Azithromycin (อะซิโทรมัยซิน) เป็นยาปฏิชีวนะกลุ่มแมคโครไลด์ (Macrolide) ที่ใช้รักษาอาการติดเชื้อจากแบคทีเรีย เช่น โรคปอดบวม โรคหลอดลมอักเสบ ทอนซิลอักเสบ ไซนัสอักเสบ การติดเชื้อที่หูชั้นกลาง รวมถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างหนองในแท้และหนองในเทียม โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย
ปริมาณการใช้ยา Azithromycin สำหรับโรคหนองในชนิดไม่มีภาวะแทรกซ้อน
- ผู้ใหญ่ ให้รับประทานยาในปริมาณ 1-2 กรัม เพียงครั้งเดียวร่วมกับยา Ceftriaxone (เซฟไตรอะโซน)ขนาด 1–2 กรัม ครั้งเดียว
การใช้ยา Azithromycin
- ผู้ที่ใช้ยา Azithromycin ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรอย่างเคร่งครัด ไม่ควรใช้ยาในปริมาณที่มากหรือน้อยกว่าที่แพทย์กำหนด และไม่ควรหยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน ผู้ที่ใช้ยาชนิดรับประทานเป็นแคปซูลหรือยาแขวนตะกอนชนิดออกฤทธิ์นาน ให้รับประทานยาในขณะท้องว่าง หรือประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนอาหารหรือ 2 ชั่วโมงหลังอาหาร
- หากเป็นยาเม็ดหรือยาแขวนตะกอนชนิดออกฤทธิ์ทันที สามารถรับประทานได้ทั้งก่อนและหลังอาหาร กรณีที่รับประทานยาแล้วรู้สึกระคายเคืองกระเพาะอาหาร ให้รับประทานหลังอาหารแทน นอกจากนี้ ยาแขวนตะกอนควรเขย่าขวดก่อนรับประทานยาทุกครั้ง เพื่อให้ตัวยาผสมเข้ากันดีก่อนรับประทาน และให้ใช้อุปกรณ์สำหรับตวงยาเสมอ เพื่อป้องกันการรับประทานยาเกินหรือต่ำกว่าปริมาณที่แพทย์กำหนด
- หากลืมรับประทานยาตามเวลาที่แพทย์สั่ง เมื่อนึกขึ้นได้สามารถรับประทานได้ทันที หากลืมรับประทานยาใกล้กับมื้ออาหารถัดไป ให้รับประทานยาในขนาดปกติ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเพื่อทดแทนมื้อที่ขาดหายไป และควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากลืมรับประทานยาบ่อย ๆ
- ในระหว่างที่ใช้ยานี้ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยมาตรวจร่างกาย เช่น ตรวจเลือดและตรวจการทำงานของตับเพื่อติดตามอาการ ซึ่งผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง สำหรับการเก็บรักษายา ควรเก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง เก็บให้พ้นมือเด็ก และไม่ควรเก็บในที่ที่มีความร้อนและความชื้น
ปฏิกิริยาระหว่างยา Azithromycin กับยาอื่น
- ผู้ที่ต้องใช้ยา Azithromycin ควรแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบก่อน หากกำลังใช้ยาชนิดใด ๆ หรือผลิตภัณฑ์สมุนไพรและผลิตภัณฑ์อาหารเสริมต่าง ๆ อยู่ โดยเฉพาะยารักษาโรคหัวใจ ยาแก้แพ้ ยาที่แพทย์ให้หลังจากปลูกถ่ายอวัยวะ และยาละลายลิ่มเลือด
อาการข้างเคียงของยา azithromycin
อาการข้างเคียงที่พบได้บ่อย ได้แก่ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน อุจจาระเหลว ท้องเสีย หากคุณมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้หลังจากรับประทานยา ถึงแม้ว่าอาการอาจจะเกิดได้น้อยมากแต่มีความรุนแรง ให้ปรึกษาแพทย์โดยเร็วที่สุด
- การได้ยินเปลี่ยนไป เช่น การได้ยินลดลง, หูหนวก
- ปัญหาเกี่ยวกับตา เช่น หนังตาตก, ตาพร่ามัว
- การพูด หรือ กลืนลำบาก กล้ามเนื้ออ่อนแรง- มีปัญหาของโรคตับ เช่น อ่อนเพลียผิดปรกติ, คลื่นไส้หรืออาเจียนเรื้อรัง, ปวดท้องรุนแรง, ตัวเหลือง, ตาเหลือง,ปัสสาวะมีสีเข้ม
- หัวใจเต้นเร็วหรือผิดจังหวะ
อาการแพ้ยา azithromycin ที่ควรระวัง
- ยานี้อาจเป็นสาเหตุของอาการทางลำไส้ที่ร้ายแรงแต่พบได้น้อย คืออาการท้องเสียที่สัมพันธ์กับเชื้อ Clostridium difficile (Clostridium difficile-associated diarrhea) โดยอาการนี้อาจเกิดขึ้นระหว่างการใช้ยา azithromycin หรือภายในสัปดาห์จนถึงเดือนหลังหยุดยาแล้ว
- ให้แจ้งแพทย์ทันทีหากคุณมีอาการเหล่านี้: ท้องเสียต่อเนื่อง, ปวดท้อง ท้องเกร็ง, อุจจาระมีมูก/เลือดปน อย่าใช้ยาแก้ท้องเสีย หรือยาแก้ปวดกลุ่มที่มีฤทธิ์เสพติด ถ้าคุณมีอาการดังกล่าว เนื่องจากอาจทำให้อาการแย่ลงได้
- การใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน หรือใช้ซ้ำหลายครั้ง อาจทำให้ติดเชื้อราในช่องปาก (oral thrush) หรือเกิดการติดเชื้อรา ให้ไปพบแพทย์หากคุณมีฝ้าสีขาว (คราบสีขาว) ในช่องปาก, มีตกขาวผิดปกติทางช่องคลอด หรือมีอาการอื่นๆ เกิดขึ้น
- ปฏิกิริยาการแพ้ยานี้ เป็นเรื่องที่พบได้น้อย อย่างไรก็ตามถ้าเกิดอาการใดๆ ของการแพ้ยาให้รีบไปพบแพทย์ทันที ได้แก่ อาการไข้ที่ไม่ดีขึ้นเลย, ต่อมน้ำเหลืองโตมากขึ้น, มีผื่น, คัน บวม (โดยเฉพาะที่หน้า ลิ้น คอ), เวียนศีรษะรุนแรง, หายใจลำบาก
- ปฏิกิริยาแพ้ยาอาจกลับมาเป็นซ้ำได้แม้ว่าจะหยุดยาไปแล้วก็ตาม ถ้าคุณมีอาการแพ้ยาเกิดขึ้น ให้สังเกตอาการของการแพ้ดังกล่าวไปอีกหลายวันหลังจากหยุดยา
อาการข้างเคียงที่กล่าวไว้ข้างต้นไม่ใช่อาการข้างเคียงทั้งหมดที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนั้นถ้าคุณมีอาการผิดปกติใดๆ ที่ไม่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– pobpad.com
– hdmall.co.th
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM