โรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจ เป็นโรคภูมิแพ้ที่พบได้บ่อยที่สุด เนื่องจากเด็กหายใจเข้าออกอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นโอกาสที่ร่างกายจะรับสารก่อภูมิแพ้และสารระคายเคืองในอากาศจึงมีได้ทุกขณะ โดยเฉพาะในยุคที่เด็กต้องเผชิญมลภาวะทางอากาศที่เลวร้าย เช่น ฝุ่นละอองที่เป็นพิษ
สาเหตุของโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ
โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจเกิดขึ้นได้จาก 2 ปัจจัยด้วยกัน
- พันธุกรรม การที่เด็กมีคุณพ่อคุณแม่ ญาติพี่น้องเป็นโรคภูมิแพ้ ทำให้เด็กมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นโรคภูมิแพ้มากกว่าคนอื่น เปรียบเหมือนภูเขาน้ำแข็งที่ใกล้โผล่ขึ้นมา หากเด็กเจอสารก่อภูมิแพ้เพียงเล็กน้อยสามารถเกิดอาการภูมิแพ้ขึ้นมาได้ตั้งแต่เล็ก
- สิ่งแวดล้อม เด็กได้รับสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ทางเดินหายใจ เช่น ฝุ่น ไรฝุ่น สัตว์เลี้ยง แมลงสาบ เชื้อรา เป็นต้น เด็กบางคนอาจไม่มีปัจจัยทางพันธุกรรม แต่ถ้าเจอสารก่อภูมิแพ้ในสภาพแวดล้อมในปริมาณมากเป็นระยะเวลานาน อาการภูมิแพ้สามารถปรากฎได้ รวมถึงกลิ่นฉุนต่างๆ เช่น กลิ่นบุหรี่ เด็กที่ได้รับการกระตุ้นระบบทางเดินหายใจด้วยการสูดกลิ่นบุหรี่เข้าไป มีโอกาสเป็นภูมิแพ้สูงกว่าเด็กอื่น และเด็กที่มีโรคภูมิแพ้ หากได้รับไวรัส RSV เข้าไป หลอดลมจะไวมาก เด็กบางคนอาจมีภาวะหลอดลมไวต่อเนื่องอีกหลายเดือนหรือเป็นปีถึงแม้จะหายขาดจากโรคแล้วก็ตาม
โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจในเด็กเล็ก
โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจเกิดได้กับเด็กทุกวัย แต่เมื่อเกิดกับเด็กเล็ก มักพบว่าเด็กมีปัญหาของระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง ซึ่งเป็นระยะแรกเริ่มของคนเป็นโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ โดยเด็กจะมีภาวะหลอดลมไวต่อสิ่งกระตุ้นหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอากาศเย็น ฝุ่น สัตว์เลี้ยง แมลงสาบ อาการที่สังเกตเห็นได้ คือ เด็กมีอาการไอมาก อาการไอมักเป็นมากในตอนกลางคืน ไอมีเสมหะหรือไอแห้งๆ ก็ได้ เด็กบางคนอาจไอมากจนอาเจียน หายใจไม่ทัน หรือหอบ
โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจในเด็กโต
เมื่อเด็กโตขึ้นมาหน่อย มักพบปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจส่วนบนร่วมด้วย หรือเป็นภูมิแพ้ในโพรงจมูกที่เรียกกันทั่วไปว่า แพ้อากาศ เด็กจะมีอาการคัดจมูก จาม มีน้ำมูก หายใจไม่ออกและนอนกรน
อาการแทรกซ้อนของโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ
โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจในเด็กถ้าทิ้งไว้นานหรือไม่ได้รักษาอย่างถูกต้อง แต่เนิ่นๆ อาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนได้ เช่น
