กาแฟเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมที่หลายคนเลือกดื่ม เพื่อเพิ่มความตื่นตัวในระหว่างวัน เรื่องจากมีส่วนประกอบของคาเฟอีน ซึ่งช่วยกระตุ้นระบบประสาท ทำให้เรารู้สึกตื่นตัว แต่บางครั้งกลับพบว่าหลังจากดื่มกาแฟแล้วกลับรู้สึกง่วงกว่าเดิม ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่ทำให้ใครหลายคนสงสัย
สาเหตุกินกาแฟแล้วยังง่วง
1.การเพิ่มของสารอะดีโนซีน (Adenosine) ในร่างกาย
- คาเฟอีนทำหน้าที่ขัดขวางการทำงานของสารอะดีโนซีนในสมอง ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เรารู้สึกง่วง เมื่อดื่มกาแฟเป็นประจำร่างกายจะปรับตัว โดยผลิตอะดีโนซีนเพิ่มขึ้น เพื่อชดเชยผลกระทบของคาเฟอีน
- เมื่อคาเฟอีนหมดฤทธิ์ ร่างกายที่มีอะดีโนซีนสะสมอยู่มากจะทำให้เกิดความรู้สึกง่วงอย่างรวดเร็ว
2.ความเคยชินกับคาเฟอีน
- หากเราดื่มกาแฟในช่วงปริมาณมากเป็นระยะเวลานาน ร่างกายจะปรับตัวจนเกิดความชิน ทำให้คาเฟอีนในปริมาณเดิมไม่สามารถกระตุ้นความตื่นตัวได้เหมือนเดิม ส่งผลให้เรารู้สึกง่วงได้
3.ฤทธิ์ของคาเฟอีนที่ส่งผลต่อการนอนหลับ
- หากดื่มกาแฟในช่วงบ่ายหรือเย็น คาเฟอีนที่ยังค้างอยู่ในร่างกายอาจรบกวนการนอนหลับในเวลากลางคืน ส่งผลให้ร่างกายไม่ได้พักผ่อนเต็มที่ และทำให้รู้สึกง่วงในวันถัดมา

นอกเหนือจากนั้น ยังมีปัจจัยอีกบางประการที่ส่งผลให้ร่างกายเราไม่ตอบสนองต่อคาเฟอีนได้ดีเท่าที่ควร เช่น
- คาเฟอีนมีฤทธิ์ตอบสนองต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด บางคนดื่มกาแฟแล้วใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียจากภาวะหัวใจที่เต้นเร็ว จนรู้สึกเหมือนง่วงนอน ทั้งที่จริงๆ แล้วเราแค่เหนื่อยล้าจนอยากพัก
- การติดหนี้การนอน จากการที่เราพักผ่อนไม่เพียงพอ นอนดึก นอนน้อย นอนไม่เป็นเวลา หลับไม่สนิท หรือนอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อวันติดต่อกันเป็นเวลานาน สารอะดิโนซีนที่มักเชิญชวนให้หลับจึงเลื่อนเวลามาเร็วขึ้น และมีความแรงมากขึ้น ก็เป็นสาเหตุให้เกิดอาการง่วงนอนหลังดื่มกาแฟ
- กาแฟมีฤทธิ์ขับปัสสาวะอ่อนๆ การดื่มกาแฟจะทำให้เราปวดปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ จึงทำให้ร่างกายขาดน้ำไปรักษาความดันโลหิตและการไหลเวียนของเลือด การขาดน้ำอาจทำให้หัวใจเต้นเร็วและความดันโลหิตต่ำลง จนนำไปสู่ความรู้สึกเหนื่อยล้า เฉื่อยชา
- คาเฟอีนทำให้หลอดเลือดหดตัว ทำให้หลอดเลือดบางส่วนแคบลง ไปสามารถรบกวนการไหลเวียนของเลือดไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย การเสียน้ำยังทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นได้ด้วย
- น้ำตาลในกาแฟ บางคนไม่ได้เสพติดคาเฟอีน แต่อาจเสพติดความหวานจากกาแฟ โดยเฉพาะคนที่เพิ่มน้ำเชื่อมหรือวิปครีม หรือว่าใส่นู่นนี่นั่นทุกครั้งเวลาดื่มกาแฟเย็น โดยปกติร่างกายจะใช้พลังงานจากน้ำตาลได้เร็วกว่าคาเฟอีน หลังจากที่ร่างกายใช้น้ำตาลหมด เราก็จะรู้สึกเหมือนพลังงานต่ำลง (น้ำตาลตก) จึงหมดแรง แล้วง่วงนอน
- การดื่มกาแฟในช่วงสายของวันหรือหลังเที่ยงวัน ในบางคนอาจทำให้คุณภาพการนอนช่วงกลางคืนแย่ลง มีอาการนอนไม่หลับ นอนไม่พอ เพราะคาเฟอีนไปทำให้สมองตื่น ทั้งที่ร่างกายอยากหลับเต็มแก่ ทำให้ช่วงเข้านอนจริงๆ เราควรจะหลับลึก บางคนจึงกินกาแฟแล้วนอนหลับได้ปกติ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะหลับอย่างมีประสิทธิภาพ ตื่นมาก็เลยเพลียอยู่ดี
- ไม่ใช่ทุกคนที่จะตอบสนองต่อคาเฟอีนเหมือนกัน บางคนง่วงตั้งแต่กาแฟยังไม่หมดแก้ว บางคนง่วงหลังจากดื่มไปเพียงแก้วเดียว ในขณะที่อีกหลายคนก็สามารถดื่มได้หลายแก้วต่อวัน และไม่ได้รู้สึกว่าไม่มีผลเสียใดๆ ต่อสุขภาพ
วิธีแก้ไขอาการดื่มกาแฟแล้วง่วง
1.ลดปริมาณการดื่มกาแฟทีละน้อย หลีกเลี่ยงการเพิ่มปริมาณคาเฟอีน เพื่อไม่ให้ร่างกายปรับตัวเพิ่มอะดีโนซีนมากขึ้น ควรลดปริมาณการดื่มกาแฟลงเรื่อยๆ อย่างเป็นระบบ
2.หยุดดื่มกาแฟเป็นช่วงๆ การหยุดดื่มกาแฟชั่วคราว 3-4 วัน/สัปดาห์ช่วยให้ร่างกายปรับสมดุล ลดระดับอะดีโนซีน และความเคยชินกับคาเฟอีน
3.ดื่มน้ำเปล่าและพักผ่อนให้เพียงพอ บางครั้งอาการง่วงอาจเกิดจากภาวะขาดน้ำ หรือการพักผ่อนไม่เพียงพอ การดื่มน้ำและนอนหลับอย่างเพียงพอสามารถช่วยลดอาการดังกล่าวได้
4.เลือกช่วงเวลาดื่มกาแฟที่เหมาะสม ไม่ควรดื่มกาแฟหลังเวลา 14.00 น. เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อการนอนหลับ
ข้อควรระวังในการบริโภคคาเฟอีน
1.การดื่มกาแฟในปริมาณมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น เพิ่มความดันโลหิต หรือทำให้เกิดความวิตกกังวล
2.ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนบริโภคกาแฟ
อาการง่วงหลังดื่มกาแฟเป็นผลจากการปรับตัวของร่างกายต่อคาเฟอีน หากเราจัดการการบริโภคอย่างเหมาะสม และให้ร่างกายได้พักผ่อนเพียงพอ จะสามารถหลีกเลี่ยงปัญหานี้ได้ และยังคงได้รับประโยชน์จากกาแฟในปริมาณที่เหมาะสม
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– โรงพยาบาลบางปะกอก
– web sanook
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM