รอบเดือนของสาว ๆ ส่วนใหญ่จะมาแค่เดือนละครั้ง แต่จู่ ๆ ก็มีเลือดคล้ายประจำเดือนไหลออกมาอีกครั้ง ลักษณะเหมือนเป็นประจำเดือน 2 ครั้งต่อเดือนผิดปกติหรือไม่ การที่ประจำเดือนมา 2 ครั้งต่อเดือน ถือเป็นความผิดปกติของร่างกาย ที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน ดังนี้
1.ฮอร์โมนไม่คงที่
สำหรับวัยรุ่นที่เพิ่งจะเป็นประจำเดือนในช่วงแรก ๆ ร่างกายอาจยังผลิตฮอร์โมนและรังไข่ยังมีการตกไข่ที่ไม่เต็มที่ ดังนั้นก็อาจทำให้ประจำเดือนมา 2ครั้งต่อเดือน หรือมีภาวะประจำเดือนผิดปกติได้ ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป 1-2 ปี ฮอร์โมนและการตกไข่จะเริ่มคงที่ อาการประจำเดือนมา 2 ครั้งต่อเดือน หรืออาการประจำเดือนมาไม่ปกติก็น่าจะหายไป หากยังคงเป็นประจำเดือน 2 รอบต่อเดือน หรือยังคงมีอาการประจำเดือนผิดปกติในช่วงปีที่ 4-5 ตั้งแต่เป็นประจำเดือนครั้งแรก ก็ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อหาสาเหตุต่อไป
2.ระยะรอบเดือนสั้น
ปกติแล้วผู้หญิงจะมีระยะรอบเดือนประมาณ 21-35 วัน หรือ 28 วันโดยเฉลี่ย แต่ในบางคนอาจมีระยะรอบเดือนสั้นกว่านั้น คือ 14-15 วัน ดังนั้นจึงอาจเป็นไปได้ที่รอบเดือนจะมา 2 ครั้ง ใน 1 เดือน ซึ่งถ้ารอบเดือนมา 2 ครั้งต่อเดือนโดยไม่มีอาการผิดปกติอะไร เช่น ปวดท้องหนักมาก ประจำเดือนมามาก(เปลี่ยนผ้าอนามัยเกิน 5 แผ่นต่อวัน) ก็ถือว่าไม่ผิดปกติ
3.ไข่ไม่ตก
ภาวะไข่ไม่ตกจะส่งผลให้ร่างกายไม่สร้างฮอร์โมนเพศมาเปลี่ยนผนังเยื่อบุมดลูก ทำให้เยื่อบุมดลูกลอกออกมาเป็นประจำเดือนได้ไม่หมดในครั้งเดียวเลือดประจำเดือนซึ่งมาจากเยื่อบุโพรงมดลูกลอกตัวก็จะไหลออกมา 2 ครั้งใน 1 เดือนได้ โดยจะห่างกันประมาณ 2 สัปดาห์ ซึ่งช่วงที่เยื่อบุโพรงมดลูกลอกตัวจะมีเลือดออกมาเล็กน้อย ประมาณ 1-2 วัน แต่ไม่ถือว่าผิดปกติ สาเหตุที่ไข่ไม่ตกอาจจะมาจากภาวะเครียด การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอหรือภาวะอ้วนเกินไป ผอมเกินไป ออกกำลังกายหนักมากเกินไป ก็เป็นปัจจัยทำให้ฮอร์โมนในร่างกายผิดปกติจนส่งผลให้ไข่ไม่ตกนั่นเอง

4.เริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์
ประจำเดือนอาจมาไม่ปกติในช่วงแรก ๆ ที่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ได้ เช่น มาไม่กี่เดือนแล้วหยุดไป หรือประจำเดือนมา 2 ครั้งต่อเดือน แต่เมื่อร่างกายปรับตัวได้แล้วประจำเดือนก็จะกลับมาเป็นปกติ
5.อาการก่อนวัยหมดประจำเดือน
ระดับฮอร์โมนจะค่อนข้างแปรปรวน และส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติได้ โดยในบางเดือนอาจมาน้อย ประจำเดือนขาดไปหลายเดือน หรือประจำเดือนมา 2 ครั้งต่อเดือนเลยก็ได้
6.ยาคุมกำเนิด
สำหรับคนที่กินยาคุมกำเนิดแผงแรกหรือแผ่นแปะคุมกำเนิดครั้งแรก อาจมีอาการเลือดออกกะปริบกะปรอย หรือบางคนอาจมีภาวะฮอร์โมนไม่คงที่ จนทำให้เป็นประจำเดือน 2 ครั้งต่อเดือนได้ หรือคนที่กินยาคุมฉุกเฉินก็อาจมีเลือดออกกะปริบกะปรอยด้วยเช่นกัน แต่ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัย ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรว่าอาการเลือดออกผิดปกติของเราอันตรายไหม
7.ความเครียด
ในคนที่เครียดมาก ๆ จะทำให้ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลในร่างกายสูงกว่าปกติ ซึ่งจะส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติได้เช่นกัน
8.ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ
ต่อมไทรอยด์จะเป็นตัวควบคุมการทำงานฮอร์โมนในร่างกาย ถ้าหากต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติก็จะส่งผลต่อระบบสืบพันธ์ และทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติได้เช่นกัน
9.น้ำตัวเพิ่ม หรือลดอย่างรวดเร็ว
อาจส่งผลให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายแปรปรวน และทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติได้
10.ความผิดปกติภายในของผู้หญิง
การที่มีเลือดออกผิดปกติ อย่างเป็นประจำเดือน 2 ครั้งต่อเดือน อาจเกิดจากเยื่อบุมดลูกผิดปกติ ปากมดลูกอักเสบ ช่องคลอดอักเสบ ภาวะท้องนอกมดลูกแท้งบุตร เนื้องอก หรือมะเร็งก็เป็นได้ โดยสาว ๆ ควรจะสังเกตอาการเลือดออกผิดปกติของตัวเองให้ดี หากเลือดที่ออกมาจากช่องคลอดมีกลิ่นเหม็นมากมีอาการเจ็บที่ปากมดลูกร่วมด้วย เป็นประจำเดือนนานเกิน 7 วัน หรือมีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ ควรไปพบสูตินรีแพทย์เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยโดยเร็วที่สุด
ลักษณะอาการแบบไหนที่ควรพบแพทย์
โดยทั่วไปแล้ว ประจำเดือนแต่ละรอบจะมีระยะห่างประมาณ 24-38 วัน หากสาว ๆ ประจำเดือนมาเร็ว หรือช้ากว่านี้ หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย ให้ถือว่ามีอาการผิดปกติ และควรไปพบคุณหมอเพื่อตรวจหาสาเหตุ ยกตัวอย่างเช่น
- ประจำเดือนมามากกว่า 7 วัน
- ในระหว่างวันต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก ๆ ชั่วโมง หรือมากกว่า 5 แผ่นขึ้นไป
- ต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยในระหว่างที่นอนหลับตอนกลางคืน
- ประจำเดือนมามาก แม้ว่าอายุจะเข้าสู่เลข 5 หรือใกล้วัยทองแล้วก็ตาม
- ประจำเดือนมาเยอะ พร้อมกับมีเลือดขนาดใหญ่กว่าหนึ่งเหรียญบ้าน
- มีเลือดออกในช่วงที่ไม่เป็นประจำเดือน
- ประจำเดือนขาดมากกว่า 3 ครั้งในรอบปี 1 ปี
- มีเลือดออกหลังจากที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนแล้ว
จะเห็นได้ว่า ประจำเดือนมา 2 ครั้งต่อเดือน เกิดได้จากหลายสาเหตุมาก ซึ่งมีทั้งสาเหตุที่ไม่เป็นอันตราย หากดูแลสุขภาพร่างกายของตัวเองอย่างเหมาะสมก็จะทำให้ประจำเดือนกลับมาเป็นปกติได้ และสาเหตุจากความผิดปกติของอวัยวะต่าง ๆ ในระบบสืบพันธุ์ ที่เมื่อเป็นแล้วจะต้องได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ไม่อย่างนั้นจะทำให้อาการรุนแรงขึ้นจนเป็นอันตรายต่อร่างกายได้
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– web ppat.or.th
– web happybirthclinic
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM