เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยมีอาการนอนไม่หลับกันมาบ้าง ที่แม้ว่าจะพยายามข่มตาให้หลับเท่าไรก็ยังนอนไม่หลับอยู่ดี กว่าจะรู้สึกง่วงขึ้นมาก็ใกล้เช้าอีกไม่กี่ชั่วโมงก็ต้องตื่นไปทำงานแล้ว ส่งผลให้ร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ หากมีอาการนี้บ่อยๆ ทำให้เกิดผลเสียกับร่างกายหลายๆ อย่างตามมา เนื่องจากวงจรการใช้ชีวิตในปัจจุบันนั้นเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ผู้คนมีวิถีชีวิตที่แตกต่างจากอดีต จนนำมาสู่การเกิด “โรคนอนไม่หลับ” หรือ Insomnia ซึ่งมีรูปแบบของอาการมากมาย เช่น การนอนไม่หลับ การนอนหลับไม่สนิท การหลับๆ ตื่นๆตลอดทั้งคืน การตื่นขึ้นมากลางดึก การตื่นเช้าผิดปกติ และการตื่นมาแล้วไม่สดชื่น เป็นต้น
โรคนอนไม่หลับสามารถแบ่งได้หลายประเภทตามลักษณะช่วงเวลาของการนอนไม่หลับ
- Initial insomnia คือภาวะที่ผู้ป่วยมีปัญหานอนหลับยากใช้เวลานอนนานกว่าจะหลับภาวะดังกล่าวอาจสัมพันธ์กับภาวะวิตกกังวล
- Maintinance insomnia คือภาวะที่ผู้ป่วยไม่สามารถนอนหลับได้ยาวมีการตื่นกลางดึกบ่อยภาวะดังกล่าวอาจเกี่ยวข้องกับปัญหาทางกาย เช่นภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น
- Terminal insomnia คือภาวะที่ผู้ป่วยตื่นเร็วกว่าเวลาที่ควรจะตื่นอาจพบได้ในผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้า
สาเหตุของการนอนไม่หลับเกิดจากอะไร
การนอนไม่หลับเกิดได้จากหลายปัจจัย ตั้งแต่ปัจจัยทางด้านร่างกาย จิตใจ สภาพแวดล้อมและอุปนิสัยการนอน
- สภาพแวดล้อมเสียงดัง แสงสว่าง หรือคับแคบเกินไป
- อาการป่วย เช่น ปวดท้อง ปวดเมื่อย โรคเกี่ยวกับการนอน มีปัญหาเรื่องระบบการหายใจ มีอาการไอ
- ความเครียด อาการวิตก อาการวิตกกังวล แรงกดดัน หรือมีอาการซึมเศร้าและท้อแท้ หมดกำลังใจ หมดหวังในการใช้ชีวิต คิดว่าตัวเองไร้ค่า ยึดติดและอยู่กับตัวเองมากเกินไป
- แอลกอฮอล์ คาเฟอีน ในกาแฟ บุหรี่ หรือยาบางชนิด
- ท้องว่าง หรืออิ่มมากเกินไป
- ภาวะการนอนหลับ นอนละเมอฝันร้าย หรือนอนไม่หลับจนติดเป็นนิสัย
- หน้าที่การงาน ที่ต้องเปลี่ยนเวลาการนอน เช่น พยาบาล ยาม
วิธีแก้ปัญหาอาการนอนไม่หลับ
- เข้านอนตรงเวลาและตื่นตรงเวลาเป็นประจำในเวลาใกล้เคียงกันทุกวันทั้งวันธรรมดาและวันหยุด
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอเป็นประจำโดยแนะนำการออกกำลังกายแบบแอโรบิค สำหรับเวลาที่เหมาะสมควรเป็นช่วงเวลาเช้าและไม่ควรออกกำลังกายก่อนเวลานอน 2 ชั่วโมง
- สร้างบรรยากาศห้องนอนที่เหมาะสมโดยมีความเงียบสงบและไม่ร้อนไปหรือหนาวไป
- ควรปิดไฟขณะนอนหลับ
- ใช้เตียงนอนสำหรับการนอนหรือกิจกรรมทางเพศเท่านั้นไม่แนะนำให้ทำกิจกรรมอื่นบนเตียงเช่น ดูโทรทัศน์, อ่านหนังสือ เป็นต้น
- ก่อนเวลานอนซัก 1 ชั่วโมงควรผ่อนคลาย เช่น ฟังเพลงสบายๆ, อ่านหนังสือ, นั่งสมาธิ, ทำกิจกรรมเบาๆ ที่ทำให้ไม่ตื่นเต้นและไม่เครียด
- ไม่ควรทำกิจกรรมที่ผลทำให้ตื่นเต้นก่อนนอน เช่น เล่นอินเตอร์เนต, เล่นเกมส์, ดูโทรทัศน์หรือภาพยนตร์ ที่มีความตื่นเต้น
- ไม่ควรดื่มชา,กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน อย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนการนอน
- ไม่ควรทานอาหารมื้อใหญ่ อย่างน้อย 4 ชม. ก่อนการนอนหลับ
- สามารถนอนงีบได้ในเวลากลางวันโดยงีบไม่เกิน 20 นาทีและไม่ควรงีบหลับหลังบ่ายสามโมง
- ระหว่างนอนหลับไม่ควรดูนาฬิกาเนื่องจากจะทำให้เกิดความกังวล
- ไม่ควรดื่มน้ำมากกว่า 1 แก้วก่อนนอนและแนะนำให้ปัสสาวะก่อนเข้านอน
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์เพื่อช่วยให้หลับถึงแม้ว่าจะช่วยให้หลับได้แต่ทำให้การนอนไม่มีคุณภาพ หากจะดื่มแนะนำให้ดื่มอย่างน้อย 4 ชม. ก่อนเข้านอน
- หลีกเลี่ยงเลี่ยงแสงจ้าในตอนเย็นและพยายามรับแสงในตอนเช้า เช่นเปิดหน้าต่างรับแสงในตอนเช้า
อาการของผู้ที่มีภาวะนอนไม่หลับ
- อ่อนเพลีย
- ไม่สามารถมีสมาธิกับการทำงาน, ความจำเปลี่ยนแปลง
- ความสามารถในการทำงานลดลง
- อารมณ์หงุดหงิดกระสับกระส่าย
- ง่วงนอนเวลากลางวัน
- ขาดพลังในการใช้ชีวิตอ่อนเพลีย
- การเกิดอุบัติเหตุ
- กังวลเกี่ยวกับปัญหาการนอนที่เกิดขึ้น
เพราะฉะนั้นจึงต้องดูแลร่างกายให้ดี การพักผ่อนนอนหลับนั้นก็เป็นสิ่งสำคัญ ไม่แพ้เรื่องการบริโภคหรือการออกกำลังกายเลย
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– โรงพยาบาลราชวิถี
– โรงพยาบาลนนทเวช
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM