ยา Clotrimazole (โคลไตรมาโซล) ข้อมูล ข้อบ่งใช้ ผลข้างเคียง

ยา Clotrimazole (โคลไตรมาโซล) หรือที่รู้จักในชื่อการค้า คาเนสเทน (Canesten) เป็นยาในกลุ่มยาต้านเชื้อรา ใช้สำหรับรักษาการติดเชื้อรากลุ่มแคนดิด้าในช่องคลอด การติดเชื้อแคนดิด้าในช่องปาก ผื่นผ้าอ้อมโรคเกลื้อน และการติดเชื้อกลาก ได้แก่ ฮ่องกงฟุต และสังคัง สามารถบริหารยาได้ทั้งวิธีรับประทาน ยาเม็ดสอดช่องคลอด หรือยาครีมทาบริเวณช่องคลอด ยาโคลไตรมาโซลอาจมีการผสมรวมกับสารกลุ่มกลูโคคอร์ติคอยด์ (glucocorticoid) อย่างเช่น เบต้าเมธาโซน (betamethasone) ซึ่งมีวางจำหน่ายในรูปแบบยาครีมในการรักษาโรคกลาก โรคสังคัง และโรคฮ่องกงฟุต แม้ว่ายาครีมผสมระหว่างโคลไตรมาโซลและเบต้าเมธาโซนจะมีการรับรองจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา แต่ไม่ค่อยมีการใช้ยานี้เพื่อรักษาการติดเชื้อ dermatophyte ที่ผิวหนัง เนื่องจากเพิ่มผลข้างเคียงจากการใช้ในส่วนกลูโคคอร์ติดคอยด์ ยาโคลไตรมาโซลถูกค้นพบครั้งแรกในปี ค.ศ. 1969 และเป็นยาที่อยู่ในบัญชียาหลักขององค์การอนามัยโลก และมีวางจำหน่ายในรูปแบบของยาสามัญ ในปีค.ศ. 2016 คาร์เนสเทนเป็นยี่ห้อที่มีบอดจำหน่ายสูงสุดในเกาะอังกฤษ ด้วยยอดขายกว่า 39.2 ล้านปอนด์อังกฤษ

โรค และอาการที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยานี้บรรเทา

  • ข้อบ่งใช้สำหรับติดเชื้อแคนดีด้าในช่องปากและลำคอ
  • ข้อบ่งใช้สำหรับติดเชื้อราที่หูชั้นนอก
  • ข้อบ่งใช้สำหรับติดเชื้อราที่ผิวหนัง
  • ข้อบ่งใช้สำหรับติดเชื้อแคนดีด้าในช่องคลอด

คำเตือนในการใช้ยา Clotrimazole

เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ที่ต้องใช้ยา Clotrimazole ควรทำตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • ผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ หรือแพ้ยาต้านเชื้อรา กลุ่มเอโซล เช่น ยาไอตราโคนาโซล และคีโตโคนาโซลรวมไปถึงหากมีประวัติแพ้ยาชนิดอื่น ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยา
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากกำลังป่วยหรือเคยป่วยเป็นโรคตับ โรคเบาหวาน ระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ภาวะเอดส์ หรือติดสุรา
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากกำลังตั้งครรภ์ วางแผนจะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร รวมไปถึงผู้ที่ตั้งครรภ์ในระหว่างที่กำลังใช้ยานี้ ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากเป็นผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์
  • เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยา เพราะยังไม่ทราบแน่ชัดถึงความปลอดภัยและประสิทธิภาพจากการใช้ยา Clotrimazole ในเด็กวัยนี้
  • กรณีที่ใช้ยารูปแบบยาทาเฉพาะที่ ต้องระมัดระวังอย่าให้ยาเข้าตา

กลไกการออกฤทธิ์ของยา Clotrimazole

กลไกการออกฤทธิ์ของยาคือ โคลไตรมาโซล เป็นยาปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อรากว้าง โคลไตรมาโซลจับกับฟอสโฟลิพิด (phospholipid) บนเยื่อหุ้มเซลล์ รบกวนกระบวนการเลือกผ่านสารเข้าออกของผนังเซลล์ของเชื้อรา ทำให้เกิดการรั่วออกขององค์ประกอบสำคัญภายในเซลล์

ข้อบ่งใช้ของยา Clotrimazole

ข้อบ่งใช้สำหรับติดเชื้อแคนดีด้าในช่องปากและลำคอ ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ยาในรูปแบบยาอม โดยยาอมหนึ่งเม็ดประกอบด้วยโคลไตรมาโซล ขนาด 10 มิลลิกรัม อมยาอมหนึ่งเม็ด วันละห้าครั้งเป็นเวลา 14 วัน ข้อบ่งใช้สำหรับป้องกันการติดเชื้อในผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ให้อมหนึ่งเม็ด วันละสามครั้งตลอดช่วงที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ข้อบ่งใช้สำหรับติดเชื้อราที่หูชั้นนอก ยาในรูปแบบยาหยอดหู ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ หยอดยาหยอดหูความเข้มข้น 1% ลงบริเวณที่มีการติดเชื้อรา ข้อบ่งใช้สำหรับติดเชื้อราที่ผิวหนัง ยาในรูปแบบยาทาผิวหนัง ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ป้ายยาความเข้มข้น 1% วันละสองถึงสามครั้ง เป็นเวลาสองถึงสี่สัปดาห์ อาจใช้ยาในรูปแบบผงแป้งความเข้มข้น 1% โรยเพื่อป้องกันการติดเชื้อราซ้ำ ข้อบ่งใช้สำหรับติดเชื้อแคนดีด้าในช่องคลอด ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ยาชนิดเม็ดสอดช่องคลอด สอดยาขนาด 100 มิลลิกรัม วันละครั้ง เป็นเวลาหกวัน หรือขนาด 200 มิลลิกรัม วันละครั้ง เป็นเวลาสามวัน หรือขนาด 500 มิลลิกรัม ใช้ครั้งเดียว หรือใช้ในรูปแบบยาครีมสำหรับป้าย ความเข้มข้น 1 2 หรือ 10% ป้ายบริเวณที่มีการติดเชื้อรา

