เริมเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้แม้ว่าแผลของเริมจะหายดีแล้ว เนื่องจากเชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์จะยังคงหลบซ่อนอยู่ในปมประสาทและจะแสดงอาการอีกครั้งเมื่อระบบภูมิคุ้มกันต่ำลง ดังนั้น การรักษาเริมโดยส่วนใหญ่เน้นที่การบรรเทาอาการเจ็บปวดจากแผลเริม และการควบคุมความรุนแรงของอาการ ความถี่ของการเกิดอาการ รวมทั้งการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสนั่นเอง
ภาวะแทรกซ้อนของเริม (Herpes)
เริมสามารถทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้หลายประการ โดยส่วนใหญ่จะเป็นการติดเชื้อและการอักเสบต่าง ๆ โดยภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้มีดังนึ้
- การเกิดเริมที่นิ้ว (Herpes Whitlow) โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่มักมีพฤติกรรมอมหรือกัดนิ้วมือตัวเอง อาจทำให้เชื้อไวรัสแพร่ไปยังบริเวณนิ้วมือได้
- การเกิดปัญหาด้านการมองเห็น ในกรณีที่เกิดการติดเชื้อบริเวณดวงตา รวมถึงอาจทำให้ตาบอดได้
- การเกิดปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะ เนื่องจากเริมที่อวัยวะเพศอาจทำให้เกิดการอักเสบบริเวณรอบ ๆ ท่อปัสสาวะ และอาจทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถปัสสาวะได้ตามปกติ
- การติดเชื้อขณะคลอด ในกรณีของเด็กทารกที่คลอดจากมารดาที่ติดเชื้อเริมที่อวัยวะเพศ มีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อไวรัสในขณะคลอด และอาจส่งผลให้ทารกสมองเสียหาย ตาบอด หรือเสียชีวิตได้
- การติดเชื้อทางเพศอื่น ๆ โดยเฉพาะโรคเอดส์ เนื่องจากเริมที่อวัยวะเพศอาจทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงในการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์มากขึ้น
- การอักเสบของลำไส้ใหญ่ส่วนปลายหรือการอักเสบของเยื่อบุบริเวณทวารหนัก โดยเฉพาะในผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก อาจมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะนี้มากที่สุด
- การเกิดภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ แม้ว่าจะเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้น้อยมาก แต่การติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ก็อาจทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อหุ้มและน้ำไขสันหลังบริเวณรอบ ๆ สมองและไขสันหลัง และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
- ในผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องผิวหนังอักเสบอยู่แล้ว การติดเชื้อเริมที่ปากก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสที่เริมจะแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย ซึ่งถือเป็นกรณีที่อันตรายและควรได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุด
- ในผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เชื้อไวรัสสามารถส่งผลถึงอวัยวะอื่น ๆ อย่างสมองและไขสันหลัง ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ด้วย
ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเริมมักจากการดูแลทำความสะอาดแผลและตุ่มใสจากเริม ได้ไม่ดี เช่น ตุ่มน้ำพองที่แตกกลับไม่แห้ง แต่กลายเป็นหนอง และติดเชื้อแบคทีเรียได้ ในกรณีถ้าเป็นที่ผิวหนังบริเวณอื่น เช่น ขา จมูก ปาก ก็อาจะไม่อันตรายมาก แต่เกิดติดเชื้อบริเวณตา สามารถสร้างผลเสียต่อดวงตาได้ รุนแรงถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นหรือตาบอดได้เลยทีเดียว ในกรณีนี้แนะนำให้พบแพทย์ทันที และสำหรับในคุณแม่ตั้งครรภ์ การติดเชื้อเริมครั้งแรกส่งผลเสียร้ายแรงโดยสามารถทำให้ทารกในครรภ์เสียชีวิตได้โดยเฉพาะในช่วงท้ายของการตั้งครรภ์ อีกกรณีที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่เกิดได้น้อยมาก คือ ตัวผู้ป่วยมีภาวะภูมิต้านทานต่ำเป็นทุนเดิม อาจติดเชื้อที่บริเวณสมองหรือเยื่อหุ้มสมอง ส่งผลให้สมองอักเสบ ปวดศีรษะมาก อ่อนแรง ชักและอาจโคม่าได้
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– bangkoksafeclinic
– เว็บพบแพทย์
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM