ยา แลนโซพราโซล (Lansoprazole)ข้อมูล ข้อบ่งใช้ ผลข้างเคียง

ยาแลนโซพราโซล (Lansoprazole) เป็นยาในกลุ่มโปรตอน-ปั๊ม อินฮิบิเตอร์ (Proton-pump inhibitor) มีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งกรด (ยาลดกรด) ในกระเพาะอาหาร บริษัทยาหลายแห่งได้ผลิตยานี้ออกจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าที่หลากหลายอย่างเช่น Prevacid ซึ่งลิขสิทธิ์ได้สิ้นสุดในปี ค.ศ. 1995 (พ.ศ. 2538) และมีวางจำหน่ายในร้านขายยาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ยาแลนโซพราโซลมีข้อบ่งใช้อยู่หลายประการเช่น ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้รวมถึงแผลในทางเดินอาหารที่เกิดจากการใช้ยากลุ่ม NSAIDs นอกจากนี้ยังใช้ร่วมรักษาแผลในกระเพาะอาหารจากโรคติดเชื้อเอชไพโลไรโดยต้องใช้ควบคู่ไปกับยาปฏิชีวนะบางตัวเช่น Amoxicillin 1,000 มิลลิกรัม และ Clarithromycin 500 มิลลิกรัม มีระยะเวลาของการใช้ยาปฏิชีวนะอยู่ประ มาณ 10 – 14 วัน

ยาแลนโซพราโซลมีวางจำหน่ายในรูปแบบยารับประทานและชนิดฉีด หลังการรับประทานตัวยาจะถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้มากกว่า 80% ตัวยาในกระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 97% ตับจะเป็นอวัยวะที่คอยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีของยานี้ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 1 – 1.5 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

ยาแลนโซพราโซลไม่สามารถบรรเทาอาการแสบร้อนกลางอกเนื่องจากมีกรดมากได้ทันที ผู้ป่วยต้องรับประทานยานี้ไปสักระยะหนึ่งจึงจะพบว่าอาการป่วยดีขึ้นเป็นลำดับ

มีข้อห้ามและเงื่อนไขบางประการที่ผู้บริโภคควรทราบก่อนการใช้ยาแลนโซพราโซลอาทิ

  • ห้ามผู้ป่วยไปซื้อยานี้มารับประทานเองโดยไม่มีคำสั่งแพทย์
  • อาการต่างๆที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่ควรต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยานี้เช่น แสบร้อนกลางอกมาเป็นเวลามากกว่า 3 เดือนแล้ว น้ำหนักตัวลด คลื่นไส้ อาเจียน และปวดท้องมาตลอดก่อนมาพบแพทย์
  • การรับประทานยานี้เป็นเวลานานเกินไปหรือรับประทานในปริมาณมากเกินไปอาจเป็นเหตุให้กระดูกหักได้ง่ายโดยเฉพาะกับผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป
  • ถึงแม้ยานี้มีข้อสรุปจากห้องทดลองว่าไม่ทำอันตรายต่อทารกในครรภ์ก็จริง แต่ผู้ป่วยควรต้องแจ้งแพทย์ทุกครั้งว่าตนเองอยู่ในสถานะตั้งครรภ์หรือไม่ รวมถึงต้องไม่ใช้ยากับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา
  • กรณีที่ผู้ป่วยได้รับยาแลนโซพราโซลชนิดออกฤทธิ์นาน ห้ามเคี้ยว หักยา หรือบดยา ให้รับประทานยานี้โดยกลืนพร้อมน้ำดื่มอย่างปกติ
  • หากผู้ป่วยไม่สามารถกลืนยาแคปซูลชนิดออกฤทธิ์นานได้ ให้แกะแคปซูลและละลายผงยาลงในโยเกิร์ตแล้วกลืนทันที หรืออาจละลายยาผสมในน้ำแอปเปิ้ล น้ำส้ม หรือน้ำมะเขือเทศ จากนั้นดื่มจนหมด แล้วเติมน้ำผลไม้ในแก้วเดิม คนเบาๆแล้วดื่มจนหมดอีกครั้ง
  • กรณีที่ผู้ป่วยได้รับยานี้มาเป็นเวลานานกว่า 3 ปีขึ้นไปอาจทำให้ร่างกายขาดวิตามินบี 12 ได้

สำหรับระยะเวลาของการใช้ยาแลนโซพราโซลในการรักษาแผลในกระเพาะอาหาร-ลำไส้(แผลเปบติค) จะมีความแตกต่างกันออกไปเช่น การรักษาแผลในลำไส้เล็กโดยใช้ยาแลนโซพราโซลชนิดออกฤทธิ์นาน ผู้ป่วยอาจรับประทานยาในระยะสั้นเพียง 4 สัปดาห์ก็จะเพียงพอทำให้อาการปวดของแผลในลำไส้หายเป็นปกติ ในขณะที่ต้องใช้เวลาถึง 8 สัปดาห์เพื่อรักษาอาการของแผลในกระเพาะอาหาร หรือใช้ยาแบบออกฤทธิ์นานบำบัดอาการกรดไหลย้อนต้องใช้เวลาในการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง 8 สัปดาห์ขึ้นไป

ปกติการใช้ยาแลนโซพราโซลแบบออกฤทธิ์นานโดยมีการควบคุมดูแลจากแพทย์อย่างต่อเนื่องจะใช้ยานี้ไม่เกิน 12 เดือน

ยาแลนโซพราโซลสามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) เหมือนกับยาอื่นทั่วไป เช่น ท้องเสีย ปวดท้อง คลื่นไส้ รวมถึงอาการข้างเคียงที่อาจเกิดต่อระบบทำงานของอวัยวะต่างๆของร่างกายอีกหลายประการ ดังนั้นการใช้ยานี้ได้อย่างปลอดภัยและเหมาะสมควรต้องใช้ยาตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น

แลนโซพราโซลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร

ยาแลนโซพราโซลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น

  • รักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ (Duodenal and gastric Ulcer/Peptic ulcer)
  • รักษาภาวะกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease)
  • ใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะในการรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหารกรณีมีการติดเชื้อ Helicobactor pylori
  • รักษากลุ่มอาการโรคโซลลิงเจอร์-เอลลิสัน (Zollinger-Ellison syndrome, กลุ่มอาการที่เกิดจากกระเพาะอาหารหลั่งกรดมากจากได้รับฮอร์โมนกระตุ้นการหลั่งกรด [ของกระเพาะอาหาร]ที่สร้างจากเนื้องอกของตับอ่อนชนิดที่เซลล์เนื้องอกสร้างฮอร์โมนกระตุ้นการหลั่งกรดฯ)
  • รักษาแผลในกระเพาะอาหารที่เกิดจากการใช้ยากลุ่ม NSAIDs
  • ป้องกันการเกิดแผลในลำไส้เล็ก
  • ป้องกันการเกิดแผลในอวัยวะระบบทางเดินอาหารอันมีสาเหตุจากยา NSAID

แลนโซพราโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร

กลไกการออกฤทธิ์ของยาแลนโซพราโซลคือ ตัวยาจะเข้ายับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่ชื่อว่า Hydrogen/potassium adenosine triphosphatase ซึ่งอยู่ภายในเซลล์ผนังกระเพาะอาหารโดย มีชื่อว่า Gastric parietal cells ทำให้การแลกเปลี่ยนไฮโดรเจนไอออน (Hydrogen ion) กับโพแทส เซียมไอออน (Potassium ion) ของ Gastric parietal cell เปลี่ยนแปลงจากเดิม และส่งผลให้การหลั่งกรดของกระเพาะอาหารลดน้อยลงในที่สุด

แลนโซพราโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร

ยาแลนโซพราโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น

  • ยาแคปซูลชนิดรับประทานแบบออกฤทธิ์นานขนาด 15 และ 30 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • ยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 15 และ 30 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาฉีดขนาด 30 มิลลิกรัม

แลนโซพราโซลมีขนาดรับประทานอย่างไร

ยาแลนโซพราโซลมีขนาดรับประทานขึ้นกับชนิดและความรุนแรงของอาการ/ของโรค ขนาดรับประทานจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไปตัวอย่างเช่น

ก. รักษาแผลในกระเพาะอาหาร:
ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป รับประทาน 30 มิลลิกรัมวันละครั้งก่อนอาหารเช้าประมาณ 30 นาทีเป็นเวลา 4 – 8 สัปดาห์
ข. รักษาแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น:
ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป รับประทาน 15 มิลลิกรัมวันละครั้งก่อนอาหารเช้าประมาณ 30 นาทีเป็นเวลา 4 สัปดาห์
ค. รักษากรดไหลย้อน:
ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป รับประทาน 15 มิลลิกรัมวันละครั้งก่อนอาหารเช้าประมาณ 30 นาทีเป็นเวลา 8 สัปดาห์
ง. รักษาแผลที่หลอดอาหาร:
ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป รับประทาน 30 มิลลิกรัมวันละครั้งก่อนอาหารเช้าประมาณ 30 นาที กรณีรับประทานยานี้ไม่ได้ให้หยดยานี้เข้าหลอดเลือดดำ 30 มิลลิกรัมโดยใช้เวลาในการให้ยา 30 นาทีขึ้นไปเป็นเวลา 8 สัปดาห์

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาแลนโซพราโซล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแลนโซพราโซลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร

หากลืมรับประทานยาแลนโซพราโซลสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาแลนโซพราโซลตรงเวลา

แลนโซพราโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น มีอาการท้องเสียหรือท้องผูก ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ตับอ่อนอักเสบ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น เกิดอาการปวดศีรษะ วิงเวียน การพูดจาไม่ชัดเจน
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดอาการผื่นคัน
  • ผลต่ออวัยวะตับ: เช่น มีภาวะตับเป็นพิษ/ตับอักเสบ
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น เยื่อจมูกอักเสบ ไอ มีอาการคล้ายไข้หวัด
  • ผลต่อภาวะทางจิต: เช่น มีอาการซึมเศร้า หรือไม่ก็วิตกกังวล
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น เกิดภาวะเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ มีภาวะหัวใจล้ม เหลว มีความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ต่ำ

มีข้อควรระวังการใช้แลนโซพราโซลอย่างไร

มีข้อควรระวังการใช้ยาแลนโซพราโซลเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคตับระยะรุนแรง ผู้ที่มีเกลือแมกนีเซียมในเลือดอยู่ในระดับต่ำ ผู้ที่มีภาวะกระดูกพรุน
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งแพทย์
  • ห้ามรับประทานยานี้เกินขนาดที่แพทย์สั่งหรือปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
  • หลังการรับประทานยานี้แล้วพบมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง ถ่ายเหลวเป็นน้ำมีเลือดปน เกิดภาวะชัก ปัสสาวะถี่/บ่อย มีเลือดปนในปัสสาวะ และ/หรือตัวบวม ต้องรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • กรณีที่เกิดภาวะเกลือแมกนีเซียมในเลือดต่ำกว่าปกติหลังจากใช้ยานี้ซึ่งจะสังเกตได้จากอาการชี้นำเช่น รู้สึกวิงเวียน สับสน หัวใจเต้นเร็ว มีภาวะตัวสั่น ไอ เป็นตะคริวที่มือและเท้า ให้หยุดการใช้ยานี้ทันทีแล้วรีบพาผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน
  • ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคไต
  • มาตรวจร่างกาย/มาโรงพยาบาลตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

แลนโซพราโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร

ยาแลนโซพราโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • ห้ามใช้ยาแลนโซพราโซลร่วมกับยาต้านไวรัสอย่าง Atazanavir, Nelfinavir ด้วยฤทธิ์ลดการหลั่งกรดของยาแลนโซพราโซลจะทำให้การดูดซึมของยาต้านไวรัสดังกล่าวลดต่ำลงและส่งผลต่อการรักษาของผู้ป่วยโรคเอชไอวี (HIV)
  • การใช้ยาแลนโซพราโซลร่วมกับยา Citalopram อาจทำให้ระดับยา Citalopram ในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้นจนทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงต่างๆจากยา Citalopram ตามมา กรณีที่จำเป็น ต้องใช้ยาร่วมกันแพท์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยาแลนโซพราโซลร่วมกับยาที่มีธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบด้วยจะทำให้การดูดซึมของธาตุเหล็กลดต่ำลง กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันอาจเว้นระยะเวลาการรับประทานยาทั้ง 2 ชนิดให้ห่างกันอย่างเหมาะสมตามคำแนะนำของแพทย์/พยาบาล/เภสัชกร

ควรเก็บรักษาแลนโซพราโซลอย่างไร

ควรเก็บยาแลนโซพราโซลในช่วงอุณหภูมิ 15 – 30 องศาเซลเซียส (Celsius) เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์


แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– haamor.com
– เว็บพบแพทย์
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM

แชร์

ยังไม่มีบัญชี