ข้อปฏิบัติเมื่อลืมรับประทานยา Clotrimazole

หากลืมรับประทานยาตามเวลาปกติที่รับประทาน ถ้าปกติรับประทาน 1 เม็ด ให้รับประทานยาทันทีที่นึกได้จำนวน 1 เม็ดโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เม็ดแทนเม็ดที่ลืมรับประทาน ในกรณีลืมรับประทานยาใกล้กับเวลารับประทานถัดไป ให้รับประทานยาในมื้อถัดไปในขนาด 1 เม็ด โดยข้ามยาในมื้อที่ลืมไปและไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เม็ด

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Clotrimazole

การใช้ยา Clotrimazole อาจส่งผลให้ผู้ใช้ยาเกิดผลข้างเคียงบางอย่างได้ เช่น เกิดรอยแดงตามผิวหนัง คันผิวหนัง แสบร้อนผิวหนัง และเกิดแผลพุพอง ซึ่งผู้ใช้ยาควรแจ้งให้แพทย์ทราบ หากเกิดอาการเหล่านี้แล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง

แต่หากผู้ใช้ยาเกิดผลข้างเคียงเหล่านี้ ผู้ใช้ยาควรหยุดใช้ยาและรีบไปพบแพทย์ทันที

  • ปวดท้อง ท้องไส้ปั่นป่วน หรืออาเจียน
  • มีไข้
  • มีกลิ่นไม่พึงประสงค์จากช่องคลอด
  • มีอาการแพ้ยา เช่น หายใจลำบาก ลมพิษใบหน้าบวม ลิ้นบวม และริมฝีปากบวม

ข้อมูลการใช้ยา Clotrimazole ในสตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตร

สำหรับการใช้ยาในสตรีมีครรภ์ ยารับประทาน ตัวยาจัดอยู่ในกลุ่ม category C คือควรระมัดระวังการใช้ยาในสตรีมีครรภ์ สำหรับสตรีให้นมบุตร ควรระวังการใช้ยาและยาทาภายนอก จัดอยู่ในกลุ่ม category B คือยาค่อนข้างมีความปลอดภัยในการใช้ยาในสตรีมีครรภ์

ประเภทของยาตามองค์การอาหารและยา ประเทศไทย

(1) ยาจัดอยู่ในกลุ่มยาใช้ภายนอก
(2) ยาสำหรับรับประทานจัดอยู่ในกลุ่มยาอันตราย จำหน่ายเฉพาะในร้านขายยาแผนปัจจุบันที่มีเภสัชกรชั้นหนึ่งเป็นผู้จ่ายยาเท่านั้น

ข้อมูลการเก็บรักษายา Clotrimazole

เก็บที่อุณหภูมิต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียส

สิ่งที่ควรแจ้งแพทย์ เภสัชกร และพยาบาลในการสั่งใช้ยา

แพทย์และเภสัชกรสามารถให้ข้อมูลการใช้ยาอย่างปลอดภัย ผู้ป่วยควรแจ้งข้อมูลเหล่านี้แก่แพทย์หรือเภสัชกรเพื่อประโยชน์ต่อผู้ป่วยและลดความเสี่ยงในการเกิดอันตรายจากการใช้ยา

  • แจ้งข้อมูลการใช้ยารักษาโรคประจำตัว ยาที่เพิ่งรับประทานก่อนหน้านี้ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่รับประทาน (รวมถึงวิตามิน และสมุนไพร) ในกรณีมียาประจำตัวจำนวนมาก ให้พกยาเพื่อให้แพทย์หรือเภสัชกรช่วยตรวจสอบก่อนสั่งจ่ายยาใหม่ ไม่ให้เกิดอันตรกิริยาระหว่างยาที่จะได้รับใหม่และยาที่เดิมที่ผู้ป่วยใช้อยู่
  • แจ้งประวัติการแพ้ยา หรืออาการแพ้ที่เกิดขึ้นเมื่อใช้ยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือแพ้อาหารชนิดใดอยู่ (เนื่องจากยาบางชนิดมีส่วนประกอบของไข่ขาว นม ยีสต์) อาการที่เกิดขึ้น เช่น อาการบวม เกิดผื่น หายใจลำบาก หรือให้นำบัตรแพ้ยา พกติดตัวและแสดงบัตรนี้แก่แพทย์และเภสัชกรก่อนเข้าใช้บริการสุขภาพทุกครั้ง
  • แจ้งข้อมูลในกรณีที่มีการตั้งครรภ์ หรือมีแผนที่จะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เนื่องจากยาบางชนิดส่งผลอันตรายต่อเด็กในครรภ์ หรือสามารถขับออกทางน้ำนมได้
  • แจ้งข้อมูลที่จะส่งผลต่อการรับประทานยา เช่น มีปัญหาการกลืนลำบาก มีปัญหาด้านการมองเห็นหรืออ่านฉลากยา วิธีการรับประทานยา เพื่อแพทย์หรือเภสัชกรจะได้ช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง


แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– web pobpad
– web hdmall
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM

แชร์

สินค้าที่เกี่ยวข้อง

No results found.

ยังไม่มีบัญชี