การแพร่เชื้อทางอากาศ คือการแพร่เชื้อของโรคติดต่อผ่านละอองธุลีที่สามารถอยู่ในอากาศได้เป็นเวลานานและสามารถถูกเคลื่อนย้ายไปตำแหน่งอื่นได้ โรคที่สามารถแพร่เชื้อทางอากาศได้มีหลายโรค ทั้งที่พบในมนุษย์และในสัตว์ เชื้อก่อโรคนั้น ๆ อาจเป็นเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือเชื้อรา สามารถแพร่ผ่านการหายใจ การพูด การไอ จาม การปัดฝุ่น การพ่นสเปรย์ การกดน้ำที่โถชำระ และกิจกรรมใด ๆ ที่ทำให้เกิดอนุภาคละอองลอย (aerosol) หรือละอองฝอย (droplets) โดยทั่วไปแล้วโรคติดต่อที่แพร่เชื้อทางอากาศจะไม่นับรวมโรคที่เกิดจากมลพิษทางอากาศ เช่น สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย แก๊สที่มีพิษต่อร่างกาย หรือฝุ่นอนุภาคอื่น ๆ
เคยไหมเวลามีคนใกล้ ๆ ไอ จาม สร้างความรู้สึกอึดอัดไม่สบายใจให้กับเรา เพราะความกังวลว่าเชื้อจากคนข้าง ๆ อาจกำลังแพร่เข้าเข้าสู่ร่างกายของเราโดยไม่สามารถล่วงรู้ทัน ซึ่งความกังวลเหล่านั้น สามารถลดลงได้หากคุณได้ทราบข้อมูล และปฏิบัติตามวิธีการป้องกันที่ถูกต้อง
เชื้อที่ก่อให้เกิดโรค (Infectious Agents) ในมนุษย์ มีอะไรบ้าง?
1. เชื้อแบคทีเรีย (Bacteria) สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวที่มีโครงสร้างเรียบง่าย ไม่สลับซับซ้อน ไม่มีเยื่อแบ่งบริเวณนิวเคลียส (Nucleus) แบคทีเรียบางชนิดสามารถสร้าง แคปซูล (Capsule) หรือชั้นเมือก (Slime Layer) หรือขนขนาดเล็ก (Pili) ที่ช่วยในการเคลื่อนไหว และการยึดเกาะเซลล์โฮสต์ อาศัยอยู่ทั่วไปในธรรมชาติ ทั้งใต้พื้นดิน ในน้ำ ในอากาศ รวมไปถึงตามร่างกายของพืช สัตว์ และมนุษย์
ตัวอย่างโรคที่เกิดจากแบคทีเรีย ที่ใคร ๆ ก็รู้จัก เช่น การอักเสบติดเชื้อในลำคอ, อาการเจ็บคอ, วัณโรค (Tuberculosis), และอหิวาตกโรค (Cholera) นั่นเอง
2. เชื้อรา (Fungi) คือ สิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ที่มีขนาด และรูปร่างในหลายลักษณะ เช่น ยีสต์ และเห็ดรา มีองค์ประกอบสำคัญที่เรียกว่า “ไฮฟา” (Hypha) ลักษณะคล้ายเส้นใยขนาดเล็กที่อยู่รวมกันเป็นก้อน หรือถักทอเป็นร่างแห (Mycelium) เป็นสิ่งมีชีวิตคล้ายพืช และอาศัยการแบ่งตัว การขาดออกเป็นท่อน รวมไปถึงการสร้างสปอร์ (Spore) ที่สามารถฟุ้งกระจายไปในอากาศเพื่อการสืบพันธุ์
ตัวอย่างโรคที่เกิดจากเชื้อรา ที่เราคุ้นเคยกันดี เช่น โรคน้ำกัดเท้า (Athlete’s foot) โรคกลากและเกลื้อน (Tinea) รวมถึง โรคผื่นภูมิแพ้ ทางผิวหนังต่าง ๆ อย่างรังแค และผื่นภูมิแพ้ที่ใบหน้า เป็นต้น
3. ไวรัส (Virus) คือ สิ่งอนุภาคขนาดเล็กที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางราว 20 ถึง 400 นาโนเมตร ประกอบขึ้นจากองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ส่วน คือ สารพันธุกรรม (Genetic Materials) หรือกรดนิวคลิอิก (Nucleic Acids) ที่เรารู้จักกันดีในชื่อดีเอ็นเอ (DNA) และอาร์เอ็นเอ (RNA) ห่อหุ้มด้วยโปรตีน (Capsid) และไขมันด้านนอกสุดของเปลือกหุ้ม (Envelope) ที่สำคัญไวรัสมีความสามารถในการกลายพันธุ์ และวิวัฒนาการตนเอง
ตัวอย่างโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ที่เรารู้จักกันดีคือ ไข้หวัดใหญ่ (Influenza) หรือ ล่าสุด โรคโควิด-19 (Coronavirus Disease-2019) ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบหายใจ เป็นไวรัสที่เกิดจากการติดเชื้อผ่านละอองฝอย (Droplets) และการสัมผัสสารคัดหลั่งที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส นั่นเอง
นอกจากเชื้อที่กล่าวมาข้างต้นแล้วยังมีเชื้อที่ไม่ก่อให้เกิดโรค Normal flora ซึ่งสามารถแพร่กระจายออกไปได้ผ่านทางช่องทางวิธีต่าง ๆ เช่นละอองเกสรดอกไม้ เศษอินทรียวัตถุจากการเผาไหม้ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของอาการภูมิแพ้ในคนที่แพ้ต่อสารชนิดนั้น ๆ เช่น
- ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ดูแลรักษายังไงดี ?