- อาการแทรกซ้อนของภูมิแพ้ทางเดินหายใจส่วนบน : ไซนัสอักเสบและภาวะนอนกรน ไซนัสอักเสบเกิดจากการเป็นหวัดเรื้อรัง หากเด็กเป็นภูมิแพ้ในโพรงจมูกแล้วรักษาหวัดไม่หายขาด ทำให้มีโอกาสเป็นไซนัสอักเสบได้ สำหรับภาวะนอนกรนของเด็กเกิดจากต่อมอะดีนอยด์และต่อมทอนซิลโตทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนอุดกั้น หากเป็นมากเด็กอาจหยุดหายใจเป็นช่วงๆ ระหว่างหลับสนิททำให้สมองขาดออกซิเจนไปเลี้ยง และมีการคั่งของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในร่างกายได้ ซึ่งจะทำให้มีผลเสียต่ออวัยวะสำคัญหลายอย่าง เช่น สมอง หัวใจ รวมถึงทำให้เด็กนอนหลับไม่เต็มที่และมีอาการง่วง อ่อนเพลีย สมาธิสั้นในเวลากลางวัน
- อาการแทรกซ้อนของภูมิแพ้ทางเดินหายใจส่วนล่าง : ภาวะหลอดลมไวต่อสิ่งกระตุ้นหรือที่เรียกกันทั่วไปว่าโรคหอบหืด ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังของระบบทางเดินหายใจที่ต้องมีการดูแลอย่างใกล้ชิด โดยแพทย์เฉพาะทางอาจต้องมีการใช้ยารักษาต่อเนื่องระยะยาวได้
การวินิจฉัยโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ
แพทย์จะทำการซักประวัติโดยละเอียด ตั้งแต่สิ่งแวดล้อมในบ้านไปจนถึงการใช้ชีวิตประจำวัน ร่วมกับการตรวจร่างกาย เช่น ตรวจระบบทางเดินหายใจส่วนบน ตรวจทอนซิล ฟังปอด เป็นต้น อาจมีการเอกซเรย์ไซนัส หรือเอกซเรย์ปอดเพื่อให้ทราบสาเหตุอย่างแน่ชัด หากเด็กโตขึ้นมาหน่อย อายุประมาณ 7-8 ขวบ แพทย์อาจตรวจสมรรถภาพปอด (Spirometry or Pulmonary Function Test) เพื่อช่วยวินิจฉัยภาวะหลอดลมไวต่อสิ่งกระตุ้น หรือหอบหืด
อันตรายหากปล่อยทิ้งไว้ ไม่รักษา
ส่วนใหญ่ โรคภูมิแพ้จะเริ่มตั้งแต่เป็นเด็ก แต่อาจมีอาการไม่ชัดเจน หากปล่อยเรื้อรังโดยไม่รักษาหรือรักษาไม่เต็มที่ โอกาสที่เด็กจะหายขาดจากโรคจะมีน้อยลงเรื่อยๆ จากที่มีโอกาสในการหายขาด ร้อยละ 80-90 หากรักษาแต่เนิ่นๆ อาจลดลงเหลือเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นหากรักษาเมื่อเด็กโตขึ้น
การรักษาโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ
การรักษาโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจแบ่งได้เป็น 3 ส่วนด้วยกัน
- การปรับสิ่งแวดล้อม เพื่อลดสารก่อภูมิแพ้ให้น้อยที่สุด เช่น หากแพ้สัตว์เลี้ยงควรนำสัตว์เลี้ยงออกจากบ้าน หากแพ้ฝุ่นไม่ควรมีตุ๊กตาและหมอนหลายใบบนเตียง ร่วมกับใช้ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอนชนิดกันไรฝุ่น และควรใช้เครื่องฟอกอากาศภายในบ้าน เป็นต้น
- การรักษาทางยา หลักๆ คือ กลุ่มยาเพื่อใช้รักษาอาการเวลาหอบหืด ไอมากๆ เช่น ยาพ่นขยายหลอดลม กับกลุ่มยาเพื่อใช้รักษาโรคซึ่งเป็นยาที่ต้องใช้ทุกวันระยะยาวตามคำแนะนำของแพทย์เฉพาะทาง ควรใช้ยาอย่างสม่ำเสมอไม่ควรหยุดยาหรือปรับลดยาเองหากเห็นว่าเด็กมีอาการดีขึ้น เพราะทำให้โรคไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง
- การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่และพักผ่อนให้เพียงพอ
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– www.bumrungrad.com
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM