ทำความรู้จัก โรคเล็บสะเก็ดเงิน 

โรคสะเก็ดเงินที่เล็บ (Nail psoriasis) เป็นอาการหนึ่งของโรคสะเก็ดเงินที่เจอได้บ่อย ลักษณะคือ คนไข้จะมีเล็บที่ขรุขระ เป็นหลุม และมีฐานเล็บแยกจากตัวเล็บ หรือ เล็บร่น ตัวเล็บมีสีออกเหลือง ซึ่งเล็บเป็นโปรตีนที่มีความแข็งแรงมาก การเปลี่ยนแปลงของเล็บสะเก็ดเงินจึงเกิดขึ้นอย่างช้าๆ และมักเป็นพร้อมๆกันหลายๆเล็บ โดยทั่วไปแพทย์มักไม่ได้ดูแค่เล็บ เพื่อที่จะบอกว่าเป็นสะเก็ดเงินหรือไม่ แต่จะดูผิวหนังทั่วร่างกาย รวมถึงหนังศีรษะด้วย เพราะโรคสะเก็ดเงินเป็นโรคเกิดจากความผิดปกติหลายระบบ บางคนอาจมีปวดข้อ ปวดกระดูกร่วมด้วย

อาการแสดงของโรคสะเก็ดเงินที่เล็บเกิดได้จากสองตำแหน่งคือ  

1.ตำแหน่งแรกอาจเกิดขึ้นที่ใต้โคนเล็บที่มีเนื้อเยื่อตัวสร้างเล็บ (Nail matrix disease) หากรอยโรคเกิดที่ตัวสร้างเล็บแล้ว เล็บที่งอกออกมาอาจพบรอยหลุม, ร่องขวาง, เล็บแยกชั้น, เล็บขรุขระไม่เรียบ, หรืออาจพบจุดขาวที่เล็บได้  

2.ตำแหน่งที่สองหากรอยโรคสะเก็ดเงินเกิดขึ้นที่ฐานเล็บ (Nail bed) เล็บที่งอกออกมา อาจมีลักษณะหนาและแข็ง, ,มีแผ่นเล็บไม่ติดกับฐานเล็บ, มีจุดเลือดออกใต้เล็บ, หรืออาจพบวงคราบสีเหลืองหรือสีส้มที่เล็บ 

การวินิจฉัยโรคเล็บสะเก็ดเงิน

การวินิจฉัยโรคสามารถให้การวินิจฉัยจากลักษณะของเล็บที่ผิดปกติดังกล่าวข้างต้น ร่วมกับการมีรอยโรคสะเก็ดเงินที่อื่น ๆ ของร่างกาย หากรอยโรคไม่ชัดเจน สามารถยืนยันการวินิจฉัยด้วยการตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิสภาพเพิ่มเติม  การวินิจฉัยแยกโรค ควรแยกออกจากโรคอื่น ๆ ที่เล็บ เช่น เชื้อราที่เล็บ และภาวะการอักเสบของเล็บชนิดอื่น ๆ เช่น trachyonychia และ lichen planus

วิธีการรักษาโรคเล็บสะเก็ดเงิน

สะเก็ดเงินที่เล็บ เป็นโรคที่รักษาค่อนข้างยาก อาจต้องใช้การรักษาร่วมกันหลายวิธี ได้แก่

1.หลีกเลี่ยงการชนหรือการกระแทกซ้ำๆที่ปลายเล็บ

2.ใช้ยาทา ซึ่งมีอยู่สองกลุ่มคือ สเตียรอยด์ และ Vitamin D analogue (Calciprotriene)

3.ฉีดยาสเตียรอยด์เข้าใต้เล็บ

4.ยากินมักใช้ในรายที่เป็นมาก หรือมีอาการทางระบบอื่นๆร่วมด้วย ยาที่นำมาใช้ ได้แก่ acitretin, methotrexate, cyclosporine หรือยากลุ่ม biologics

5. เลเซอร์ชนิด pulsed dye laser จากการศึกษาพบว่าได้ผลค่อนข้างดี ต้องทำเดือนละครั้งติดต่อกัน 3-5 ครั้ง

โรคสะเก็ดเงินที่เล็บ เป็นโรคที่รักษาค่อนข้างยาก มีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้ ดังนั้นคำแนะนำสำหรับการดูแลเบื้องต้นด้วยตนเอง คือ

  • ควรหลีกเลี่ยงการชนหรือการกระแทกซ้ำ ๆ ที่เล็บเนื่องจากอาจกระตุ้นให้ตัวโรคเป็นมากขึ้น
  • ควรทาครีมให้ความชุ่มชื้นที่มือและเล็บบ่อย ๆ และสม่ำเสมอ
  • ควรหลีกเลี่ยงการทำเล็บ แต่งเล็บ
  • ควรตัดเล็บให้สั้น
  • ควรใส่ถุงมือ เมื่อต้องใช้มือทำงานบ้าน
  • หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสสารเคมี และตัวทำละลายโดยตรง


แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– โรงพยาบาลจุฬารัตน์9 แอร์พอร์ต
– เว็บไซต์ เมดีคอล ไทม์
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM

แชร์

สินค้าที่เกี่ยวข้อง

No results found.

ยังไม่มีบัญชี