เส้นเอ็นอักเสบ ทำไมหายช้า ปล่อยไว้นานเรื้อรัง อาจรุนแรงถึงขั้นเอ็นฉีกขาดได้

เส้นเอ็นอักเสบ (Tendinitis) เกิดขึ้นได้ง่ายโดยที่เราอาจไม่ทันระวังตัว ซึ่งสามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย ทุกกิจกรรมที่ทำ ไม่เพียงแต่เกิดกับนักกีฬาเท่านั้น สาเหตุมักเกิดจากการที่เส้นเอ็นถูกใช้งานหนักเกินไป หรือได้รับบาดเจ็บที่ซ้ำๆ จนเกิดการอักเสบขึ้น ทำให้เกิดอาการปวด กดเจ็บ บริเวณเส้นเอ็น โดยปกติอาการของเส้นเอ็นอักเสบส่วนใหญ่มักดีขึ้นเองภายใน 2-3 วัน ด้วยการพักและดูแลรักษาตนเอง แต่หากพบว่ายังคงมีอาการรุนแรง กระทบต่อการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันมากกว่า 3 วัน อาจเกิดภาวะเส้นเอ็นฉีกขาดได้ โดยแพทย์อาจจำเป็นต้องพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดส่องกล้องซ่อมแซมเอ็นฉีกขาด (Arthroscopic Surgery) เพื่อให้สามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติ

เส้นเอ็นอักเสบเกิดจากสาเหตุใดบ้าง

  • จากการเคลื่อนไหวเอ็นกล้ามเนื้อบริเวณหนึ่งๆ ซ้ำๆ เป็นเวลานาน โดยเฉพาะการทำอาชีพหรืองานอดิเรกที่ต้องมีการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อเอ็นซ้ำๆ ซึ่งทำให้เอ็นบริเวณที่ถูกใช้งานตึงขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดการอักเสบขึ้น
  • อุบัติเหตุ ส่วนใหญ่จะได้รับบาดเจ็บอย่างฉับพลันจากการออกกำลังกาย เล่นกีฬา และอาจเสี่ยงต่อการเกิดเอ็นฉีกขาดได้
  • การอยู่ในท่าทางที่ไม่เหมาะสม หรือผิดท่า ทำให้เอ็นต้องเกร็งตัวตลอดเวลา ก็ทำให้เส้นเอ็นอักเสบได้ เช่น นั่งทำงานผิดท่า นอนผิดท่า
  • อายุที่เพิ่มมากขึ้น จะมีความยืดหยุ่นลดลง ทำให้เกิดเกิดการบาดเจ็บได้ง่าย หรือเส้นเอ็นอักเสบได้ง่ายขึ้น

ทำไมเส้นเอ็นอักเสบ ถึงหายช้า?

สาเหตุหลัก ที่ทำให้อักเสบหายช้า เกิดจากธรรมชาติของเส้นเอ็นเอง ที่เป็นเนื้อเยื่อที่ประกอบไปด้วยคอลลาเจน ซึ่งเป็นโปรตีนที่แข็งแรง แต่มีเลือดไปเลี้ยงน้อย เมื่อมีเลือดไปเลี้ยงน้อยกว่าเนื้อเยื่ออื่นๆ ทำให้การซ่อมแซมตัวเองทำได้ช้าและใช้เวลานานกว่าเนื้อเยื่ออื่นๆ และหากเส้นเอ็นเกิดการอักเสบเรื้อรัง อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเส้นเอ็น และยากต่อการรักษา

อาการของเส้นเอ็นอักเสบ

  • ความเจ็บปวด อาจมีอาการปวดเรื้อรัง หรือปวดเฉพาะเวลาออกแรง
  • ความแข็งตึง กล้ามเนื้อรอบบริเวณเส้นเอ็นที่อักเสบ อาจมีอาการแข็งตึง
  • บวม อาจมีอาการบวมรอบบริเวณเส้นเอ็นที่อักเสบ
  • ลดความสามารถในการเคลื่อนไหว การเคลื่อนไหวอาจจำกัดลง เนื่องจากความเจ็บปวดหรือความแข็งตึง

การป้องกันเส้นเอ็นอักเสบ

  • ออกกำลังกายอย่างถูกวิธี  ออกกำลังกายโดยใช้เทคนิคที่ถูกต้อง และเพิ่มความหนักของการออกกำลังกายอย่างค่อยเป็นค่อยไป
  • วอร์มร่างกายก่อนออกกำลังกาย วอร์มร่างกายอย่างน้อย 10 นาที ก่อนเริ่มออกกำลังกาย เพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมรับแรงกระแทก
  • ยืดกล้ามเนื้อหลังออกกำลังกาย  ยืดกล้ามเนื้ออย่างน้อย 5 นาที หลังออกกำลังกาย เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของเส้นเอ็น
  • ควบคุมน้ำหนัก ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสมกับส่วนสูง เพื่อลดแรงกดที่เส้นเอ็น
  • สวมใส่รองเท้าที่เหมาะสม  สวมใส่รองเท้าที่เหมาะสมกับกิจกรรมที่ทำ เพื่อลดแรงกระแทกที่เส้นเอ็น
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีน แคลเซียม และวิตามินซี เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับเส้นเอ็น

การวินิจฉัยเส้นเอ็นอักเสบ

การวินิจฉัยเอ็นอักเสบนั้น แพทย์จะทำการตรวจร่างกายและซักประวัติ สอบถามอาการเบื้องต้น เพื่อวินิจฉัยสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ เช่น กิจกรรมที่ทำก่อนจะมีอาการ ลักษณะของอาการปวด ความถี่และระยะเวลาที่เกิดอาการ นอกจากนี้แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยพิเศษเพิ่มด้วยเครื่องมือที่จำเป็น อาทิ การตรวจเอกซเรย์ และ การตรวจภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำและการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

การรักษาเส้นเอ็นอักเสบ

โดยปกติอาการของเส้นเอ็นอักเสบส่วนใหญ่มักดีขึ้นเองภายใน 2-3 วัน ซึ่งการรักษา แบ่งเป็น 2 แบบ ดังนี้

1.ภาวะเส้นเอ็นอักเสบที่ไม่รุนแรง และยังสามารถขยับท่าทางเคลื่อนไหวได้บ้าง แพทย์จะแนะนำให้พักและดูแลรักษาตนเองด้วยการประคบร้อน หรือเย็น รวมไปถึงการรับประทานยาแก้ปวด และยาแก้อักเสบ ในบางกรณีอาจมีการทำกายภาพบำบัดร่วมด้วย ถ้าเป็นมาก ปวดมาก แพทย์อาจพิจารณาใส่เฝือกอ่อนเพื่อให้อวัยวะนั้นได้พัก ลดการขยับ แต่จะใส่ระยะสั้นๆ ไม่เกิน 2 สัปดาห์ จะได้ไม่เกิดภาวะข้อยึดติด

2.ภาวะเส้นเอ็นอักเสบรุนแรง จากอุบัติเหตุ หรือมีอาการเส้นเอ็นอักเสบต่อเนื่อง และพักมา 2 สัปดาห์แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น มีอาการปวดมาก บวมมาก มีจ้ำเลือดขนาดใหญ่ ขยับข้อได้ลดลง รู้สึกอ่อนแรง ไม่สามารถเดินลงน้ำหนักได้ อาจจะมีภาวะเส้นเอ็นอักเสบจนฉีกขาดได้จำเป็นต้องมีการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม รวมทั้งแพทย์อาจจำเป็นต้องพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดส่องกล้องซ่อมแซมเอ็นฉีกขาด (Arthroscopic Surgery)

ภาวะเส้นเอ็นอักเสบ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจนำไปสู่ภาวะเส้นเอ็นอักเสบเรื้อรัง โดยจะส่งผลให้เกิดความเสื่อมสภาพภายในเอ็นกล้ามเนื้อดังกล่าว เกิดข้อติด และส่งผลให้เกิดภาวะเอ็นฉีกขาดได้ หากมีอาการปวดมากกว่า 3 วันแล้วยังไม่หายให้ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาอย่างถูกวิธี


แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– โรงพยาบาลนครธน
– web cetilarthailand
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM

แชร์

สินค้าที่เกี่ยวข้อง

No results found.

ยังไม่มีบัญชี