คนส่วนใหญ่เวลาไอนานนาน ก็คิดว่าเป็นหวัดหรือเป็นโรคทางจมูก คอ หลอดลมหรือว่าปอด แต่บางทีไปหาหมอแล้วตรวจยังไงก็ไม่เจอโรคพวกนี้ บางคนไอมาเป็นอาทิตย์แล้วหรือบางคนเป็นไอมาเป็นเดือนๆแล้ว ต้องระวังบางทีสาเหตุการไออาจจะมาจากกรดไหลย้อนได้
กรดไหลย้อน เป็นสาเหตุหนึ่งทำให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบ โดยจะมีอาการต่างๆ ดังนี้
- ไอเรื้อรัง เกิดจากกรดไหลย้อน เข้าไปในหลอดลม ทำให้เกิดภาวะหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ที่แย่กว่านั้นคือ ในบางรายอาจเกิดอาการหอบหืด โดยหลอดลมจะมีความไวต่อสิ่งกระตุ้น เช่น ของที่มีกลิ่นฉุน ฝุ่น ควัน อากาศที่เปลี่ยนแปลงมากผิดปกติ อาการไอหลังกินอาหารเกิดจากอาหารทำให้ความดันในช่องท้องเพิ่มมากขึ้น จนกรดไหลลงไปในหลอดลมได้
- อาการไอ สำลักน้ำลาย หรือหายใจไม่ออกในเวลากลางคืน เกิดจากกรดไหลลงไปในหลอดลม ทำให้หลอดลมอักเสบ และมีการหดตัวของหลอดลม ที่มักเป็นในเวลากลางคืน เนื่องจากเวลาเรานอน กรดจะไหลได้ง่ายกว่าเวลาที่เรานั่งหรือยืน
- อาการเจ็บหน้าอก เกิดจากกรดไหลย้อนขึ้นมาผ่านหลอดอาหารที่อยู่ในช่องอก และกระตุ้นเส้นประสาทในหลอดอาหารทำให้มีอาการดังกล่าวได้ และเมื่อกรดไหลลงไปในหลอดลมและปอด อาจทำให้มีการอักเสบของปอดเป็นๆ หายๆ ได้
- เสียงแหบ เกิดจากกรดที่ไหลย้อนขึ้นมา แล้วไปสัมผัสกับเส้นเสียงที่อยู่ทางด้านหน้า ทำให้เส้นเสียงบวม ปิดไม่สนิท เกิดลมรั่ว ทำให้เกิดมีเสียงแหบได้ สาเหตุที่มีเสียงแหบตอนเช้า เกิดจากเวลาเรานอน กรดจะไหลได้ง่ายกว่าเวลาที่เรานั่งหรือยืน เส้นเสียงจึงถูกกรดสัมผัสมากกว่าช่วงอื่น ๆ ของวัน ทำให้ขณะตื่นมาตอนเช้า มักจะมีเสียงแหบได้
- การที่มีเสมหะอยู่ในคอตลอด เกิดจากการที่กรดไหลขึ้นมา สัมผัสกับต่อมสร้างเสมหะในลำคอ และกระตุ้นทำให้ต่อมดังกล่าวทำงานมากขึ้น นอกจากนี้การที่กรดไปกระตุ้นเส้นประสาทในคอ อาจทำให้มีอาการคันคอ แสบคอ เจ็บคอ หรือระคายคอได้
- อาการที่รู้สึกคล้ายมีก้อนในคอหรือแน่นคอ หรือกลืนติด ๆ ขัด ๆ หรือกลืนลำบาก คล้ายมีสิ่งแปลกปลอมในคอ เกิดจากกรดไหลย้อนไปสัมผัสกับกล้ามเนื้อคอ ทำให้กล้ามเนื้อหดตัว และเกิดความรู้สึกดังกล่าว การกินยาคลายกล้ามเนื้อก่อนนอน อาจช่วยให้อาการดังกล่าวลดน้อยลง บางรายอาจมีอาการกลืนเจ็บ เจ็บคอ แสบคอ หรือปาก หรือแสบลิ้นได้

วิธีการรักษาโรคกรดไหลย้อน
- รับประทานยาแก้ไอเพื่อช่วยบรรเทาอาการ
- รับประทานยาลดกรดเพื่อยับยั้งการผลิตกรดในกระเพาะอาหาร
- ในกรณีที่รุนแรง อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับประทานยาเป็นเวลานานหรือพบผลข้างเคียงจากการใช้ยา รวมถึงผู้ป่วยที่ใช้ยามาเป็นเวลานาน แต่ไม่สามารถควบคุมอาการได้แล้ว
สำหรับผู้ที่มีอาการไม่รุนแรงการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและปรับพฤติกรรมการบริโภคอาหารจะช่วยให้อาการดีขึ้น โดยการรับประทานอาหารในปริมาณที่เหมาะสมในแต่ละมื้อ รับประทานอาหารช้าๆ เคี้ยวให้ละเอียด เน้นอาหารมีประโยชน์ ไขมันต่ำ ย่อยง่ายและมีกากไย นอกจากนี้ไม่ควรปล่อยให้น้ำหนักมากเกินไปด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดชากาแฟ และไม่สูบบุหรี่ รวมถึงการลดความดันในกระเพาะอาหารด้วยการสวมเสื้อผ้าหลวมๆ และที่สำคัญคือไม่นอนราบหลังหรือระหว่างมื้ออาหาร ควรรอประมาณ 3 ชั่วโมงก่อนเข้านอน
อย่างไรก็ตามหากพบอาการไอเรื้อรัง นานกว่า 3–8 สัปดาห์ โดยไม่ได้รับประทานยาที่กระตุ้นให้ไอมากขึ้น ไม่สูบบุหรี่ ไม่ป่วยเป็นภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ หรือโรคหอบหืด รวมถึงการเอ็กซเรย์พบว่าปอดปกติ โดยเฉพาะเมื่อมีอาการไอที่หาสาเหตุไม่พบ การรักษากรดไหลย้อนอาจช่วยให้ผู้ป่วยดีขึ้น โดยผู้ป่วยสามารถพบแพทย์ด้านระบบทางเดินอาหารเพื่อรับการวินิจฉัยอย่างละเอียด ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– โรงพยาบาลสมิตเวช
– web rattinan clinic
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM