ยาออเฟเนดรีน (Orphenadrine) หรือที่ทุกคนรู้จักในชื่อการค้าว่า ยานอร์เจสิก/นอร์จีสิก (Norgesic) นี้ ถูกสังเคราะห์ขึ้นในประเทศแถบยุโรป และถูกใช้อย่างแพร่หลายในอเมริกา วง การแพทย์มักนำยานี้มาใช้รักษาอาการปวดกล้ามเนื้อ อีกทั้งทำให้กล้ามเนื้อคลายตัวและผ่อนคลาย รูปแบบยาที่ถูกเตรียมขึ้นมีทั้งเป็นชนิดเม็ด ยาน้ำ และยาฉีด ซึ่งมีหลายขนาด แต่ในประ เทศไทย รูปแบบยาเม็ดจะพบเห็นเป็นที่แพร่หลายมากที่สุด
ข้อบ่งใช้
Orphenadrine (ออเฟเนดรีน) เป็นยาคลายกล้ามเนื้อที่นำมาใช้รักษาภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง และกลุ่มอาการพาร์กินโซนิซึม (Parkinsonism) โดยทั่วไปนำมาใช้ร่วมกับการพักผ่อนและการทำกายภาพบำบัดเพื่อรักษาการบาดเจ็บหรืออาการเจ็บปวดที่กล้ามเนื้อ และอาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์
รูปแบบยา
ยาออเฟเนดรีน มีให้เลือกใช้ในรูปแบบและฤทธิ์ยาดังต่อไปนี้ ได้แก่
- ยาเม็ดออกฤทธิ์นาน
- ยาฉีด
- ยาผง
กลไกการออกฤทธิ์
ยาออเฟเนดรีน ออกฤทธิ์ต่อการทำงานของสารสื่อประสาทบางชนิดในสมอง และส่งผลให้กล้ามเนื้อลายของร่างกายมีภาวะผ่อนคลาย และลดอาการตึงตัว จนเป็นเหตุให้ลดภาวะเจ็บ ปวดของกล้ามเนื้อลงได้
ปริมาณการใช้ยา Orphenadrine
ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้
กล้ามเนื้อหดเกร็ง
ผู้ใหญ่ : รับประทานยา Orphenadrine Citrate ปริมาณ 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง หากเป็นยาฉีด ให้ฉีดยาเข้าทางกล้ามเนื้อหรือหยดยาเข้าทางหลอดเลือดปริมาณ 60 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง

พาร์กินโซนิซึม
ผู้ใหญ่ : รับประทานยา Orphenadrine HCl ปริมาณเริ่มต้น 150 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานหลายครั้ง และอาจเพิ่มปริมาณยาครั้งละ 50 มิลลิกรัม ทุก 2-3 วัน โดยขึ้นอยู่กับการตอบสนองของยา ส่วนปริมาณยาสำหรับควบคุมอาการ ให้รับประทานยา 150-300 มิลลิกรัม/วัน ปริมาณสูงสุดไม่เกิน 400 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานหลายครั้ง
ข้อควรระวังในการใช้ยา
- ห้ามใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามใช้ยากับผู้ป่วยด้วย โรคต้อหิน โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคต่อมลูกหมากโต ภาวะกระเพาะปัสสาวะอุดตัน เพราะอาจจะทำให้มีอาการรุนแรงมากขึ้น
- ระวังการใช้ยากับผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ผู้ที่มีภาวะเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Orphenadrine
การใช้ยา Orphenadrine อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย เช่น ง่วงซึม เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ปากแห้ง ท้องผูก เป็นต้น แต่หากพบผลข้างเคียงที่รุนแรงดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
- อาการแพ้ยา เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก หน้าบวม คอบวม ลิ้นบวม และริมฝีปากบวม เป็นต้น
- วิงเวียน คล้ายจะหมดสติ
- ปัสสาวะลำบากหรือมีอาการเจ็บขณะปัสสาวะร่วมด้วย ปัสสาวะน้อย หรือไม่ปัสสาวะ
- วิตกกังวล สับสน กระสับกระส่าย สั่น เห็นภาพหลอน
- ใจสั่น
นอกจากนี้ หากผู้ป่วยพบอาการผิดปกติใด ๆ เพิ่มเติม ควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเช่นกัน
การเก็บรักษา
สามารถเก็บยาออเฟเนดรีน ในอุณหภูมิห้องได้ ควรต้องเก็บให้พ้นแสงแดดและความชื้น และต้องเก็บยาให้พ้นมือเด็กเสมอ
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– webhellokhunmor
– web haarmor
– web pobpad
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM