อาการกระตุกขณะนอนหลับ (Hypnic Jerks) หรือบางครั้งก็เรียกว่าอาการเหมือนตกจากที่สูง ซึ่งในบางคนอาจจะมีการกระตุกรุนแรงถึงขั้น ฟาดแขน ฟาดขา หรืออาจจะกระตุกทั้งตัว ทำให้มีผลต่อการนอนหลับได้ ในทางการแพทย์มักจะเรียกกลุ่มอาการนี้ว่า Hypnic เป็นการกระตุกแบบ myoclonic ซึ่งเป็นการกระตุกของกล้ามเนื้อในร่างกายที่สามารถเกิดได้ในคนทั่วไป เช่น การสะอึกหรือการกระตุกของแขน ขา ตอนนอนหลับ โดยสามารถสันนิษฐานได้ว่าเกิดจากหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็น ความเครียด, วิตกกังวล, การอดนอน หรือจากโรคบางชนิด เช่น หลอดเลือดสมอง โรคไต
แต่ในทางการแพทย์ ก็สามารถอธิบายให้เข้าใจได้ในอีกแง่มุม จากงานศึกษาหลายชิ้นเชื่อว่า เกิดจากการที่ร่างกายกำลังเข้าสู่ช่วงหลับลึก กล้ามเนื้อเริ่มคลายตัวพร้อมๆกัน การหายใจเริ่มช้าลง แต่สมองกลับสับสนโดยคิดว่า ร่างกายกำลังอ่อนแรง ทั้งขา แขน ทำให้ไม่สามารถ ยืนหรือนั่งได้ปกติ จึงสั่งให้กลไกของร่างกายทำการป้องกันตัว คือ ทำให้กล้ามเนื้อเกร็งตัวและกระตุกอย่างรวดเร็ว ในบางครั้งสมองจึงสร้างความรู้สึกคล้ายกับอาการของการตกจากที่สูงนั่นเอง
ซึ่งอาการ Hypnic jerks นั้นก็สามารถเกิดได้ในคนทุกเพศ ทุกวัย ไม่ใช่อาการผิดปกติแต่อย่างใด แต่ถ้าเกิดใครที่มีอาการของ Hypnic jerks บ่อยครั้งจนมีผลต่อการนอนหลับก็ควรปรึกษาแพทย์เพราะอาจจะส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวได้
อาการที่อาจเกิดขึ้น จากอาการผวาตกจากที่สูงขณะหลับ
- กล้ามเนื้อบางส่วนของร่างกายกระตุก
- รู้สึกเหมือนกำลังตกลงจากที่สูง
- รู้สึกวูบ
- มีความฝันที่ทำให้รู้สึกกลัว ตกใจ หรือหรือทำให้กระโดด
- หัวใจเต้นเร็ว
- เหงื่อออก
- หายใจเร็ว
สาเหตุของการเกิดอาการผวาตกจากที่สูงขณะหลับ
ตามปกติแล้ว สาเหตุในการเกิดอาการผวาตกจากที่สูงขณะหลับนั้นอาจจะยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่ก็มีทฤษฎีบางอย่างที่คาดการณ์ว่า อาการนี้อาจจะมีสาเหตุมาจากปัจจัยดังต่อไปนี้
1.การออกกำลังกายดึกเกินไป การออกกำลังกายจะเป็นการกระตุ้นร่างกาย ดังนั้นการออกกำลังกายดึกเกินไป หรือออกในช่วงใกล้กับเวลาที่จะนอน จะทำให้กล้ามเนื้อของคุณถูกกระตุ้น ไม่ผ่อนคลาย และอาจทำให้เกิดอาการผวาตกจากที่สูงขณะหลับได้
2.สารกระตุ้น สารบางอย่างที่มีฤทธิ์กระตุ้นสมองและร่างกาย เช่น คาเฟอีน นิโคติน หรือยาบางชนิด อาจทำให้คุณนอนหลับได้ยาก หรือนอนหลับไม่สนิทได้
3.ความเครียดและความกังวล ความตึงเครียดและความกังวลที่สะสมอยู่อาจทำให้คุณไม่สามารถผ่อนคลายและนอนหลับได้อย่างสนิท ความเครียดเหล่านี้จะทำให้สมองของคุณตื่นตัวในช่วงเวลานอน และอาจทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อกระตุกขณะหลับได้
4.นอนหลับไม่เพียงพอ การนอนหลับพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ อาจนำไปสู่อาการผวาตกจากที่สูงขณะหลับได้

วิธีป้องกันอาการผวาตกจากที่สูงขณะหลับ
เนื่องจากอาการผวาตกจากที่สูงขณะหลับนั้นไม่ใช่โรค ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องทำการรักษาแต่อย่างใด แต่ในบางครั้ง อาการนี้ก็อาจรบกวนการนอนหลับ หรือทำให้คุณเกิดความรำคาญได้ไม่น้อย แต่โชคยังดีที่เราสามารถป้องกันการเกิดอาการผวาตกจากที่สูงขณะหลับได้อย่างง่ายๆ เพียงแค่ปรับไลฟ์สไตล์ดังต่อไปนี้
- ลดคาเฟอีน ลดปริมาณการบริโภคคาเฟอีนต่างๆ ทั้งกาแฟ ชา น้ำอัดลม โดยเฉพาะในช่วงเย็นและก่อนนอน นอกจากนี้ก็ควรลดสารกระตุ้นอื่นๆ เช่น แอลกอฮอล์ หรือนิโคติน ที่อาจทำให้นอนหลับไม่สนิทอีกด้วย
- อย่าออกกำลังกายก่อนนอน แม้ว่าการออกกำลังกายนั้นจะเป็นสิ่งที่ดี แต่การออกกำลังกายก่อนนอนจะเป็นการกระตุ้นร่างกายให้ตื่นตัว ทำให้ไม่สามารถข่มตานอนหลับได้ และอาจจะยิ่งเพิ่มโอกาสในการเกิดอาการกล้ามเนื้อกระตุกขณะหลับได้อีกด้วย ดังนั้นจึงควรออกกำลังกายในช่วงกลางวัน เพื่อให้ร่างกายได้มีเวลาในการผ่อนคลายก่อนจะเข้านอน
- ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แอลกอฮอล์มีฤทธิ์ทำให้ร่างกายมีระยะการนอนหลับที่ไม่สมบูรณ์ หรือที่เรียกว่านอนหลับไม่ลึก หลับไม่สนิท ผลที่ตามมาก็คือการรับรู้ถึงการกระตุกหรือการเคลื่อนไหวของร่างกายขณะนอนหลับมากขึ้น และพลอยให้สะดุ้งตื่นง่ายขึ้นไปด้วย นอกจากนี้ภาวะถอนแอลกอฮอล์ที่มักเกิดขึ้นเมื่อพยายามเลิกดื่มก็กระตุ้นให้กล้ามเนื้อตอบสนองด้วยการกระตุกได้เช่นกัน
- นอนให้เป็นเวลา การนอนหลับให้เป็นเวลา จะทำให้ร่างกายสามารถจดจำเวลาที่ควรนอน และช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายและลดความเครียดได้อีกมาก
- ปิดไฟนอน งานวิจัยพบว่า แสงจะกระตุ้นให้สมองมีความตื่นตัว และทำให้เรามีโอกาสนอนหลับไม่สนิทและตื่นได้ง่ายกว่า ดังนั้นจึงควรนอนในห้องที่มืดสนิท และปิดไฟนอน ทำให้ร่างกายสามารถผ่อนคลายได้อย่างเต็มที่ และลดโอกาสเกิดอาการผวาตกจากที่สูงขณะหลับ
- นั่งสมาธิก่อนนอน การนั่งสมาธิ กำหนดลมหายใจเข้าออกก่อนนอน จะช่วยทำให้จิตใจสงบ ลดความฟุ้งซ่านของสมอง ช่วยลดความเครียด และช่วยให้นอนหลับได้สนิทมากยิ่งขึ้น โดยพยายามนั่งสมาธินานอย่างน้อย 5 นาที ก่อนนอน
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– web nsm
– web sanook
– web primocare
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM