RSV คืออะไร ทำไมเด็กถึงติดกันเยอะ
RSV (Respiratory Syncytial Virus) เป็นไวรัส ที่ทำให้เกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจในเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี จะติดต่อกันได้ง่าย แต่ถ้ามีอาการรุนแรงมักจะเจอในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี ส่วนมากตัวเชื้อไวรัสนี้จะลงไปที่หลอดลมฝอย หรือลงไปที่ตัวเนื้อปอด ทำให้เป็นปอดอักเสบ หรือเป็นหลอดลมฝอยอักเสบ สิ่งที่อันตรายที่คุณพ่อคุณแม่ต้องระวัง ถ้าเจอเชื้อไวรัสนี้ในเด็กเล็ก ๆ อายุน้อยกว่า 3 เดือน อาจจะทำเกิดอาการหยุดหายใจได้ ซึ่งถือว่าเป็นเชื้อไวรัสที่อันตรายมากในเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กที่คลอดก่อนกำหนด ก็จะเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อ RSV มากกว่ากลุ่มอื่น หรือเด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น ภาวะโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด หรือเด็กที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือมีภาวะขาดสารอาหาร ก็มักจะมีโอกาสติดเชื้อ RSV ได้มากกว่าเด็กกลุ่มอื่น เชื้อไวรัส RSV เป็นเชื้อไวรัสที่ติดต่อกันง่าย ผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ โดยไวรัสเข้าสู่ร่างกายผ่านทาง ตา จมูก ปาก หรือสัมผัสเชื้อโดยตรงจากการจับมือ แพร่กระจายได้ง่าย ผ่านการไอหรือจาม สำหรับในประเทศไทยอาจพบการระบาดได้บ่อยในช่วงฤดูฝนหรือช่วงปลายฝนต้นหนาว
เมื่อติดเชื้อ RSV จะมีอาการอย่างไร
- มีไข้สูง 39-40 องศา ติดต่อกันหลายวัน
- มีน้ำมูก ลักษณะของน้ำมูกจะมีความเหนียวมาก คล้ายกาว
- ไอเยอะ ไอแบบมีเสมหะมาก
- หายใจครืดคราด บางรายอาจจะมีอาการหายใจเร็ว หรือหายใจแรง
- หรือมีอาการหอบเหนื่อย
- บางรายเด็กอาจจะปากหรือตัวซีดเขียว ซึ่งเป็นภาวะที่ควรต้องรีบไปพบแพทย์โดยทันที
วิธีสังเกตอาการว่าติดเชื้อไวรัส RSV
เนื่องจากอาการของโรคจากเชื้อไวรัส RSV อาจแยกไม่ได้จากไวรัสระบบทางเดินหายใจตัวอื่นๆ แต่มักรุนแรงกว่า แพทย์จะสงสัยโรคนี้ในเด็กเล็กที่มีอาการหลอดลมฝอยอักเสบ โดยเฉพาะในช่วงฤดูที่มีการระบาด แต่การวินิจฉัยนี้ให้รู้แน่ต้องใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการ การตรวจเพื่อให้รู้เชื้อไม่มีความจำเป็นในผู้ที่มีอาการไม่หนัก เพราะการรักษาไม่แตกต่างจากไวรัสระบบทางเดินหายใจตัวอื่นๆ แพทย์มักจะตรวจหาเชื้อโดยการป้ายโพรงจมูกไปตรวจในกรณีที่มีอาการหนัก นอกจากนี้อาจจะต้องมีการเอกซเรย์ปอด หากสงสัยว่าการติดเชื้อนั้นลุกลามจนเกิดภาวะปอดอักเสบ
การรักษาอาการติดเชื้อไวรัส RSV
ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคติดเชื้อไวรัส RSV โดยตรง แต่ใช้วิธีการรักษาตามอาการ เช่น การให้ยาลดไข้ แก้ไอละลายเสมหะ ในเด็กบางรายที่มีเสมหะเหนียวมาก ต้องทำการพ่นยาขยายหลอดลมผ่านทางออกซิเจนละอองฝอย เคาะปอด และดูดเสมหะออก จะช่วยลดความรุนแรงของอาการไอและอาการหายใจหอบเหนื่อยได้
การป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV
การป้องกันการติดเชื้อ RSV ทำได้โดยการรักษาความสะอาด ผู้ปกครองควรดูแลความสะอาดให้ดี หมั่นล้างมือตัวเองและลูกน้อยบ่อย ๆ เพราะการล้างมือสามารถลดเชื้อที่ติดมากับมือทุกชนิดได้ถึงร้อยละ 70 ควรรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะครบ 5 หมู่ และให้เด็กพักผ่อนให้เพียงพอ การออกกำลังกายในอากาศที่ถ่ายเท ไม่อยู่ในห้องแอร์ตลอดเวลา เป็นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรง ปกติแล้วในผู้ใหญ่มักไม่ติดเชื้อโรคนี้ เพราะมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงพอ แต่ผู้ใหญ่มีโอกาสสัมผัสเชื้อนี้ได้ และหากไม่ล้างมือให้สะอาดก็อาจทำให้เด็กเล็กติดเชื้อจากผู้ใหญ่ได้
สำหรับคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองที่ลูกมีอาการป่วย ควรแยกเด็กออกจากเด็กปกติ ไม่ไปอยู่ในสถานที่แออัด ควรดูแลทำความสะอาดของใช้ส่วนตัวและแยกไว้ต่างหากเพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเข้าเรียนในเนิร์สเซอร์รีหรือโรงเรียนอนุบาลแล้ว หากมีอาการป่วยควรให้หยุดเรียนจนกว่าอาการจะหายเป็นปกติ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อได้อีกทางหนึ่ง
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล
– โรงพยาบาลกรุงเทพ
– โรงพยาบาลศิริราช
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKESHOP.COM