Pernicious Anemia คือ ภาวะที่ร่างกายไม่สามารถสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ดีได้เพียงพอ เพราะขาดวิตามินบี 12 อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ หรืออาเจียนได้ ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น รับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 12 น้อยเกินไป ร่างกายขาดโปรตีนบางชนิดที่มีหน้าที่ดูดซึมวิตามินบี 12 หรือเป็นผลมาจากโรคอื่น เป็นต้น โดยการรักษาในปัจจุบันสามารถทำได้โดย ฉีดวิตามินบี 12 เข้าสู่ร่างกาย รับประทานร่วมกับอาหารที่มีวิตามินบี 12 หรือรับประทานอาหารเสริม เป็นต้น ทั้งนี้ หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีอาจส่งผลกระทบต่อระบบประสาทและสมองได้
วิตามินบี 12 มีหน้าที่สำคัญในการสร้างเม็ดเลือดเยื่อบุ และระบบประสาท เมื่อขาดวิตามินบี 12 จะทำให้มีภาวะโลหิตจางที่เม็ดเลือดแดงมีขนาดใหญ่ผิดปกติ อาจพบมีภาวะเจ็บลิ้น ลิ้นเลี่ยนและชาบริเวณปลายมือปลายเท้าได้
สาเหตุของการขาดวิตามินบี 12
- วิตามินบี 12 ไม่สามารถดูดซึมได้ จากโรคภูมิต้านทานตนเองต่อสารที่ช่วยในการดูดซึมวิตามินบี 12 (intrinsic factor)
- ผ่าตัดกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสารที่ช่วยในการดูดซึมวิตามินบี 12
- ขาดโปรตีนอินทรินสิค (Intrinsic Factor) ที่ช่วยดูดซึมวิตามินบี 12 ซึ่งเป็นโปรตีนที่สร้างจากกระเพาะอาหาร โดยสาเหตุของการขาดโปรตีนชนิดนี้ส่วนใหญ่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกายไปทำลายเซลล์ที่มีหน้าที่สร้างโปรตีนชนิดดังกล่าว จึงทำให้ร่างกายดูดซึมวิตามินบี 12 ไม่ได้
- ผ่าตัดลำไส้เล็กส่วนปลาย ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ดูดซึมวิตามินบี 12
- ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง ทำให้ขาดเอนไซม์ในการช่วยดูดซึมวิตามินบี 12
- โรคลำไส้เล็กอักเสบเรื้อรัง ทำให้ดูดซึมวิตามินบี 12 ไม่ได้
- รับประทานมังสาวิรัต เนื่องจากวิตามินบี 12 อยู่ในอาการประเภทเนื้อสัตวและผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์เท่านั้น
อาการของการขาดวิตามินบี 12
- อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
- ซีดจากภาวะโลหิตจาง
- เจ็บลิ้น ทานอาหารรสจัดไม่ได้
- เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
- ซึมเศร้า
- หลงลืมง่ายสมองเสื่อม
- ชาปลายมือปลายเท้า
- มือหรือเท้าเย็น
หากร่างกายของผู้ป่วยมีวิตามินบี 12 ต่ำเป็นเวลานาน อาจมีผลกระทบต่อระบบประสาทจนเกิดอาการต่าง ๆ เช่น สับสน ฉุนเฉียวง่าย มีปัญหาด้านการใช้สมาธิ รู้สึกชาหรือเสียวซ่าบริเวณมือหรือเท้า เห็นภาพหลอน เป็นโรคหลงผิด โรคซึมเศร้า สูญเสียความจำ หรือประสาทตาฝ่อ เป็นต้น
การวินิจฉัยภาวะโลหิตจางจากการขาดวิตามินบี 12
เมื่อพบโลหิตจางที่เม็ดเลือดแดงมีขนาดใหญ่ผิดปกติ อาจพบเม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดต่ำลงได้เล็กน้อย ลักษณะเม็ดเลือดขาวนิวโทรฟิลด์มีขนาดใหญ่ที่มีจำนวนหยักของนิวเคลียสมากขึ้นผิดปกติ แพทย์จะสืบค้นเพิ่มเติมโดยตรวจระดับวิตามินบี 12 ในเลือดว่ามีระดับต่ำผิดปกติหรือไม่หากตรวจไขกระดูกซึ่งเป็นที่ผลิตเม็ดเลือดแดง จะพบเม็ดเลือดแดงตัวอ่อนที่มีขนาดใหญ่และนิวเคลียสอ่อนผิดปกติได้

การรักษาภาวะโลหิตจางจากการขาดวิตามินบี 12
หากภาวะขาดวิตามินบี 12 เกิดจากการดูดซึมที่ผิดปกติ การรักษาจำเป็นต้องให้วิตามินบี 12 โดยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือหลอดเลือดดำ หากการดูดซึมวิตามินบี 12 ที่ผิดปกตินี้ไม่สามารถแก้ไขได้ เช่นได้รับการผ่าตัดกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็ก ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับวิตามินบี 12 ฉีดทุกเดือนในระยะยาว แต่หากขาดวิตามินบี 12 จากการทานได้น้อยโดยเฉพาะผู้ที่รับประทานมังสาวิรัต สามารถรักษาโดยการให้รับประทานวิตามินบี 12 เสริมได้
ภาวะแทรกซ้อนของโลหิตจางเหตุขาดวิตามินบี 12
ภาวะแทรกซ้อนของ Pernicious Anemia มักเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยมีภาวะดังกล่าวเป็นมีเวลานาน อีกทั้งภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นอาจคงอยู่แบบถาวรได้ โดยมีตัวอย่าง ดังนี้
- เกิดติ่งเนื้อในกระเพาะอาหารซึ่งอาจพัฒนาเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารได้ในภายหลัง
- กระดูกหักได้ง่ายกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะบริเวณหลัง ต้นขา หรือต้นแขน
- เกิดปัญหาขึ้นกับระบบประสาทและสมอง อย่างมีรู้สึกชาหรือเสียวซ่าบริเวณมือหรือเท้า มีอาการสับสน หรือมีผลกระทบต่อความจำ
- อาจทำให้ผู้หญิงที่ไปตรวจมะเร็งปากมดลูก (Pap Smear) ได้รับผลออกมาไม่ตรงกับความเป็นจริง
การป้องกันโลหิตจางเหตุขาดวิตามินบี 12
การป้องกัน Pernicious Anemia ขึ้นอยู่กับสาเหตุของภาวะดังกล่าว หากเกิดจากการขาดโปรตีนอินทรินสิค ผู้ป่วยจะไม่สามารถป้องกันภาวะดังกล่าวได้ เพราะร่างกายไม่มีโปรตีนที่คอยดูดซึมวิตามินบี 12 เข้าสู่ร่างกาย
หาก Pernicious Anemia เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 12 ไม่เพียงพอ อาจป้องกันได้โดยรับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 12 สูง เช่น เนื้อสัตว์ปีก เนื้อปลา เนื้อวัว ตับ ไข่ ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมวัว หรืออาหารเสริมที่มีวิตามินบี 12 เป็นต้น หากเป็นผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติ ควรปรึกษาแพทย์เรื่องการรับประทานอาหารเสริม นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ที่เคยเข้ารับการผ่าตัดกระเพาะอาหาร หรือผู้สูงอายุที่มีปัญหาเกี่ยวกับการดูดซึมวิตามินชนิดดังกล่าวให้รับประทานอาหารเสริมที่มีวิตามินบี 12 อีกด้วย
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย
– web pobpad
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM