ทำความรู้จัก โรคไข้รากสาดใหญ่หรือโรคสครับไทฟัส

โรคสครับไทฟัส (Scrub typhus) หรือโรคไข้รากสาดใหญ่ เป็นโรคติดต่อนำโดยสัตว์ขาข้อกลุ่มไรซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มริกเก็ตเชีย (Rickettsia) ตามธรรมชาติเป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์ป่าในตระกูลสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระแต กระจ้อน เป็นต้น โดยทั่วไปเชื้อริกเก็ตเชียที่อยู่ในสัตว์ฟันแทะจะไม่ทำให้สัตว์นั้นมีอาการของโรค แต่โรคนี้สามารถติดต่อมาสู่คนได้โดยถูกไรอ่อน (Chiggers) ที่มีเชื้อกัด โรคนี้จะมีการระบาดในเขตร้อนแถบภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก สามารถพบได้ทุกฤดูแต่จะพบมากในช่วงฤดูฝนจนถึงต้นฤดูหนาวและพบมากในพื้นที่เกษตรกรรม

สาเหตุโรคไข้รากสาดใหญ่

เกิดจากเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มริกเก็ตเชีย (Rickettsia) ที่ชื่อว่า Orientia tsutsugamushi มีไรอ่อน (Chigger mite) ซึ่งเป็นสัตว์ขาข้อในกลุ่มไร family Trombiculidae เป็นพาหะนำโรค โดยระยะตัวอ่อนจะเป็นเพียงระยะเดียวที่มีโอกาสแพร่เชื้อโรคสู่คนหรือสัตว์ได้ และมีสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระแต กระจ้อน เป็นต้น เป็นแหล่งรังโรค คนติดเชื้อดังกล่าวได้โดยบังเอิญ (Accidental hosts) เมื่อถูกไรอ่อนกัดสัตว์ฟันแทะที่มีเชื้อก่อโรคแล้วมากัดคน หรือถูกไรอ่อนที่มีเชื้ออยู่กัด ทำให้คนได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายผ่านบาดแผลบริเวณผิวหนังที่ถูกกัด

อาการโรคไข้รากสาดใหญ่

หากถูกตัวไรอ่อนที่มีเชื้อกัดประมาณ 10-12 วัน จะมีอาการปวดศีรษะ มีไข้ หนาวสั่น ไอ ตาแดง คลื่นไส้อาเจียน ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย บริเวณที่ถูกกัดจะมีผื่นแดงเล็กๆจะค่อยๆนูนหรือใหญ่ขึ้น แผลคล้ายบุหรี่จี้ ไม่ปวดไม่คัน ในบางรายสามารถหายได้เอง

ภาวะแทรกซ้อนโรคไข้รากสาดใหญ่

– โรคตับอักเสบ

– ปอดอักเสบ

– กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

– เยื่อหุ้มสมองกับสมองอักเสบ

– ภาวะที่มีการแข็งตัวของก้อนเลือดกระจายไปทั่วร่างกาย

– การทำงานของอวัยวะในร่างกายล้มเหลว

การป้องกันโรคไข้รากสาดใหญ่

โรคไข้รากสาดใหญ่ จะยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ดังนั้นการป้องกันความเสี่ยงของการติดเชื้อ คือการเลี่ยงการสัมผัสหรือถูกตัวไรอ่อนกัด ซึ่งมีวิธีป้องกันดังนี้

1. ควรหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีพืชพรรณและพื้นที่ที่ปกคลุมด้วยพุ่มไม้หรือต้นไม่ขนาดเล็ก เพราะเป็นที่ที่ตัวไรอ่อนชอบอาศัยอยู่

2. ใช้สารไล่แมลงที่มีส่วนประกอบของสาร DEEF 20-30% หรือสารที่ได้รับการรับรองว่าใช้สำหรับต่อต้านตัวไรอ่อน และหมั่นทาทุก 4-6 ชั่วโมง ทั้งแบบที่ใช้กับผิวหนังและเสื้อผ้า

3. สวมเสื้อผ้าให้มิดชิด ให้เด็กสวมเสื้อผ้าที่ปกปิดผิวหนังอย่างมิดชิดทั้งแขนและขา หรือคลุมรถเข็นเด็ก เตียงนอนด้วยมุ้ง

4. หากต้องใช้ครีมหรือโลชั่นป้องกันแสงแดด ควรใช้กันแดดก่อนค่อยทาสารไล่แมลง

5. ทุกครั้งที่อาบน้ำหรือเปลี่ยนเสื้อผ้า ควรสำรวจร่างกายตัวเองว่ามีผื่น แผลหรือแมลงเกาะตามตัวหรือไม่

6. หลังกลับจากการเดินป่า ควรอาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย สระผม และนำเสื้อผ้าซักให้สะอาดด้วยผงซักฟอกเข้มข้น เพราะตัวไรอ่อนอาจติดมากับร่างกายหรือเสื้อผ้าได้

หากเที่ยวจากการเดินป่า ตั้งแคมป์กลับมาแล้วมีไข้ หรือมีอาการข้างต้น ภายใน 2 สัปดาห์ ควรรีบพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการเข้าป่าให้แพทย์ทราบ เพื่อรับการรักษาโดยเร็วสามารถช่วยป้องกันการเสียชีวิตได้


แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– โรงพยาบาลบางปะกอก
– กรมควบคุมโรค
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM

แชร์

สินค้าที่เกี่ยวข้อง

No results found.

ยังไม่มีบัญชี