สารนิโคติน กับสุขภาพ

นิโคติน ( Nicotine) เป็นสารประกอบอัลคาลอยด์ชนิดหนึ่ง ไม่มีสี   ซึ่งพบในต้นยาสูบทุกสายพันธุ์ และความเข้มข้นจะมีมากในใบยาสูบมากกว่าส่วนอื่นๆ   เมื่อนำใบยาสูบมาตากแห้งแล้ว จะมีนิโคตินประกอบอยู่ 0.3-5% ของน้ำหนักทั้งหมด    ปฏิกิริยาทางชีวเคมีจะเกิดขึ้นที่รากของต้น และเปลี่ยนมาสะสมที่ใบ นิโคตินมีฤทธิ์เป็นพิษกับระบบประสาท และถือเป็นยาฆ่าแมลงอย่างหนึ่ง   แต่ถ้าได้รับในจำนวนไม่มาก จะก่อให้เกิดการกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง   แต่ถ้าได้รับในจำนวนมาก อาจจะถึงตายได้ โดยเมื่อได้รับมากถึงจำนวนหนึ่ง จะเปลี่ยนจากการกระตุ้นสมองเป็นการกดสมอง  พบว่าปริมาณของนิโคตินที่ 40-60 mg สามารถทำให้ถึงตายได้  ดังนั้นนิโคตินจึงจัดว่าเป็นสารที่มีพิษอย่างมากเมื่อเทียบกับสารเสพติดชนิดอื่น

สารนิโคติน ยังสามารถพบได้ในพืชจำพวกอื่นอีกคือ พืชตระกูล Solanaceae (nightshade) ได้แก่ มะเขือเทศ, มันฝรั่ง, มะเขือม่วง, พริกไทยเขียว และในใบของต้น Coca แต่พบว่ามีจำนวนเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับน้ำหนัก

ลักษณะทางเคมีของนิโคติน ( Nicotine) 

นิโคติน ( Nicotine) เป็นสารที่มีลักษณะเป็นน้ำมัน แต่สามารถดูดซับและละลายในน้ำได้ สามารถทะลุผ่านผิวหนังของคนและสัตว์ได้ง่าย และระเหยได้ง่ายที่อุณหภูมิห้อง เนื่องจากนิโคตินเป็นสารประกอบไนโตรเจนที่เป็นเบส จึงสามารถทำปฏิกิริยากับกรดได้เป็นเกลือนิโคตินซึ่งมีสภาพเป็นของแข็งที่ละลายน้ำได้ เนื่องจากนิโคตินในรูปของเบสอิสระจะสามารถถูกเผาไหม้และระเหยไปได้ที่อุณหภูมิ 95 องศาเซลเซียส ดังนั้นนิโคตินที่อยู่ในบุหรี่จึงสามารถระเหยไปได้เมื่อถูกเผาไหม้ 

ผลิตภัณฑ์รูปแบบใดที่มีสารนิโคติน
บุหรี่, ซิการ์, ซิกาแรตต์ , แบบแผ่นแปะผิวหนัง (transdermal), แบบเคี้ยวคล้ายหมากฝรั่ง (chewing gum) ซึ่ง 2 แบบหลังใช้สำหรับรักษาผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ (nicotine replacement therapy) ในยานัตถุ์, ยาเส้น

วิธีรับนิโคตินเข้าสู่ร่างกาย
      – สูบ (smoking) (เช่น บุหรี่ เป็นซิการ์ (cigar ) หรือ ซิการ์แร็ตส์ (cigarettes), ผสมกับสารอื่นเช่น กัญชา เฮโรอีน แล้วมวนเหมือนซิการ์แร็ตส์แล้วสูบ
      – สูด (snuff) เช่น ยานัตถุ์
      – เคี้ยว (chewing) เช่น หมากฝรั่ง, ยาเส้น
      – แปะที่ผิวหนัง (transdermal)

การดูดซึมนิโคติน ( Nicotine)

นิโคตินจะถูกดูดซึมทางผิวหนังและเยื่อเมือกที่บุผิวเช่นที่ในปากและในจมูก หรือการสูดดมทางปอด ปริมาณของนิโคตินและความรวดเร็วที่ร่างกายได้รับจะขึ้นอยู่กับวิธีการเสพ โดยการสูดควันพบว่าจะได้รับนิโคตินเป็นปริมาณที่มากและเร็วกว่าวิธีอื่นๆ

เภสัชวิทยาของนิโคติน
นิโคตินออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทเมื่อเสพในขนาดที่ต่ำๆจะกระตุ้นระบบประสาททำให้รู้สึกมีความสุข แต่ถ้าเสพในขนาดสูงนิโคตินจะมีผลต่อระบบประสาทที่ไปควบคุมระบบฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการหลั่งสาร โดยเฉพาะนิโคตินจะไปเพิ่มสารโดปามีน (dopamine) ในสมองและสารอื่นๆในร่างกายอีกด้วย เมื่อเสพนิโคตินแล้วผลที่แสดงออกทางร่างกายที่พบก็คือ ทำให้หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง เกิดการทนต่อยาทำให้ต้องการเสพยาในปริมาณที่เพิ่มขึ้น และเมื่อหยุดยาจะทำให้เกิดการถอนยา

พิษของนิโคติน

  • อาการพิษเฉียบพลัน
    • เมื่อสูดดมอาจมีอาการแสบร้อนคล้ายถูกไฟไหม้ คลื่นไส้อาเจียน ชัก ซึ่งอาจนำมาสู่การหายใจล้มเหลวได้ ปวดท้อง ท้องเสีย ปวดศีรษะ เหงื่อออกมาก อ่อนเพลีย มึนงง สับสน อาจมีผื่นแดงที่ผิวหนัง รู้สึกปวดแสบปวดร้อนเหมือนไฟไหม้ แสบตา ตาแดง นอกจากนี้นิโคตินยังสามารถทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งระบบประสาทส่วนกลาง

  • อาการพิษในระยะยาว
    • จากการทดลองในสัตว์พบว่าการได้รับนิโคตินในระยะยาวจะมีผลต่อเซลล์สืบพันธุ์ของมนุษย์ และสามารถทำให้ทารกในครรภ์ผิดปกติได้

ความเป็นพิษของนิโคติน
นิโคตินมีค่า ld=60 mg. ซึ่งค่า ld นี้เป็นตัวที่บ่งบอกว่านิโคตินเป็นสารที่มีอันตรายสูง ในขณะที่ซิการ์มีสารนิโคตินอยู่ถึงมวนละ 100-120 mg. เนื่องจากในต่างประเทศได้เห็นว่านิโคตินมีอันตรายมากและขณะเดียวกันมีการเสพสูงขึ้นมากในหมู่วัยรุ่นจึงได้ทำการพิจารณาและออกกฎใหม่เพื่อที่จะควบคุมสารตัวนี้ให้เข้มงวดมากขึ้น 


นิโคตินสามารถเสพติดหรือไม่
นิโคตินสามารถเสพติดได้ โดยเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่จัดหรือผู้ที่ได้รับนิโคตินรูปแบบอื่นๆ ในปริมาณที่ค่อนข้างสูงและ/หรือเป็นเวลานาน การติดนิโคตินนั้น เมื่อติดแล้วสามารถเลิกได้ยากอีกด้วย จากการศึกษาข้อมูลเมื่อเร็วๆนี้ พบว่านิโคตินสามารถทำลายสมองได้  ซึ่งเป็นต้นเหตุให้พฤติกรรมของผู้เสพเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากสมองเป็นส่วนที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะ และควบคุมการแสดงออกของพฤติกรรมต่างๆ สมองแต่ละส่วนควบคุมส่วนต่างและหน้าที่ต่างๆแตกต่างกันออกไป  ดังนั้นเมื่อนิโคตินทำลายสมองส่วนใดของผู้เสพจะทำให้อวัยวะหรือพฤติกรรมที่สมองส่วนนั้นๆ ควบคุมอยู่เกิดการเปลี่ยนแปลงไป

การควบคุมตามกฎหมาย
บุหรี่ -พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 10 พ.ศ. 2545
นิโคตินในรูปแปะและรูปที่เคี้ยวคล้ายหมากฝรั่ง -พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ยา (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาควบคุมพิเศษ ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2534


แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– โรงพยาบาลเปาโล
– วิกิพีเดีย
– สำนักงานกรรมการอาหารและยา
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM

แชร์

สินค้าที่เกี่ยวข้อง

No results found.

ยังไม่มีบัญชี