เชื่อว่าคนติดบุหรี่เกือบทุกคนรู้ถึงภัยอันตรายของบุหรี่ แต่ด้วยสารนิโคตินที่อยู่ในบุหรี่ สามารถผ่านเข้าสู่สมองในเวลาเพียง 7 วินาที จากนั้นนิโคตินจะถูกทยอยดูดซึมเข้าสู่ร่างกายและทำปฏิกิริยาต่อสมอง ทำให้รู้สึกอยากสูบต่อไปอีกเรื่อยๆ หากไม่ได้สูบบุหรี่ระดับนิโคตินเริ่มลดต่ำลงส่งผลให้รู้สึกหงุดหงิด อารมณ์เสีย บางรายอาจถึงขั้นทำลายข้าวของหรือทำร้ายร่างกายตนเองหรือผู้อื่น
ควันบุหรี่มีสารเคมีและสารพิษรวมกันมากกว่า 4,000 ชนิด ซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบทำงานต่างๆ ในร่างกาย รวมถึงมีสารก่อมะเร็งมากกว่า 60 ชนิด โดยเฉพาะมะเร็งปอด และมะเร็งช่องปาก ทั้งนี้ยังพบว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้สูบบุหรี่เสียชีวิต คือโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงโรคหลอดเลือดสมอง
แผ่นแปะนิโคติน ถือเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาผู้ที่มีอาการติดบุหรี่ โดยเป็นทางเลือกที่ค่อนข้างสะดวกต่อผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ เนื่องจากใช้งานง่าย เพียงแค่แปะลงบนผิวหนังและรอให้แผ่นแปะทำงานเท่านั้น แต่แผ่นแปะนิโคตินอาจไม่สามารถใช้ได้กับผู้ที่มีอาการติดบุหรี่ทุกคน รวมถึงยังมีข้อควรระวังบางอย่างที่ควรทราบก่อนการใช้งานเพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย
แผ่นแปะนิโคตินคืออะไร
แผ่นแปะนิโคตินเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเป็นแผ่นบาง ๆ ใช้สำหรับแปะติดลงบนผิวหนัง แผ่นแปะนิโคตินจะทำงานโดยการปล่อยนิโคตินในปริมาณน้อยเข้าสู่ร่างกายอย่างช้า ๆ เพื่อช่วยให้ร่างกายค่อย ๆ ปรับตัว และลดความต้องการสูบบุหรี่ รวมถึงช่วยบรรเทาความรุนแรงของอาการถอนบุหรี่ที่มักเกิดขึ้นเมื่อผู้ที่ติดบุหรี่หยุดสูบบุหรี่
แผ่นแปะนิโคตินจะมีความเข้มข้นที่แตกต่างกัน เช่น 10 มิลลิกรัม 15 มิลลิกรัม และ 25 มิลลิกรัม โดยแต่ละแบบจะปล่อยปริมาณนิโคตินที่แตกต่างกัน ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้กำหนดปริมาณและระยะเวลาการใช้ที่เหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการติดบุหรี่ของผู้ป่วย
แผ่นแปะนิโคตินใช้ได้กับทุกคนหรือไม่
เนื่องจากแผ่นแปะนิโคตินอาจไม่เหมาะสำหรับผู้ที่ติดบุหรี่ทุกคน ดังนั้น ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงจากการใช้แผ่นแปะนิโคตินต่อไปนี้ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนเพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย
- อายุต่ำกว่า 18 ปี
- กำลังตั้งครรภ์ อยู่ในระหว่างให้นมบุตร หรือเกิดการตั้งครรภ์ระหว่างใช้แผ่นแปะนิโคติน
- มีประวัติแพ้เทปกาว หรือป่วยเป็นโรคผิวหนังบางชนิด เช่น โรคสะเก็ดเงิน
- ป่วยเป็นโรคหัวใจ หรือมีปัญหาที่เกี่ยวกับหัวใจ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตสูง เจ็บหน้าอก หรือมีประวัติเกิดโรคหลอดเลือดสมอง หรือหัวใจขาดเลือด
- มีปัญหาทางด้านสุขภาพบางชนิด เช่น ไทรอยด์เป็นพิษ เนื้องอกต่อมหมวกไตชนิดฟีโอโครโมไซโตมา โรคตับ โรคไต เบาหวาน มีแผลในกระเพาะอาหาร โรคลมชัก หรือโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงชนิดมัยแอสทีเนีย เกรวิส
- กำลังใช้ยาบางชนิด เช่น ยาเลิกบุหรี่ชนิดอื่น ยารักษาโรคความดันสูง ยารักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ยารักษาโรคที่เกี่ยวกับทางเดินอาหาร ยาขับปัสสาวะ อินซูลิน พาราเซตามอล คาเฟอีน ยาอิมิพรามีน (Imipramine) โอแลนซาปีน (olanzapine) โคลมิพรามีน (clomipramine) ฟลูว็อกซามีน (fluvoxamine) ยาทิโอฟิลลีน (Theophyline) รวมไปถึงอาหารเสริมและวิตามินต่าง ๆ
นอกจากนี้ ผู้ที่ใช้แผ่นแปะนิโคตินที่ต้องเข้ารับการตรวจเอ็มอาร์ไอ (MRI Scan) ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนทุกครั้ง เนื่องจากแผ่นแปะนิโคตินบางชนิดอาจมีส่วนผสมที่อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการผิวไหม้ขณะเข้ารับการตรวจเอ็มอาร์ไอได้
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– web โรงพยาบาลสมิติเวช
– web pobpad
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM