ทำไมต้องทาน โพรไบโอติก (Probiotics)

หลายคนอาจเคยได้ยินประโยคที่ว่า สุขภาพดีเริ่มต้นได้จากภายในสู่ภายนอก ซึ่งการบริโภคโพรไบโอติกถือเป็นวิธีหนึ่งที่เสริมสุขภาพให้แข็งแรงสอดคล้องกับคำกล่าวในข้างต้น โดยเฉพาะระบบทางเดินอาหารและระบบภูมิคุ้มกัน เพราะเชื่อกันว่าจุลินทรีย์พวกนี้มีส่วนช่วยปรับสมดุลภายในลำไส้ จึงอาจลดปัญหาท้องผูก ท้องเสีย อาหารไม่ย่อย เสริมภูมิคุ้มกัน และลดความรุนแรงของโรคเรื้อรังบางชนิดได้ 

โพรไบโอติก คืออะไร ?

โพรไบโอติกส์ (Probiotic) คือ จุลินทรีย์ขนาดเล็กชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่ในร่างกายมนุษย์ โดยเฉพาะในส่วนระบบทางเดินอาหาร รวมถึงในระบบอื่นๆ ของร่างกาย โพรไบโอติกส์ถือเป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ เนื่องจากมีส่วนช่วยในการทำงานของระบบทางเดินอาหาร ช่วยดูดซึมอาหาร ป้องกันโรค สังเคราะห์วิตามินที่จำเป็นต่อร่างกาย เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ทั้งยังช่วยป้องกันไม่ให้จุลินทรีย์ชนิดก่อโรคเกิดขึ้นในร่างกาย 

โพรไบโอติกส์พบในส่วนใดของร่างกาย ?

จุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ ส่วนมากสามารถพบได้ในระบบทางเดินอาหารของร่างกาย โพรไบโอติกส์ในระบบทางเดินอาหารจะทนทานต่อกรดและด่าง เมื่ออยู่ที่บริเวณผิวของเยื่อบุลำไส้จะสามารถผลิตสารต่อต้านหรือกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ที่ไม่ดีได้ ทำให้ลำไส้แข็งแรง 

นอกจากในระบบทางเดินอาหารแล้ว ยังพบโพรไบโอติกส์ในบริเวณอื่นๆ ของร่างกายอีกด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ในระบบทางเดินหายใจ ภายในช่องปาก บริเวณผิวหนัง ทางเดินปัสสาวะ และมดลูก เป็นต้น

ในปัจจุบันมีการผลิตโพรไบโอติกออกมาหลายรูปแบบ ตั้งแต่อาหาร เครื่องดื่ม ไปจนถึงอาหารเสริมหลายชนิด โดยปกติแล้ว จุลินทรีย์แบ่งออกได้หลายกลุ่ม แต่จะมีเพียงบางสายพันธุ์ในบางกลุ่มเท่านั้นที่เป็นโพรไบโอติก

ตัวอย่าง Probiotics ที่นิยมใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และค่อนข้างปลอดภัยในการรับประทาน เช่น

  • Lactobacillus แลคโตบาซิลลัสเป็นจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในระบบย่อยอาหาร ระบบทางเดินปัสสาวะ และอวัยวะเพศ มีมากกว่า 50 สายพันธุ์ การศึกษาพบว่าแลคโตบาซิลลัสบางสายพันธุ์สามารถบรรเทาหรือป้องกันปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับลำไส้ เช่น โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome: IBS) ท้องเสียจากการใช้ยาปฏิชีวนะ ท้องเสียจากติดเชื้อ Clostridium Difficile ท้องเสียจากการเดินทาง (Traveler’s Diarrhea) ภาวะพร่องเอนไซม์ย่อยนมหรือไม่ทนทานต่อน้ำตาลแล็กโทส (Lactose Intolerance)

นอกจากนี้ แลคโตบาซิลลัสอาจส่งผลดีต่อปัญหาสุขภาพด้านอื่น เช่น การติดเชื้อรา ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ หรือความผิดปกติทางผิวหนังอื่น ๆ อย่างเริมริมฝีปาก ผื่นผิวหนังอักเสบ หรือแผลร้อนใน

  • Bifidobacteria บิฟิโดแบคทีเรีย เป็นจุลินทรีย์ที่อยู่อาศัยในบริเวณลำไส้ใหญ่ มีอยู่ประมาณ 30 สายพันธุ์ โดยพบในระบบทางเดินอาหารของทารก โดยเฉพาะทารกที่ดื่มนมมารดา บิฟิโดแบคทีเรียถือว่าเป็นชนิดที่มีประโยชน์กับทารกอย่างมาก การศึกษาพบว่าเชื้อบิฟิโดแบคทีเรียบางสายพันธุ์ช่วยควบคุมน้ำตาลและไขมันในเลือด บรรเทาโรคลำไส้แปรปรวนและอาการของโรค เช่น ปวดแน่นท้อง ท้องอืด และความผิดปกติเกี่ยวกับการย่อยอาหาร
  • Saccharomyces Boulardii จุลินทรีย์ชนิดนี้เรียกสั้น ๆ ว่า S. Boulardii เป็นโพรไบโอติกชนิดเดียวที่จัดอยู่ในกลุ่มยีสต์ การศึกษาบางส่วนพบว่าเชื้อนี้มีประสิทธิภาพในการป้องกันและรักษาโรคท้องเสียจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ผลข้างเคียงจากยาปฏิชีวนะ โรคท้องเสียจากการท่องเที่ยว (Traveler’s Diarrhea) การติดเชื้อซ้ำจากคลอสตริเดียมดิฟฟิไซล (C. Difficile) การติดเชื้อเชื้อเอชไพโลไร (H. Pylori) และอาจส่งผลดีต่อการรักษาสิวด้วย
  • Streptococcus Thermophilus สเตปค็อกคัสเธอร์โมฟิลัส เป็นจุลินทรีย์ที่มีส่วนในการสร้างเอนไซม์แล็กเทส (Lactase Enzyme) ที่ช่วยในการย่อยน้ำตาลแล็กโทสในน้ำนมสำหรับผู้ที่มีภาวะไม่ทนทานต่อน้ำตาลแล็กโทส (Lactose Intolerance) ซึ่งภาวะนี้มักทำให้เกิดอาการท้องเสีย ปวดท้อง และท้องอืด

ประโยชน์ของโพรไบโอติก

1.ช่วยกระตุ้นระบบย่อยและระบบขับถ่าย ด้วยแลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) จุลินทรีย์ในกลุ่มโพรไบโอติกที่พบได้ตามธรรมชาติโดยเฉพาะบริเวณทางเดินอาหาร

2.ช่วยกระตุ้นภูมิกันคุ้มกันต่างๆ ในร่างกาย

3.ช่วยสร้างเอนไซม์ที่กระตุ้นการย่อยอาหาร

4.ช่วยลดอาการอักเสบต่างๆ เช่น อาการอักเสบในช่องคลอด อาการอักเสบทางเดินปัสสาวะ

5.ช่วยยับยั้งจุลินทรีย์และเชื้อบางชนิด

6.รักษาบรรเทาโรคกระเพาะ

7.ส่งเสริมสุขภาพโดยรวม

8.ป้องกันมะเร็งบางชนิดได้

9.ลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

โพรไบโอติกส์ช่วยบรรเทาโรคใดได้บ้าง ?

โพรไบโอติกส์สามารถป้องกันและบรรเทาโรคได้ จากการเพิ่มปริมาณโพรไบโอติกส์ในร่างกาย โดยการรับประทานอาหารหรืออาหารเสริมที่มีโพรไอโอติกส์สูง โรคที่บรรเทาอาการได้จากการรับประทานโพรไบโอติกส์ เช่น

  • โรคท้องเสีย
  • โรคท้องผูก
  • การติดเชื้อราในระบบทางเดินปัสสาวะ
  • ภาวะอ้วน
  • โรคภูมิแพ้ 
  • โรคผิวหนังอักเสบ
  • โรคตับ
  • ภาวะไขมันพอกตับ
  • โรคโคลิคในเด็ก
  • โรคเชื้อราในช่องคลอด

พรีไบโอติกส์ทานตอนไหน ?

