ยา Furosemide (ฟูโรซีไมด์) ข้อมูล ข้อบ่งใช้ ผลข้างเคียง

Furosemide (ฟูโรซีไมด์) คือ ยาขับปัสสาวะชนิดหนึ่ง มีคุณสมบัติช่วยขับของเหลวส่วนเกินในร่างกายออกมาทางปัสสาวะ และช่วยป้องกันร่างกายไม่ให้ดูดซึมเกลือหรือโซเดียมมากจนเกินไป นอกจากนี้ ยาดังกล่าวยังใช้ลดอาการบวมน้ำซึ่งเป็นหนึ่งในอาการของภาวะหัวใจวาย โรคตับ โรคไต และโรคไตรั่ว (Nephrotic Syndrome) รวมถึงรักษาภาวะความดันโลหิตสูงได้อีกด้วย ยาชนิดนี้เป็นยาที่ต้องใช้ภายใต้คำสั่งของแพทย์เท่านั้น เพราะเป็นยาที่มีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก

รูปแบบของยา Furosemide 

รูปแบบยา Furosemide ที่มีวางจำหน่ายในประเทศไทย ได้แก่

  • ยาฉีด มีความแรงหลายระดับ ได้แก่ 10 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร, 20 มิลลิกรัมต่อ 2 มิลลิลิตร และ 250 มิลลิกรัมต่อ 25 มิลลิลิตร
  • ยาเม็ด ขนาด 40 มิลลิกรัม และแบบ High dose ขนาด 500 มิลลิกรัม

Furosemide ใช้รักษาโรคอะไรบ้าง 

  • ภาวะบวมน้ำ: ใช้ในการรักษาภาวะบวมน้ำที่เกิดจากปัญหาต่างๆ เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว, โรคตับ เช่น ตับแข็ง หรือโรคไตที่ทำให้มีการเก็บกักน้ำในร่างกาย ผู้ป่วยที่มีภาวะบวมน้ำมักมีอาการบวมตามขา ข้อเท้า หรือส่วนต่างๆ ของร่างกาย เนื่องจากน้ำสะสมมากเกินไป
  • ความดันโลหิตสูง: ใช้ในการรักษาความดันโลหิตสูงในบางกรณี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการรักษาด้วยยาลดความดันชนิดอื่นไม่เพียงพอ การขับน้ำและโซเดียมส่วนเกินออกจากร่างกายสามารถช่วยลดปริมาณของเหลวและลดความดันโลหิตได้
  • ภาวะหัวใจล้มเหลว: ช่วยลดการสะสมของน้ำในปอดและส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทำให้หัวใจสามารถทำงานได้ดีขึ้น ลดอาการหายใจลำบากและความรู้สึกเหนื่อย
  • โรคไตเรื้อรังและภาวะไตเสื่อม: ช่วยลดการเก็บกักน้ำและเกลือในร่างกาย ทำให้ลดอาการบวมน้ำและลดภาระการทำงานของไตได้ ใช้สำหรับผู้มีอาการไตเสื่อม
  • ภาวะโพแทสเซียมเกินในเลือด: บางครั้งถูกใช้เพื่อช่วยลดระดับโพแทสเซียมในเลือดในผู้ป่วยที่มีภาวะโพแทสเซียมเกิน ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการทำงานของไตที่ผิดปกติ

กลไกการออกฤทธิ์ของยา Furosemide

ยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดกลับของโซเดียมและคลอไรด์ที่บริเวณลูปออฟเฮนเล ส่วนขาขึ้น (Loop of henle คือท่อยาว ๆ ที่เป็นทางผ่านของปัสสาวะในหน่วยไต เมื่อปัสสาวะเดินทางผ่านท่อนี้ ลูปออฟเฮนเลจะคอยดูดและขับสารในปัสสาวะออก)