- ไข้หวัดใหญ่ อันตรายใกล้ตัวของคนไทย!
- ภูมิแพ้เกสรดอกไม้ สาเหตุ อาการ และวิธีรักษา
การแพร่เชื้อโรคระหว่างคนสู่คน เกิดขึ้นได้ด้วยวิธีการใด?
การติดต่อรับเชื้อนั้นสามารถเกิดขึ้นได้มากกว่าหนึ่งช่องทาง ซึ่งการแพร่กระจายของเชื้อโรคจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง โดยภาพรวมนั้นเกิดขึ้นได้ 4 ลักษณะ ดังต่อไปนี้
1.Contact transmission การแพร่กระจายเชื้อที่เกิดจากการสัมผัส สามารถแบ่งย่อยออกเป็น
1.1 Direct contactst transmission คือกระบวนการแพร่ของโรคโดยการสัมผัสกับเชื้อของผู้มีเชื้อโดยตรง เช่น การสัมผัสทางผิวหนัง สารรคัดหลั่งต่าง ๆ โดยปราศจากการสวมอุปกรณ์เครื่องมือป้องกัน
1.2 Indirect contact transmission คือการแพร่ของเชื้อโรคที่เกิดจากการสัมผัสทางอ้อม คือผู้รับเชื้อไม่ได้ทำการสัมผัส กับแหล่งโรคโดยตรง เช่น การถูกเข็มที่ปนเปื้อนเลือดตำ การสัมผัสสิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัวร่วมกัน
2. Vectors คือลักษณะการแพร่กระจายเชื้อโดยมีสัตว์เป็นพาหะ เช่น ยุงลาย หนู ไร แมงหวี่ พบโรคทั่วไปที่พบมากผ่านวิธีการแพร่กระจายเชื่อโดยสัตว์เป็นพาหะได้แก่ โรคไข้เลือดออก อหิวาตกโรค เป็นต้น
3. Droplet transmission คือ ลักษณะการแพร่กระจาย ของเชื้อโรคในอากาศ เกิดขึ้นจากการที่เชื้อโรคแพร่กระจายไปกับฝอยละอองขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นกลไกการแพร่เชื้อที่พบมากในกลุ่ม โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน ที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดต่าง ๆ อาทิ ไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก (avian influenza) severe acute respiratory syndrome (SARS) เป็นต้น หรือแม้แต่โรคอุบัติใหม่ยอดฮิตอย่างโควิด-19
4. Airborne transmission คือลักษณะของการแพร่กระจายของเชื้อโรค ของเชื้อโรคในอากาศอีกลักษณะหนึ่ง ที่เชื้อมีการแฝงตัวไปกับฝอยละอองขนาดเล็กกว่า 5 ไมครอน ซึ่งด้วยขนาดที่เล็กมากนั้น ทำให้ฝอยละอองที่มีเชื้อปะปนอยู่นั้นสามารถกระจายตัวไปได้ไกลในอากาศ โดยเฉพาะในบริเวณที่อากาศไม่สามารถถ่ายเทหมุนเวียนได้อย่างเหมาะสม
วิธีป้องกันลดเสี่ยงการติดเชื้อโรคระบาดต่างๆ
- ล้างมือทุกครั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร
- ล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัสสิ่งของสาธารณะ เช่น กลอนประตู ลูกบิด ราวบันได ราวบนรถโดยสาร
- ล้างมือทุกครั้งหลังขับถ่าย หรือใช้ห้องน้ำ
- หลีกเลี่ยงการคลุกคลี ใกล้ชิด และใช้ของใช้ร่วมกับผู้ป่วยโรคระบาด
- ใช้ผ้าหรือกระดาษทิชชู่ปิดปากและจมูกทุกครั้ง เมื่อไอ จาม
- หากเจ็บป่วยเป็นไข้หวัด ควรใช้หน้ากากอนามัยเมื่อต้องไปสถานที่ชุมชน
- หมั่นทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เช่น โอ่งน้ำ แจกัน กระป๋อง ยางรถยนต์เก่าๆ หลุมที่มีน้ำขัง
- รับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ ถูกสุขลักษณะ
- หลีกเลี่ยงอาหารดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ
- ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ
- ใช้ภาชนะที่สะอาดในการรับประทานอาหารและดื่มน้ำ
- ออกกำลังกายเป็นประจำตามความเหมาะสมของอายุ ความแข็งแรง หรือปรึกษาแพทย์ก่อนหากไม่ได้ออกกำลังกายมานาน
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– web wikipedia
– web gedgoodlife
– โรงพยาบาลพญาไท
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM