้องเสีย ปัสสาวะไม่ออก
ข้อควรระวังของการใช้ยา
- การใช้ยาในผู้ป่วยที่มีอาการชัก หรือผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการชัก
- ระวังการใช้ยาในผู้ป่วยโรคตับและโรคไต
- ระวังการใช้ยาในผู้ป่วยสูงอายุ
- ระวังการใช้ยาในสตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร
อันตรายและผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์
อาจก่อให้เกิดการง่วงซึม นอนไม่หลับ เมื่อยล้า มึนงง ปวดศีรษะ ปวดท้อง ไอ ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ปากแห้ง แต่หากไม่รุนแรงจะไม่ถึงขั้นอันตราย
อาการที่ต้องหยุดยาและไปพบแพทย์
- บวมที่ใบหน้า เปลือกตา ริมฝีปาก ลมพิษ
- ผื่นแดง ผิวหนังหลุดลอก
- แน่นออก หายใจลำบาก
- มีรอยจ้ำเลือดบริเวณผิวหนัง รอยฟกช้ำ เลือดออกผิดปกติ
- หน้ามืด เป็นลม
- ตัวเหลือง ตาเหลือง อุจจาระมีสีซีด
- เหนื่อย อ่อนเพลียผิดปกติ
- ใจสั่น หัวใจเต้นผิดปกติ
- สับสน อารมณ์แปรปรวน ชัก
- มีปัญหาเรื่องการมองเห็น หรือ ได้ยินเสียงผิดปกติ
- ความดันโลหิตสูง
- ปัสสาวะน้อยลง ปัสสาวะลำบาก
ยาแก้แพ้หรือยาแอนตี้ฮีสตามีน เป็นยาที่หาซื้อได้ง่าย แต่คนส่วนใหญ่ไม่ทราบความแตกต่างของยาแก้แพ้ ยาแก้แพ้แต่ละกลุ่มมีข้อควรระวัง และข้อห้ามใช้แตกต่างกัน เพื่อความปลอดภัยจึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– เว็บพบแพทย์
– hdmall
– pharmcare
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM