Azithromycin (อะซิโทรมัยซิน) มีข้อบ่งใช้สำหรับการติดเชื้อแบคทีเรียที่ไวต่อยานี้ โดยยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคปอดบวม โรคหลอดลมอักเสบ ทอนซิลอักเสบ ไซนัสอักเสบ การติดเชื้อที่หูชั้นกลาง รวมถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างหนองในแท้และหนองในเทียม โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย
สรรพคุณของยา azithromycin
- รักษาการติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ ไซนักอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ
- รักษาการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะและทางเพศสัมพันธ์ เช่น ท่อปัสสาวะอักเสบ ปากมดลูกอักเสบ การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์จากเชื้อแบคทีเรีย เช่นหนองใน
- รักษาการติดเชื้อที่ผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อน เช่น แผลติดเชื้อ ฝี การติดเชื้อจากบาดแผล
- รักษาการติดเชื้อทางเดินอาหาร และแบคทีเรีย
- รักษาการติดเชื้ออื่นๆ
การใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่มีความจำเป็น เป็นสาเหตุของการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรียได้ (ประสิทธิภาพของยาลดลง) ควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ หรือ เภสัชกร
วิธีใช้ยา azithromycin
ยามีหลายขนาดทั้งแบบเม็ด ยาน้ำแขวนตะกอน ยาฉีด ที่นิยมใช้จะเป็นยาเม็ด azithromycin 250 mg หรือ 500 mg ซึ่งควรให้แพทย์หรือเภสัชกรเป็นผู้เลือกชนิดและปริมาณยาที่ใช้ ไม่ควรหายามาทานเอง
1.อ่านคำแนะนำในการใช้ยาที่ได้รับจากเภสัชกรก่อนใช้ยานี้ และในทุกครั้งที่ได้รับยานี้ หากมีคำถามเพิ่มเติมหรือเกิดอาการข้างเคียงใดๆ โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
2. ขนาดรับประทานของยา azithromycin ขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของโรค จึงควรรับประทานยาตามแพทย์สั่งเสมอ สำหรับยา azithromycin ชนิด ผงสำหรับผสมเป็นยาน้ำแขวนตะกอนสำหรับรับประทาน สามารถรับประทานพร้อมอาหารหรือไม่ก็ได้ ในกรณีของ azithromycin ชนิดแคปซูลหรือชนิดเม็ด แนะนำให้ทานยา azithromycin ก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง หรือ หลังอาหาร 2 ชั่วโมง โดยทั่วไปรับประทานวันละ 1 ครั้ง โดยแนะนำให้รับประทานในช่วงเวลาเดียวกันของทุกวัน และควรรับประทานยาให้ครบตามที่แพทย์สั่งแม้ว่าคุณจะมีอาการดีขึ้นแล้วก็ตาม การหยุดยาก่อนกำหนดอาจทำให้เชื้อแบคทีเรียกลับมาเจริญเติบโตและทำให้การติดเชื้อกลับมาเป็นซ้ำได้
3.ถ้าบุตรหลานของคุณอาเจียนออกมาภายใน 1 ชั่วโมงของการรับประทานยา ให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรว่าจำเป็นต้องรับประทานยาซ้ำหรือไม่
4.ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องรับประทานยาลดกรด (antacids) ที่มีส่วนประกอบของอะลูมิเนียม (aluminium) หรือ แมกนีเซียม (magnesium) ควรรับประทาน ยา azithromycin ก่อนหรือหลังยาลดกรดอย่างน้อย 2 ชั่วโมง เนื่องจากยาลดกรด มีผลทำให้ การดูดซึมยา azithromycin ลดน้อยลง
ข้อห้ามใช้และข้อควรระวัง
1.ห้ามใช้ในผู้ที่เคยแพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้ หรือยากลุ่มแมคโครไลด์
2.หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ในหญิงให้นมบุตรเนื่องจากไม่มีข้อมูลยืนยันความปลอดภัย
3.ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับยาแก้ปวดหัวไมเกรนกลุ่มเออร์โกทามีนเพราะอาจทำให้เกิดปลายมือปลายเท้าเย็น ปวด ผิวหนังเขียวคล้ำ
4.หากเป็นโรคหัวใจ ควรแจ้งแพทย์ก่อนใช้ยา
5.ระวังการใช้ร่วมกับยาลดไขมันซิมวาสแตติน
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Azithromycin
ผู้ที่ใช้ยา Azithromycin อาจเกิดผลข้างเคียงบางอย่างจากการใช้ยาได้ โดยอาการที่พบได้บ่อย เช่น เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ระคายเคืองกระเพาะอาหาร เบื่ออาหาร กระบวนการรับรู้รสเปลี่ยนไป และรู้สึกชาตามผิวหนัง ซึ่งผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากพบอาการเหล่านี้แล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรหยุดใช้ยาแล้วรีบไปพบแพทย์ทันที หากพบอาการที่มีความรุนแรง เช่น
- อาการแพ้ยา เช่น หายใจไม่ออก มีผื่นขึ้น หรือเกิดอาการบวมบริเวณใบหน้า ลิ้น ริมฝีปาก และลำคอ
- อาการทางผิวหนัง เช่น มีผื่นขึ้น เกิดแผลพุพอง ผิวลอก
- สัญญาณของการติดเชื้อ เช่น มีไข้ เจ็บคอ หนาวสั่น
- ปัญหาเกี่ยวกับตับ เช่น คลื่นไส้ อ่อนเพลีย ปวดท้องส่วนบน คันตามร่างกาย ปัสสาวะสีเข้ม อุจจาระสีดำ หรือผิวและดวงตาเป็นสีเหลือง
- อาการอื่น ๆ เช่น ปวดกล้ามเนื้อ เกิดรอยช้ำง่าย หัวใจเต้นเร็ว ถ่ายเป็นน้ำหรือปนเลือด
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– กองเภสัชกรรม สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร
– เว็บPobpad
– เว็บhellokhunmor
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM