โรคลิชมาเนีย (Leishmaniasis)

หากพูดถึงโรคเขตร้อนที่พบได้ในหลายประเทศทั่วโลก หนึ่งในโรคที่ยังไม่ค่อยมีคนรู้จักมากนักคือ โรคลิชมาเนีย (Leishmaniasis) โรคนี้เกิดจากปรสิตที่ชื่อว่า Leishmania ซึ่งถูกส่งผ่านมายังมนุษย์โดยการกัดของ ริ้นฝอยทราย (Sandfly) แม้จะดูเหมือนไม่อันตราย แต่โรคนี้สามารถลุกลามและรุนแรงได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม

สาเหตุของลิชมาเนีย

Leishmaniasis มักเกิดจากการถูกริ้นฝอยทรายที่เป็นพาหะของเชื้อชนิดนี้กัด โดยตัวริ้นอาจได้รับเชื้อมาจากการกัดสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ที่ติดเชื้อ นอกจากนั้น ผู้ป่วยอาจติดเชื้อจากการเปลี่ยนถ่ายเลือดที่มีเชื้อหรือการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อได้เช่นกัน

โดยผู้ที่อยู่ในกลุ่มต่อไปนี้ อาจเสี่ยงเป็นโรคลิชมาเนียสูงกว่าคนทั่วไป

  • ผู้ที่อาศัยอยู่หรือเคยเดินทางไปบริเวณที่มีสภาพอากาศร้อนชื้นหรือกึ่งร้อนชื้น โดยเฉพาะในแถบเอเชีย ยุโรป แอฟริกา และอเมริกาใต้
  • ผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนยากไร้ หรือมีภาวะขาดแคลนอาหาร
  • ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีผู้อพยพเข้าเมืองมาเป็นจำนวนมาก
  • ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ อย่างผู้ติดเชื้อเอชไอวี

การวินิจฉัย

ในขั้นแรก แพทย์จะสอบถามถึงอาการผิดปกติที่พบ รวมถึงซักประวัติการเดินทางและถิ่นที่อยู่อาศัยของผู้ป่วย หากประเมินแล้วว่ามีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ แพทย์อาจวินิจฉัยด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม เพื่อยืนยันสาเหตุของอาการป่วยและตรวจหาสายพันธุ์ของเชื้อที่พบในร่างกาย โดยอาจขูดแผลเพื่อนำตัวอย่างเซลล์ไปตรวจดูดีเอ็นเอหรือสารพันธุกรรมของเชื้อปรสิตหากสงสัยว่าติดเชื้อโรคลิชมาเนียที่ผิวหนัง หรือหากมีอาการเข้าข่ายโรคลิชมาเลียที่อวัยวะภายใน แพทย์จะตรวจดูลักษณะของตับและม้าม จากนั้นอาจเจาะเอาเนื้อเยื่อไขกระดูกไปส่งตรวจ หรือตรวจเลือดเพื่อดูแอนติบอดี้ที่ผิดปกติด้วย

การรักษา

ยารักษามีทั้งชนิดทาแผล รับประทาน และฉีด แต่ยาประเภทหลังมีอาการข้างเคียงค่อนข้างรุนแรงต่อผู้ป่วยซึ่งต้องอยู่ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของแพทย์ในโรงพยาบาล ชื่อยารักษา เช่น เพนตะวาเลนท์แอนติโมเนียล (Pentavalent Antimonials), เพนทามิดีน(Pentamidine), พาโรโมมัยซิน ซัลเฟต (Paromomycin sulfateSulfate), มิเลทโฟซีน (Miletefosine)คีโทโคนาโซล (Ketoconazole)

การป้องกันลิชมาเนีย

ในปัจจุบันยังไม่มียาหรือวัคซีนชนิดใดที่สามารถป้องกันโรคนี้ได้ ดังนั้น ผู้ที่จำเป็นต้องเดินทางไปในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการติดโรคจึงควรป้องกันตัวริ้นฝอยทรายกัดตามคำแนะนำ ต่อไปนี้

  • สวมเสื้อแขนยาว กางเกงยายาว ถุงเท้า และเก็บชายเสื้อไว้ในกางเกง
  • ทายากันยุงหรือยากันแมลงที่ผิวทั้งบริเวณนอกร่มผ้าและในร่มผ้า 
  • หลีกเลี่ยงการออกนอกที่พักในเวลาพลบค่ำและรุ่งเช้า
  • ใช้ยาฆ่าแมลงฉีดในที่พักอาศัยก่อนเข้าพัก
  • อาศัยอยู่ในที่พักที่มีประตู หน้าต่าง และมุ้งลวดปิดมิดชิด
  • กางมุ้งก่อนเข้านอนเสมอ โดยตรวจดูให้แน่ใจว่ามุ้งไม่มีรูที่ตัวริ้นสามารถลอดเข้ามาได้

สรุป :

โรคลิชมาเนียอาจเป็นโรคที่ถูกมองข้าม แต่มีผลกระทบต่อชีวิตอย่างรุนแรงได้หากไม่ระวัง การรู้เท่าทันและป้องกันตั้งแต่ต้นจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะแม้โรคนี้จะพบมากในบางภูมิภาค แต่ในยุคของการเดินทางที่ไร้พรมแดน การตระหนักรู้ก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน

     หากท่านมีปัญหาสุขภาพ หรือต้องการปรึกษาการใช้ผลิตภัณฑ์และการใช้ยาอย่างถูกวิธี สามารถเข้ามาปรึกษาได้ที่หน้าร้านขายยาจุฬาลักษณ์เภสัชทุกสาขา หรือใช้บริการให้คำปรึกษา ช่องทางออนไลน์ได้ทุกช่องทางของเรานะคะ


แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– โชติช่วง พนโสภณกุล. การวินิจฉัยโรคลิชมาเนีย (Leishmaniasisdiagnosis) : ริ้นฝอยทรายและโรคลิชมาเนีย
– ธีรยุทธ สุขมี. การติดเชื้อลิชมาเนียร่วมกับเชื้อเอชไอวี.2553. 1-30 (เอกสารยังไม่เผยแพร่)
– ธีรยุทธ สุขมี. โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ในประเทศไทย. 2553: 1-30 (เอกสารยังไม่เผยแพร่)


เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM

แชร์

สินค้าที่เกี่ยวข้อง

No results found.

ยังไม่มีบัญชี