เพิ่มการขับออกของโพแทสเซียมและแอมโมเนีย ลดการขับออกของกรดยูริก เพิ่มการทำงานของเรนิน (Renin) นอร์อีพิเนปฟรีน (Norepinephrine) และอาร์จีนิน–วาโซเพรสซิน (Argenine–vasopressin) ในกระแสเลือด ซึ่งต่างก็เกี่ยวข้องกับการขับปัสสาวะออก

เรนิน (Renin) แองจิโอเทนซิน (Angiotensin) และอัลโดสเทอโรน (Aldosterone) เป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมความดันโลหิต ของเหลว และสมดุลอิเล็กโทรไลต์ โดยฮอร์โมนทั้ง 3 จะถูกกระตุ้นให้ทำงานเมื่อร่างกายมีความดันโลหิตต่ำ

ปริมาณการใช้ยา Furosemide

ชนิดฉีด

  • รักษาภาวะน้ำท่วมปอดแบบเฉียบพลัน

ผู้ใหญ่ เบื้องต้นให้ 40 มิลลิกรัม โดยให้อย่างช้า ๆ ติดต่อกัน 1-2 นาที หากไม่ตอบสนองต่อการรักษาภายใน 1 ชั่วโมง อาจเพิ่มยาเป็น 80 มิลลิกรัมโดยให้อย่างช้า ๆ ติดต่อกัน 1-2 นาที

ชนิดเม็ดรับประทาน

  • รักษาอาการบวมน้ำเนื่องจากหัวใจวาย

ผู้ใหญ่ เบื้องต้นรับประทานวันละ 40 มิลลิกรัม อาจสามารถลดลงเหลือวันละ 20 มิลลิกรัม หรือ 40 มิลลิกรัม วันเว้นวันได้ ตามความรุนแรงของอาการ ในบางกรณีที่ต้องให้ 80 มิลลิกรัม หรือมากกว่านั้น อาจต้องแบ่งรับประทานหลายครั้งต่อวัน

ผู้สูงอายุ เบื้องต้นรับประทาน 20 มิลลิกรัม จากนั้นปรับเพิ่มขนาดยาได้หากจำเป็น

  • รักษาความดันโลหิตสูง

ผู้ใหญ่ 40-80 มิลลิกรัมต่อวัน สามารถให้ควบคู่กับยารักษาความดันโลหิตสูง หรือใช้เพียงชนิดเดียวได้

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Furosemide

ยานี้มีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก ซึ่งมีทั้งที่เป็นอันตรายและไม่เป็นอันตราย หรือเกิดจากปฏิกิริยาของร่างกายที่มีต่อยา โดยผลข้างเคียงอาจเกิดขึ้นได้น้อยกับผู้ป่วย แต่ถ้าหากพบแล้วควรรีบไปพบแพทย์โดยทันทีได้แก่

  • เจ็บหน้าอก
  • หอบเหนื่อย
  • หนาวสั่น
  • ไอ และเสียงแหบ
  • ไข้ขึ้นสูง
  • มีอาการบวมของต่อมน้ำเหลือง
  • ปัสสาวะลำบาก หรือปัสสาวะไม่ออก
  • ปวดหลัง หรือบริเวณสีข้าง
  • ปวดศีรษะ
  • เหนื่อย หรืออ่อนแรงผิดปกติ
  • มีเลือดออกตามร่างกาย หรือมีรอบฟกช้ำที่ผิดปกติ

นอกจากนี้ ยังมีอาการที่เกิดจากการได้รับยาเกินขนาดซึ่งควรรีบไปพบแพทย์โดยทันทีที่มีอาการเหล่านี้

  • ปัสสาวะลดลง
  • มีอาการง่วงเหงาหาวนอน
  • หัวใจเต้นเร็วขึ้น หรือรู้สึกใจสั่น
  • การเต้นของหัวใจผิดปกติ
  • หงุดหงิด ฉุนเฉียว อารมณ์แปรปรวน
  • กล้ามเนื้อเกร็ง
  • มีอาการเหน็บชา เจ็บปวด หรือมีอาการอ่อนแรงที่มือ เท้าและริมฝีปาก
  • หายใจเร็ว
  • กระหายน้ำบ่อยผิดปกติ
  • ชีพจรเต้นเบา
  • ผิวหนังมีรอยย่น

การใช้ยา Furosemide อาจทำให้ร่างกายเกิดปฏิกิริยาตอบสนอง และก่อให้เกิดอาการเหล่านี้ ซึ่งเป็นอาการที่ไม่อันตราย ได้แก่

  • มีความรู้สึกไวต่อการเคลื่อนไหวของตนเองหรือรอบข้าง
  • มีผื่นลมพิษ
  • ผิวหนังอาจเกิดอาการแพ้แสงแดด จนทำให้เกิดแผลไหม้แดดอย่างรุนแรง
  • กล้ามเนื้อกระตุก
  • ผิวหนังแดง หรือมีสีที่เปลี่ยนแปลงไป
  • รู้สึกอยู่ไม่สุข
  • อาการบ้านหมุน
  • มีอาการอ่อนแรง

ทั้งนี้อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวแล้วจะหายไป แต่ถ้าหากอาการไม่ทุเลาลง หรือเป็นติดต่อกันนานผิดปกติ ควรรีบไปปรึกษาแพทย์โดยด่วนเพื่อความปลอดภัย

การใช้ยา Furosemide

  • ยา Furosemide เป็นยาที่ต้องใช้ภายใต้คำสั่งของแพทย์เท่านั้น ทั้งนี้ยาดังกล่าวใช้ในการขับปัสสาวะ เพื่อลดอาการบวมน้ำ และความดันโลหิตสูง ปริมาณการใช้จะขึ้นอยู่กับอาการของโรค ผู้ป่วยไม่สามารถเพิ่มหรือลดยาเองได้หากไม่ได้รับคำสั่งจากแพทย์ เพราะการใช้ยาในปริมาณที่มากเกินไปอาจเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยสูญเสียการได้ยินอย่างถาวร
  • Furosemide รับประทานได้ทั้งก่อนหรือหลังอาหาร และอาจทำให้ผู้ป่วยปัสสาวะบ่อยขึ้น และเสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำได้ง่าย ดังนั้นหากไม่ต้องการใช้ฤทธิ์ของยารบกวนการนอนหลับ ควรรับประทานยาก่อนเวลา 18.00 น. หากลืมรับประทานยาควรรีบรับประทานทันทีที่นึกได้ แต่ถ้าหากใกล้ถึงเวลารับประทานยาครั้งต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานยาในครั้งต่อไปโดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณยา
  • ในการใช้ยานี้ควรทำตามคำแนะนำแพทย์ และอาจต้องใช้อาหารเสริมโพแทสเซียม และควรรับประทานอาหารที่มีเกลือและโพแทสเซียมให้เพียงพอ นอกจากนี้ ในขณะใช้ยาผู้ป่วยจะเป็นจำต้องได้รับการตรวจเลือดเป็นระยะ เพื่อติดตามอาการ
  • สำหรับสตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทานยา Furosemide เนื่องจากยาชนิดนี้ส่งผลโดยตรงต่อทารกในครรภ์ ส่วนในสตรีที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร แม้จะไม่มีผลวิจัยได้ยืนยันว่ายาดังกล่าวส่งผลต่อทารกที่ได้รับน้ำนม แต่ยาดังกล่าวอาจส่งผลต่อคุณภาพของน้ำนมได้ ดังนั้นหากจำเป็นต้องใช้ยา ผู้ป่วยจะต้องได้รับทราบถึงประโยชน์และความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในจากการใช้ยา เพื่อให้ผู้ป่วยชั่งน้ำหนักและตัดสินใจถึงผลที่จะได้รับหากใช้ยานี้


แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– web pobpad
– web hdmall
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM

แชร์

สินค้าที่เกี่ยวข้อง

No results found.

ยังไม่มีบัญชี