วัณโรคเป็นหนึ่งในโรคที่คุ้นหูคนไทยแต่ก็ยังมีคนอีกมากที่ไม่ทราบว่า วัณโรคเป็นโรคติดต่อที่อันตรายและน่ากลัวมากแค่ไหน แต่วัณโรคก็ไม่ใช่โรคที่สกปรกหรือน่ารังเกียจเพราะเป็นโรคท้องถิ่นที่พบได้โดยทั่วไปในประเทศไทย เป็นโรคที่ทุกคนไม่ว่าใครก็สามารถเป็นได้เหมือนกัน แต่ก็สามารถรักษาให้หายได้เช่นกันค่ะ
สาเหตุของวัณโรคปอด คืออะไร
โดยทั่วไปแล้ว วัณโรคปอด Pulmonary Tuberculosis มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium tuberculosis ที่ทำให้เกิดโรค ที่รับผ่านกันมาจากละอองฝอยทางอากาศ วัณโรคเป็นโรคติดต่อ แต่ก็ไม่ได้ติดกันง่าย ๆ ซึ่งหมายความว่า ผู้ป่วยมีแนวโน้มที่จะติดโรคจากคนใกล้ชิดหรือคนที่ทํางานด้วยกัน ไม่ใช่คนแปลกหน้า อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่มีเชื้อเอชไอวีหรือเอดส์จะได้รับเชื้อและเกิดวัณโรคง่ายกว่าคนทั่วไป เนื่องจากมีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ นอกจากนี้ เชื้อวัณโรคบางชนิดมีการดื้อยา โดยเฉพาะกลุ่มยาไอโซไนอาซิดและไรแฟมพิซิน
“วัณโรคปอด“ ติดกันอย่างไร..!!
วัณโรคแพร่เชื้อโดยการไอ จาม ฝอยละอองเสมหะที่ออกมาจากปอดผู้ป่วย จะกระจายอยู่ในอากาศและตกลงสู่พื้น แต่เชื้อวัณโรคจะตายเมื่อถูกแสงแดดซึ่งมีรังสีอัลตราไวโอเลต โดยปกติ 10% ของผู้ที่ได้รับเชื้อจะเสี่ยงต่อการเป็นวัณโรค และส่วนใหญ่จะเกิดโรคใน 2 ปีแรก ส่วนอีก 90% จะไม่ป่วยเป็นวัณโรค หากร่างกายอ่อนแอ เชื้อก็จะกำเริบก่อให้เกิดโรคได้ หากมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด มีไข้ต่ำๆ ตอนบ่าย หรือเย็น เหงื่อออกตอนกลางวัน มีอาการเจ็บหน้าอก ไอเรื้อรังเกิน 3 สัปดาห์ หรือ ไอมีเสมหะปนเลือด ควรไปพบแพทย์ทันทีนะคะ
ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นวัณโรคปอด
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น คนไข้ที่ได้รับเคมีบำบัด หรือ ผู้ป่วยเอดส์
- ผู้ติดสารเสพติด หรือ แอลกอฮอล์
- คนจรจัด หรือ คนขาดสารอาหาร
- คนที่อาศัยอยู่ในที่แออัด หรือ สถานที่ที่อากาศถ่ายเทไม่ดี
- ผู้ที่สัมผัสกับผู้ป่วย เช่น แพทย์ พยาบาล หรือ ญาติที่ดูแล
- เด็กทารก หรือ ผู้สูงอายุ

ผู้ป่วยที่เป็นวัณโรคปอดมีอาการอย่างไร
วัณโรคมีอยู่ 2 ประเภท คือ วัณโรคแฝง และ วัณโรคระยะแสดงอาการหรือระยะกำเริบ คนที่มีวัณโรคแฝงจะไม่แสดงอาการและวัณโรคชนิดนี้จะไม่แพร่กระจายไปยังบุคคลอื่น อย่างไรก็ดี วัณโรคแฝงอาจกลายมาเป็นวัณโรคระยะแสดงอาการหรือระยะกำเริบได้ และจำเป็นต้องได้รับการรักษาเช่นเดียวกัน ในขณะที่วัณโรคระยะแสดงอาการหรือระยะกำเริบนั้นทําให้ผู้ป่วยมีอาการของวัณโรค และสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้
ระยะแฝง (Latent TB)
เมื่อได้รับเชื้อจะแพร่กระจายไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายภายใน 2-8 สัปดาห์ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายก็จะทำหน้าที่ยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อโรค จึงเรียกคนกลุ่มนี้ว่า ผู้ติดเชื้อวัณโรคระยะแฝง คือมีเชื้ออยู่ในร่างกายแต่ไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ไม่สามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ ซึ่งส่วนใหญ่ประมาณ 90% ที่เชื้อโรคอาจจะอยู่ในระยะนี้เป็นเวลาหลายสิบปีหรือตลอดทั้งชีวิตเลย โดยไม่แสดงอาการใดๆ แต่จะมี 10% ของวัณโรคระยะแฝงที่รอจังหวะเมื่อร่างกายเราอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันต่ำ และระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่สามารถกำจัดหรือควบคุมเชื้อได้ เชื้อวัณโรคจะแบ่งตัวและเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว ผู้ติดเชื้อวัณโรคระยะแฝงก็จะกลายเป็นผู้ป่วยวัณโรค แต่หากผู้ป่วยมีการตรวจพบเจอเชื้อในช่วงระยะแฝง แพทย์อาจให้เข้ารับการรักษาและควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อ
ระยะแสดงอาการ (Active TB)
เป็นระยะที่เชื้อได้รับการกระตุ้นจนเกิดอาการต่างๆ ซึ่งมีเพียง 10% ของผู้ที่ได้รับเชื้อเท่านั้น โดย 5% จะป่วยเป็นวัณโรคภายใน 2 ปี ส่วนอีก 5% จะป่วยเป็นวัณโรคหลังจาก 2 ปีไปแล้ว ซึ่งหากผู้ป่วยได้รับการรักษาก็จะหายขาดจากโรคได้ แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยร้อยละ 50 – 65 จะเสียชีวิตภายใน 5 ปี
ผู้ป่วยที่เป็นวัณโรคระยะแสดงอาการหรือระยะกำเริบอาจมีอาการดังต่อไปนี้:
- มีอาการไอเรื้อรังยาวนานถึง 3 สัปดาห์หรือมากกว่านั้น
- ไอแล้วเสมหะมีเลือดปนออกมา
- มีอาการเจ็บหน้าอก ขณะหายใจหรือไอ
- มีอาการเหนื่อยง่ายกว่าปกติ
- มีน้ำหนักลดแบบไม่ทราบสาเหตุ
- มีอาการอ่อนเพลีย
- มีไข้ หรือมีเหงื่อออกในเวลากลางคืน
- รู้สึกหนาวสั่น
- รู้สึกไม่อยากอาหาร
โดยทั่วไปแล้ว วัณโรคอาจเป็นกันได้ตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายนอกเหนือจากปอดก็ได้ เช่น ไต กระดูกสันหลัง หรือสมอง โดยจะมีอาการแตกต่างกันไปตามบริเวณร่างกายที่เกิด เช่น ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดหลังหากวัณโรคลงกระดูกสันหลัง และผู้ป่วยอาจมีเลือดในปัสสาวะหากวัณโรคลงไต
ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดวัณโรคปอดมีอะไรบ้าง
- มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เนื่องจากมีโรคบางอย่างหรือเข้ารับการรักษาบางประเภท เช่น เป็นเอดส์ หรือ กำลังทำเคมีบําบัดเพื่อรักษาโรคมะเร็ง
- เดินทางหรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดวัณโรคสูง
- กำลังใช้สารบางอย่าง เช่น สูบบุหรี่ ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง
- ไม่มีบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขให้ผู้ป่วยได้เข้าใช้บริการ
- อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อวัณโรค เช่น กำลังอาศัยอยู่หรือเคยทำงานในสถานพยาบาล หรือกำลังอาศัยอยู่ในหรืออพยพมาอยู่ในประเทศที่มีการติดเชื้อวัณโรคสูง หรือกำลังอาศัยอยู่กับผู้ที่ติดเชื้อวัณโรค
วิธีป้องกัน
- ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ หมั่นตรวจสุขภาพประจำปี ออกกำลังกายสม่ำเสมอและทานอาหารที่มีประโยชน์
- หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรคในระยะแสดงอาการ เพราะอาจได้รับเชื้อได้
- รับประทานยาป้องกันตามแพทย์สั่ง ในรายที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง แพทย์อาจสั่งจ่ายยาเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยง
- ฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ การได้รับวัคซีนป้องกันวั ตั้งแต่เด็กจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อวัณโรคได้
ขั้นตอนของการรักษาสำหรับผู้ที่เป็นวัณโรคปอด
- ให้ยารักษาวัณโรคใช้เวลาในการรักษา 6 – 8 เดือน กินยาจนครบไม่หยุดยาเอง หากมีอาการแพ้ยาควรรีบปรึกษาแพทย์
- ให้การรักษาไปตามอาการเช่น ยาแก้ไอ ยาลดไข้ ยาบำรุงโลหิต (ถ้าซีด) วิตามินรวม (ถ้าเบื่ออาหาร) เป็นต้น
- แพทย์จะนัดติดตามอาการและตรวจเสมหะเป็นระยะ
ถึงแม้วัณโรคจะเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้แต่ก็สามารถกลับเป็นซ้ำได้เช่นกัน ดังนั้น เป้าหมายที่สำคัญในการรักษาคือ รักษาให้หายขาดเพื่อตัดวงจรการแพร่กระจายเชื้อและป้องกันการดื้อยาของเชื้อวัณโรค การรักษาด้วยวิธีอื่นๆ มีบ้างแต่น้อย เช่น รักษาด้วยวิธีผ่าตัด ซึ่งจะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีรอยโรคเฉพาะตำแหน่งหรือรับประทานยาแล้วมีผลข้างเคียงสูงค่ะ
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– โรงพยาบาลบางปะกอก9
– โรงพยาบาลธนบุรี
– medparkhospita
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM