หลายคนคงมีความกังวลว่า โรค ซิฟิลิส คือ อะไรเหมือนกับเอดส์ หรือไม่ ความจริงแล้วสองโรคนี้แตกต่างกัน แต่สามารถติดโรคได้ด้วยวิธีที่คล้ายคลึงกันนั่นก็คือการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย ซิฟิลิส สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่เอชไอวียังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้ แต่การทานยาต้านไวรัสอย่างมีวินัยจะช่วยให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีไม่เข้าสู่ภาวะโรคเอดส์ ลดโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อน และเจ็บป่วยได้ในอนาคต เช่นเดียวกับซิฟิลิส หากไม่รีบทำการรักษาก็อาจเกิดอาการลุกลามได้
โรคซิฟิลิส กับ เอดส์ ล้วนเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทั้งคู่ โดยโรคซิฟิลิสมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียทรีโพนีมา แพลลิดัม (Treponema pallidum) ที่เข้าสู่ร่างกายผ่านการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน รวมถึงการสัมผัสกับสารคัดหลั่งผ่านทางบาดแผลและรอยถลอกตามผิวหนัง ส่วนโรคเอดส์มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) ในระยะสุดท้าย ผ่านการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน อีกทั้งยังอาจได้รับผ่านทางการใช้เข็มร่วมกับผู้ติดเชื้อ การสัก และการถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกได้เช่นกัน
ทั้งโรคซิฟิลิสกับโรคเอดส์อาจใช้ระยะเวลาหลายปีกว่าจะแสดงอาการและอาจมีอาการบางอย่างคล้ายกัน เช่น แผลหรือผื่นที่เกิดขึ้นตามลำตัวหรือในช่องปาก ต่อมน้ำเหลืองบวม มีไข้ หนาวสั่น เจ็บคอ ปวดเมื่อกล้ามเนื้อ น้ำหนักลดลง แต่มีความแตกต่างกันตรงที่โรคซิฟิลิสมักแสดงอาการตามระยะของโรค ดังนี้
- ระยะที่ 1 อาจเกิดแผลเล็ก ๆ ในบริเวณที่ได้รับเชื้อ เรียกว่า แผลริมแข็ง ภายใน 3 สัปดาห์แรกหลังได้รับเชื้อ ซึ่งไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บใด ๆ
- ระยะที่ 2 หลังจากแผลริมแข็งหาย อาจเริ่มมีอาการผื่นขึ้นตามตัว รวมถึงอาการตุ่มคล้ายหูดในบริเวณอวัยวะเพศและปาก ปวดกล้ามเนื้อ เป็นไข้ ผมร่วง และต่อมน้ำเหลืองบวม
- ระยะที่ 3 เป็นระยะแฝงที่ไม่มีอาการใด ๆ โดยอาจใช้เวลานานหลายปีก่อนที่โรคจะพัฒนาไปสู่ระยะต่อไป
- ระยะที่ 4 เป็นระยะสุดท้ายของโรคซิฟิลิส ซึ่งเป็นระยะที่โรคได้ทำลายส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และอาจส่งผลให้กระดูกเสื่อม ข้อต่ออักเสบ เส้นประสาทเสียหาย การทำงานของหัวใจ หลอดเลือดและสมองล้มเหลว และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้

โรคซิฟิลิส กับ เอดส์ มีวิธีรักษาเหมือนกันไหม
โรคซิฟิลิส กับ เอดส์ มีวิธีรักษาดังต่อไปนี้
วิธีรักษาโรคซิฟิลิส
คุณหมออาจรักษาด้วยยากลุ่มเพนิซิลลิน (Penicillin) เช่น ยาเบนซาธีน เพนิซิลลิน จี (Benzathine Penicillin G) ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะในรูปแบบฉีดที่ใช้เพื่อช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย โดยพิจารณาตามระยะของโรคซิฟิลิส
สำหรับผู้ที่แพ้ยากลุ่มเพนิซิลลิน คุณหมออาจแนะนำให้รักษาด้วยยาชนิดอื่น ๆ เช่น Ceftriaxone หรือ Erythromycin สำหรับสตรีตั้งครรภ์ที่มีอาการแพ้เพนิซิลลิน อาจต้องเข้ารับการบำบัดด้วยเทคนิคดีเซนซิทิเซชั่น (Desensitization) ที่เป็นกระบวนการช่วยลดความไวต่อยาเพนิซิลลินก่อนจะให้กลับมาใช้ยาเพนิซิลลินดังเดิม เพราะยาเพนิซิลลินเป็นยารักษาโรคซิฟิลิสเพียงชนิดเดียวที่แนะนำให้ใช้กับสตรีตั้งครรภ์
วิธีรักษาโรคเอดส์
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคเอดส์ให้หายขาด แต่มีวิธีที่อาจช่วยควบคุมอาการไม่ให้แย่ลงด้วยการใช้ยาต้านไวรัสเอชไอวี ดังต่อไปนี้
- กลุ่มยาเอ็นเอ็นอาร์ทีไอ (NNRTIs) เช่น โดราไวรีน (Doravirine) เอฟฟาไวเร็นซ์ (Efavirenz) ริวพิไวรีน (Rilpivirine) ที่ออกฤทธิ์โดยไปจับกับเอนไซม์และยับยั้งไม่ให้ไวรัสเปลี่ยนแปลงรูปร่างของเอนไซม์
- กลุ่มยาเอ็นอาร์ทีแอลไอ (NRTIs) เช่น ลามิวูดีน (Lamivudine) ไซโดวูดีน (Zidovudine) อบาคาเวียร์ (Abacavir) ทีโนโฟเวียร์ (Tenofovir) เอ็มตริไซตาบีน (Emtricitabine) เพื่อช่วยบรรเทาอาการป่วยจากโรคเอดส์และลดความเสี่ยงการติดเชื้อจากคุณแม่ไปสู่ทารกในครรภ์
- เอชไอวีโปรตีเอสอินฮิบิเตอร์ (HIV Protease Inhibition) เช่น อะทาซานาเวียร์ (Atazanavir) ดารูนาเวียร์ (Darunavir) เพื่อช่วยยับยั้งเชื้อไวรัสเอชไอวีและลดการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัส
- อินทีเกรส (Integrase) เช่น ทีโนโฟเวียร์ (Tenofovir) เอ็มตริไซตาบีน (Emtricitabine) เพื่อช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อินทิเกรสที่อาจส่งผลให้ไวรัสสามารถแทรกเข้าไปในพันธุกรรม และช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส
- เอชไอวีฟิวชันอินฮิบิเตอร์ (HIV Fusion Inhibitors) หรือสารยับยั้งการหลอมตัวของไวรัสเข้ากับเซลล์ เช่น เอ็นฟูเวอร์ไทด์ (Enfuvirtide) มาราไวรอค (Maraviroc) เพื่อช่วยยับยั้งไม่ให้เชื้อเอชไอวีเกาะจับกับเซลล์เม็ดเลือดขาว ช่วยลดอาการดื้อยา และป้องกันการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสเอชไอวี
การป้องกันโรคซิฟิลิส กับ เอดส์ อาจทำได้ดังนี้
- สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
- หลีกเลี่ยงการมีคู่นอนหลายคน
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ และหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์หากมีแผลเปิดบริเวณอวัยวะเพศและโดยรอบ
- ไม่ควรใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่นเพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงให้ร่างกายได้รับเชื้อที่นำไปสู่การเกิดโรคซิฟิลิสและโรคเอดส์
- สำหรับผู้ที่วางแผนมีบุตร ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคก่อนทั้งผู้หญิงและผู้ชาย
- สตรีตั้งครรภ์ควรเข้าพบคุณหมอตามกำหนดเพื่อตรวจคัดกรองโรคและตรวจสุขภาพของทารกในครรภ์
- การใช้ยาเพร็พ (PrEP) เหมาะสำหรับผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อเอชไอวี แต่มีความเสี่ยงสูงที่จะรับเชื้อเอชไอวี
- การใช้ยาเป็ป (PEP) อาจช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีหลังจากได้รับเชื้อเอชไอวีแล้ว โดยควรรับยาเป็ปภายในเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง หลังจากเวลาที่คาดว่าอาจได้รับเชื้อไวรัสเอชไอวี
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าโรคซิฟิลิสนั้น จะสามารถ รักษาให้หายขาดได้ แต่หากมีพฤติกรรมเสี่ยง ก็สามารถรับเชื้อเพิ่ม และกลับมาเป็นใหม่ได้ ดังนั้น สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งเลย คือ การหลีกเลี่ยง การไปสัมผัสกับเลือด สารคัดหลั่งของผู้อื่น เป็นต้น
ดังนั้น นอกจากโรคซิฟิลิส จะแตกต่าง กับโรคเอดส์ตรงที่ ซิฟิลิสสามารถ รักษา ให้หายขาดได้ ซึ่งจากต่างจาก โรคเอดส์ ที่ไม่สามารถ รักษาให้หายขาดได้ จะมีก็เพียง แต่ยาที่ช่วย ในการชะลอการพัฒนาโรค และลดอัตราความเสี่ยงในการเสียชีวิตลง ด้วยโรคเอดส์ก็เท่านั้น
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– web hellokhunmor
– มูลนิธิเพื่อรัก
– คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
– คณะแพทยศาตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM