โรคหนองในเทียม ใช้ยาอะไรรักษา

การรักษาหนองในเทียม
การรักษาหนองในเทียมสามารถรักษาได้โดยการรับประทานยาปฏิชีวนะเพื่อช่วยรักษาหรือป้องกันการติดเชื้อและแพร่กระจายของแบคทีเรีย ตัวอย่างกลุ่มยาปฏิชีวนะที่ใช้ในการรักษาหนองในเทียมในประเทศไทย ได้แก่

  • กลุ่มยาเพนิซิลลิน (Penicillins) ได้แก่ อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin)
  • กลุ่มยาแมคโครไลด์ (Macrolides) ได้แก่ อะซิโธรมัยซิน (Azithromycin), อิริโทรมัยซิน (Erythromycin), ร็อกซิโทรมัยซิน (Roxithromycin)
  • กลุ่มยาเตตราไซคลิน (Tetracyclines)ได้แก่ ดอกซีไซคลิน (Doxycycline) เตตราไซคลิน (Tetracycline)

การรักษาหนองในเทียม แพทย์จะทำการเลือกใช้และปริมาณยาจะตามอวัยวะที่ติดเชื้อ ดังต่อไปนี้
หนองในเทียมที่อวัยวะเพศ ทวารหนัก และคอ แนะนำให้เลือกใช้ยาอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่

  • อะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) 1 กรัม กินครั้งเดียว ก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง
  • ดอกซีไซคลิน (Doxycycline) 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง หลังอาหาร นาน 14 วัน
  • อิริโทรมัยซิน (Erythromycin) 500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง นาน 14 วัน
  • ร็อกซิโทรมัยซิน (Roxithromycin) 150 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหาร 15 นาที นาน 14 วัน

หนองในเทียมเยื่อบุตาในผู้ใหญ่ แนะนำให้เลือกใช้ยาอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่

  • อะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) 1 กรัม กินครั้งเดียว
  • ดอกซีไซคลิน (Doxycycline) 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง หลังอาหาร นาน 10 วัน
  • อิริโทรมัยซิน (Erythromycin) 500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง หลังอาหาร นาน 21 วัน
  • เตตราไซคลิน (Tetracycline) 250 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง หลังอาหาร นาน 21 วัน

ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นหลังได้รับการรักษาในระยะเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ ผู้ป่วยในเพศหญิงอาจมีอาการติดเชื้อหนองในเทียมขั้นรุนแรง แพทย์อาจจ่ายยาด้วยการฉีดเข้าเส้นเลือด ในระหว่างนี้ผู้ป่วยควรงดการมีเพศสัมพันธ์ทุกรูปแบบ จนกว่าจะสิ้นสุดการรักษา แม้จะมีการใส่ถุงยางอนามัยป้องกัน และสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับยาแบบครั้งเดียว ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์เป็นเวลา 1 สัปดาห์ และรับประทานยาจนครบตามแพทย์สั่ง ถึงแม้จะรู้สึกว่าอาการดีขึ้นแล้วก็ตาม หลังจากนั้น 3 เดือน ควรกลับไปตรวจอีกครั้ง เพื่อลดอัตราเสี่ยงการเกิดซ้ำ ร่วมกับการตรวจคัดกรองหาเชื้อในคู่นอนที่เคยมีเพศสัมพันธ์กันภายใน 6 เดือนที่ผ่านมาด้วย

หนองในเทียมในหญิงตั้งครรภ์และเด็ก
หากติดเชื้อหนองในเทียมในระหว่างตั้งครรภ์ อาจเกิดการแพร่เชื้อจากมารดาสู่ทารก ส่งผลทำให้ทารกเกิดการติดเชื้อที่ตาและปอดได้ หากมารดาไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที จะส่งผลให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด ทารกมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์ หรือแท้งได้ และอาจส่งผลต่อระบบสืบพันธ์ุทำให้มีบุตรยากอีกด้วย
การรักษาหนองในเทียมในหญิงตั้งครรภ์และเด็ก สามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะเช่นเดียวกันกับผู้ป่วยปกติ แต่จะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

หญิงตั้งครรภ์

  • เซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) 250 มิลลิกรัม ฉีดเข้ากล้ามเนื้อครั้งเดียว ร่วมกับ อะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) 1 กรัม กินครั้งเดียว
  • อิริโทรมัยซิน (Erythromycin) 500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง หลังอาหาร นาน 7 วัน หรือวันละ 2 ครั้ง หลังอาหาร นาน 14 วัน

หญิงในช่วงให้นมบุตร

  • เซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) 250 มิลลิกรัม ฉีดเข้ากล้ามเนื้อครั้งเดียว ร่วมกับการรักษาหนองในเทียม
  • อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin) 500 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร นาน 7 วัน


แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– เว็บพบแพทย์
– medthai.com
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM

แชร์

สินค้าที่เกี่ยวข้อง

No results found.

ยังไม่มีบัญชี