ควรรับประกานพรีไบโอติกส์ก่อนอาหาร หรือระหว่างมื้อ เนื่องจากโพรไบโอติกส์จะถูกทำลายได้ด้วย น้ำย่อย แอลกอฮอล์ หรือยาบางชนิด ช่วงก่อนอาหารกระเพาะจะมีความเป็นกรดต่ำ ส่งผลให้โพรไบโอติกส์ถูกทำลายจากน้ำย่อยลดลง

ควรกินโพรไบโอติกส์ปริมาณเท่าไหร่?

ปริมาณโพรไบโอติกส์ที่ควรรับประทานต่อวันคือ ตั้งแต่ 10-20 พันล้านตัวต่อวัน หรืออย่างต่ำ 10,000 ล้าน CFU โดย CFU คือ หน่วยที่ใช้ตรวจปริมาณจุลินทรีย์ที่อยู่ในสินค้าและอาหารไม่ว่าจะเป็น นมเปรี้ยว หรือ อาหารเสริม

กินไพรไบโอติกส์มากไป ส่งผลอะไรไหม?

การรับประทานโพรไบโอติกส์มากเกินความจำเป็นต่อร่างกายในแต่ละวัน อาจส่งผลข้างเคียงต่อร่างกายได้ ผลข้างเคียงของการรับประทานโพรไบโอติกส์มากเกินไป เช่น

  • เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร
  • เกิดผื่นคันตามผิวหนัง
  • เกิดอาการปวดหัว จากสารเอมีน (Amines)
  • เกิดอาการต้านยาปฎิชีวนะ
  • เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ

หากรับประทานโพรไบโอติกส์แล้วมีอาการ หรือปฏิกริยา ควรหยุดรับประทานทันที และควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุอาการต่อไป

สรุป ทำไมเราถึงควรรับประทานโพรไบโอติก?

จุลินทรีย์โพรไบโอติก ประโยชน์มากมายต่อร่างกายมนุษย์ มีสิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆต่างๆเหล่านี้ที่เรียกว่า “เชื้อประจำถิ่น” (normal flora) อาศัยอยู่ในร่างกายของเรา  หากร่างกายแข็งแรงตามปกติ จุลินทรีย์เหล่านี้จะมีความสมดุล จะไม่มีปัญหาแต่อย่างไร แต่หากมีอะไรบางอย่างมารบกวน เชื้อประจำถิ่น ก็อาจทำให้จุลินทรีย์เหล่านี้ส่งผลให้ร่างกายอ่อนแอลงได้ เช่น กรณีที่เรารับประทานยาปฏิชีวนะเป็นเวลานาน ซึ่งยาปฏิชีวนะนี้สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ดี ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายได้ และเมื่อเจ็บป่วย ก็มีโอกาสที่คุณจะติดเชื้อได้ง่ายกว่าปกติ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องสร้างสมดุลระหว่าง normal flora กับร่างกายมนุษย์

ดังนั้นการทานอาหารเสริมที่มีโพรไบโอติก จึงเป็นช่องทางหนึ่งในการเสริมแบคทีเรียชนิดดีและรักษาสมดุลของแบคทีเรีย ช่วยป้องกันโรค และเสริมสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกายโดยตรง จึงมีส่วนช่วยให้มีสุขภาพดี 


แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– โรงพยาบาลสมิติเวช
– เว็บพบแพทย์
– organicslife.com

เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM

แชร์

สินค้าที่เกี่ยวข้อง

No results found.

ยังไม่มีบัญชี