โปรตีนถือเป็นสารอาหารสำคัญอย่างหนึ่งที่จำเป็นต่อร่างกาย ซึ่งในร่างกายคนเรามีโปรตีนเป็นส่วนประกอบมากถึง 75% ของน้ำหนักตัว เนื่องจากโปรตีนเป็นส่วนประกอบหลักในกล้ามเนื้อ กระดูก ผิวหนัง เนื้อเยื่อ และอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย นอกจากเป็นสารอาหารที่สำคัญต่อกล้ามเนื้อแล้ว ยังจำเป็นต่อระบบการทำงานของร่างกายในด้านอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นส่วนสำคัญต่อกระบวนการเจริญเติบโต ช่วยลำเลียงสารอาหารเข้าสู่กระแสเลือด รักษาสมดุลความเป็นกรดและเบสของเลือด ป้องกันร่างกายติดเชื้อ และอื่น ๆ อีกมากมาย
การขาดโปรตีน เป็นภาวะที่เกิดขึ้นจากการที่ร่างกายได้รับโปรตีนในปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่ออวัยวะในร่างกายได้หลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อ ผิวหนัง เส้นผม กระดูก และเลือด โดยคนทั่วไปควรได้โปรตีนปริมาณ 1 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม นั่นเท่ากับว่าถ้าคุณมีน้ำหนัก 50 กิโลกรัม ก็ต้องได้รับโปรตีนในปริมาณ 50 กรัม นั่นเอง ซึ่งอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีนนั้นได้แก่ ไข่ นม โยเกิร์ต ไก่ ปลา อัลมอนด์ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ถั่วเหลือง เต้าหู้ เป็นต้น
9 สัญญาณของภาวะขาดโปรตีน
1.บวมน้ำ (Edema)
บวมน้ำ เป็นภาวะที่ผิวหนังเกิดอาการบวมจากการที่เนื้อเยื่อภายในร่างกายมีของเหลวสะสมอยู่มากเกินไป มักจะพบบริเวณท้อง ขา เท้า และมือ ผู้ที่มีภาวะขาดโปรตีนจะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะบวมน้ำ โดยมักเกิดจากการที่โปรตีนอัลบูมิน โปรตีนที่พบได้ในกระแสเลือดซึ่งจะช่วยป้องกันการสะสมของของเหลวในเนื้อเยื่อของร่างกายมีปริมาณที่ลดน้อยลง นอกจากนี้ ภาวะบวมน้ำยังเป็นภาวะที่ควรได้รับการตรวจจากแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เนื่องจากเป็นภาวะที่สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ
2.ภาวะไขมันพอกตับ (fatty liver)
คือภาวะที่มีการสะสมของไขมันในเซลล์ตับ ภาวะนี้อาจทำให้เกิดการอักเสบ แผลเป็นในตับ และอาจรุนแรงถึงขั้นตับล้มเหลวได้ มีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงของไมโครไบโอมในลำไส้ และเพอรอกซิโซมของเซลล์ตับ ซึ่งอาจนำไปสู่การสังเคราะห์โปรตีนที่ใช้ในการขนส่งไขมันที่มีประสิทธิภาพลดลง
3.เส้นผม เล็บ และผิวหนังเกิดอาการผิดปกติ
โปรตีนถือเป็นสารอาหารที่พบได้ทั่วร่างกาย รวมถึงเส้นผม เล็บ และผิวหนังด้วย การขาดโปรตีนจึงอาจส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติต่าง ๆ เกี่ยวกับเส้นผม เล็บ และผิวหนัง เช่น ผมบางลง ผมร่วง ผมขาดง่าย สีผมอ่อนลงหรือเปลี่ยนแปลงไป ผิวแห้ง ผิวลอกเป็นแผ่น เล็บเปราะ หรือเกิดเล็บเป็นคลื่นได้
4.สูญเสียมวลกล้ามเนื้อ
เนื่องจากกล้ามเนื้อเป็นแหล่งของโปรตีนที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย โดยปกติ เมื่อร่างกายได้รับโปรตีนในปริมาณที่ไม่เพียงพอ ร่างกายจะนำโปรตีนที่สะสมไว้ในกล้ามเนื้อลาย (Skeletal Muscles) มาใช้แทน การขาดโปรตีนเป็นระยะเวลานานจึงอาจส่งผลให้กล้ามเนื้อมีขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ ได้ โดยเฉพาะในผู้สูงวัย

5.อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
โปรตีนถือเป็นส่วนประกอบสำคัญหนึ่งของฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นส่วนประกอบของเม็ดเลือดแดง และมีหน้าที่สำคัญในการลำเลียงออกซิเจนไปยังอวัยวะบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย
การขาดโปรตีนจึงอาจส่งผลให้อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายมีออกซิเจนไปเลี้ยงน้อยลง ในกรณีรุนแรงอาจนำไปสู่อาการอ่อนเพลีย หายใจไม่อิ่ม หรือเกิดภาวะโลหิตจางได้
6.ป่วยบ่อย
โปรตีนถือเป็นส่วนสำคัญหนึ่งของแอนติบอดี้ ซึ่งเป็นโปรตีนที่ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อช่วยป้องกันร่างกายจากสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแบคทีเรีย ไวรัส หรือสารพิษต่าง ๆ การขาดโปรตีนจึงอาจส่งผลให้ร่างกายเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น
7.หิวบ่อย
โปรตีนถือเป็น 1 ใน 3 ของแหล่งพลังงานหลักของร่างกาย ซึ่งเมื่อร่างกายขาดโปรตีน กลไกในร่างกายจะกระตุ้นให้รู้สึกอยากอาหารมากขึ้น อีกทั้งยังมีงานวิจัยที่พบว่า ผู้ที่ขาดโปรตีนมักมีแนวโน้มที่จะอยากอาหารเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
8.เพิ่มความเสี่ยงต่อการหักของกระดูก
เนื่องจากมีรายงานที่ระบุว่าผู้ที่บริโภคโปรตีนมากจะมีความหนาแน่นของกระดูกสะโพกและกระดูกสันหลังสูงกว่าผู้ที่บริโภคโปรตีนน้อยถึง 6% นอกจากนี้ยังพบอุบัติการณ์ของกระดูกหักมากกว่าในผู้ที่บริโภคโปรตีนปริมาณน้อยหลังจาก 5 ปีที่เก็บข้อมูลอีกด้วย
9.เพิ่มความรุนแรงของการติดเชื้อ
เนื่องจากโปรตีนเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้าง antibodies ของเซลล์เม็ดเลือดขาวในระบบภูมิคุ้มกัน
วิธีป้องกันภาวะขาดโปรตีน
โปรตีนเป็นสารอาหารที่ร่างกายไม่สามารถเก็บสะสมเอาไว้ได้ เนื่องจากร่างกายมีการสลายโปรตีนและขับโปรตีนออกทุกวันตามธรรมชาติ แต่หากต้องการที่ป้องกัน ภาวะขาดโปรตีน สามารถทำได้ด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่มีโปรตีนเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน ยกตัวอย่างเช่น ไข่, นม, เนื้อสัตว์, อาหารทะเล, ถั่วเหลือง, ถั่วเขียว, ข้าวโอ๊ต, เต้าหู้ เป็นต้น
แต่สำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพอย่างปัญหาโรคไขมันในเลือดสูงและปัญหาโรคความดันโลหิตสูง จะต้องระวังเกี่ยวกับการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง อย่างเช่น เนื้อสัตว์ติดหนัง, กุนเชียง, หมูยอ และหากมีการรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูงมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อร่างกายเช่นเดียวกัน โดยไตอาจทำงานหนักมากขึ้น ดังนั้นสำหรับผู้สูงอายุแล้วแนะนำเลือกรับประทานอย่างพอเหมาะ เพื่อความปลอดภัยสามารถปรึกษาแพทย์ร่วมด้วยได้
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– มหาวิทยาลัยมหิดล คณะเภสัชศาสตร์
– web mgronline
– web pobpad
– web samh
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM