ยาแทมซูโลซิน(Tamsulosin หรือ Tamsulosin hydrochloride) เป็นยาประเภทแอลฟา-1 บล็อกเกอร์ (Alpha-1 blockers) มีฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อของต่อมลูกหมากและของกระเพาะปัสสาวะคลายตัว ประโยชน์ทางคลินิก จึงนำยาแทมซูโลซินมารักษาโรคท่อปัสสาวะอักเสบ และภาวะต่อมลูกหมากโตของบุรุษเท่านั้น โดยไม่มีวัตถุประสงค์การใช้ยานี้กับสตรีและเด็ก รูปแบบผลิตภัณฑ์ยาแผนปัจจุบันของยานี้เป็นยาชนิดรับประทาน
ยาแทมซูโลซินถูกดูดซึมได้ค่อนข้างดีจากระบบทางเดินอาหาร และมีการกระจายตัวเข้าสู่กระแสเลือดได้ถึง 100% จากนั้นจะถูกเมตาโบไลท์(Metabolite,กระบวนการทำลายยา)โดยตับ ตัวยานี้จะอยู่ในร่างกายได้นานประมาณ 9 – 13 ชั่วโมง ก่อนที่จะถูกขับออกไปกับปัสสาวะและอุจจาระ ขนาดรับประทานของยาแทมซูโลซินเพียงวันละ1 ครั้ง ก็เพียงพอต่อการควบคุมอาการบวมของต่อมลูกหมาก
ข้อบ่งใช้
- รักษาภาวะต่อมลูกหมากโต
กลไกการออกฤทธิ์
กลไกการออกฤทธิ์ของยาแทมซูโลซินคือ ตัวยาจะเป็นยาประเภท Antagonist of alpha1-adrenoreceptors (Alpha-1blockers) ที่มีกลไกการออกฤทธิ์โดยจะเข้าจับกับตัวรับ/Receptor ที่ชื่อ Postsynaptic alpha1-adrenoreceptors ที่อยู่ภายในเซลล์กล้ามเนื้อเรียบในต่อมลูกหมาก จึงก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทภายในเซลล์ ทำให้เกิดการคลายตัวของกล้ามเนื้อเรียบ และทำให้ต่อมลูกหมากลดอาการหดเกร็ง ส่งผลลดการบีบรัดท่อปัสสาวะในบุรุษ ทำให้ปัสสาวะได้สะดวกขึ้น จากกลไกเหล่านี้ จึงก่อให้เกิดฤทธิ์รักษาตามสรรพคุณ
แทมซูโลซินมีรูปแบบ
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 0.4 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาแคปซูลชนิดรับประทานที่ผสมร่วมกับตัวยาอื่น เช่น Tamsulosin 0.4 มิลลิกรัม + Dutasteride 0.5 มิลลิกรัม/เม็ด
ปริมาณการใช้ยา Tamsulosin
- ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้
รักษาอาการของโรคต่อมลูกหมากโต
- ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 400 ไมโครกรัม วันละ 1 ครั้ง หลังอาหารเช้า หรือหลังอาหารมื้อแรกของวัน
ข้อควรระวังการใช้ยา Tamsulosin
1.ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
2.ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีโรคความดันโลหิตต่ำ ผู้ที่ป่วยด้วยโรคตับระยะรุนแรง
3.ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
4.เฝ้าระวังความดันโลหิตของผู้ป่วยให้เป็นปกติเสมอ ตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร
5.ผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด สังเกตได้จากมีอาการความดันโลหิตต่ำ อาเจียน ท้องเสีย หากพบอาการดังกล่าว ควรต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
6.ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
7.ห้ามใช้ยาหมดอายุ
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Tamsulosin
การใช้ยา Tamsulosin อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง ได้แก่ เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ง่วงซึม คลื่นไส้ ท้องเสีย เจ็บหน้าอก การหลั่งน้ำอสุจิผิดปกติ ปริมาณอสุจิลดลง ปวดหลัง มองเห็นไม่ชัด มีปัญหาเกี่ยวกับฟัน เป็นไข้ หนาวสั่น ปวดตามตัว มีอาการคล้ายไข้หวัด คัดจมูก น้ำมูกไหล ปวดไซนัส ไอ เจ็บคอ นอนไม่หลับ ความสนใจเรื่องเพศลดลง เป็นต้น หากอาการดังกล่าวไม่หายไปหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์
หากพบผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้ยา Tamsulosin ดังต่อไปนี้ ควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันที
- รู้สึกวิงเวียน คล้ายจะเป็นลม
- เจ็บเมื่ออวัยวะเพศแข็งตัว โดยมีอาการต่อเนื่องยาวนานกว่า 4 ชั่วโมง
- มีอาการของปฏิกิริยาแพ้ทางผิวหนังอย่างรุนแรง เช่น มีไข้ เจ็บคอ บวมที่ใบหน้าหรือลิ้น แสบตา เจ็บผิวหนัง ตามด้วยมีผื่นจุดสีแดงหรือม่วงกระจายตามร่างกาย ซึ่งทำให้เกิดแผลพุพองและผิวลอก
นอกจากนี้ หากผู้ป่วยพบอาการผิดปกติใด ๆ เพิ่มเติม ควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเช่นกัน
การเก็บรักษา
ควรเก็บยาแทมซูโลซินในช่วงอุณหภูมิ 20 – 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– web pobpad
– web hdmall
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM