NSAIDs คือ กลุ่มยาต้านอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-steroidal anti-inflammatory drugs) ที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยทั่วไปมักเรียกว่ายาแก้ปวดข้อหรือยาแก้อักเสบ โดยยา NSAIDs ถือเป็นยาที่มีประโยชน์ในทางการแพทย์มาก เพราะนอกจากสรรพคุณในการลดอาการอักเสบ เช่น ข้อกระดูกเสื่อม ข้ออักเสบรูมาตอยด์ ข้ออักเสบในโรคเกาต์ เอ็นอักเสบเท่านั้น แต่ยังสามารถใช้ในการบรรเทาอาการปวดทั้งแบบรุนแรงและเฉียบพลัน เช่น ปวดไมเกรน ปวดประจำเดือน ปวดฟัน ปวดแผลผ่าตัด และช่วยลดอุณหภูมิของร่างกายทำให้สามารถใช้ลดไข้ได้อีกด้วย
ยา NSAIDs ที่ใช้แพร่หลายในประเทศไทย ได้แก่ แอสไพริน (Aspirin) ไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) นาโปรเซน (Naproxen) อินโดเมธาซิน (Indomethacin) อีโตริคอกซิบ (Etoricoxib) หรืออาร์โคเซีย (Arcoxia) และเซเลโคซิบ (Celecoxib) หรือเซเลเบรก (Celebrex)
ข้อบ่งใช้
- รักษาอาการปวด บวม อักเสบ ลดไข้
กลไกการออกฤทธิ์ของยาในกลุ่ม NSAIDs
ยา NSAIDs คือ ยาที่มีกลไกออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์เอนไซม์ไซโคลออกซิจีเนส (Cyclooxygenase) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า เอนไซม์ค็อกซ์ (COX) ซึ่งมี 2 ตัวคือ ค็อกซ์-1 (COX-1) และค็อกซ์-2 (COX-2) โดยเอนไซม์ค็อกซ์-1 จะทำหน้าที่สร้างสารเคมีที่เรียกว่า สารพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandins) ที่ช่วยดูแลสมดุลของร่างกาย เช่น ควบคุมการไหลเวียนของเลือดที่ไต ส่วนเอนไซม์ค็อกซ์-2 จะสร้างโพรสตาแกลนดินที่เป็นสาเหตุของอาการปวด อาการอักเสบ และอาการไข้
เมื่อรับประทานยาในกลุ่ม NSAIDs เข้าไป ยาจะไปยับยั้งเอนไซม์ไซโคลออกซิจีเนส ทำให้ลดการผลิตสารพรอสตาแกลนดิน จึงส่งผลให้อาการปวด อาการไข้ หรืออาการอักเสบลดลงได้ ยา NSAIDs บางตัวจะยับยั้งทั้งเอนไซม์ค็อกซ์-1 และค็อกซ์-2 ทำให้อาจส่งผลต่อการทำงานส่วนอื่นๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะทำให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหาร จึงได้มีการผลิตยา NSAIDs ที่ออกฤทธิ์ที่เอนไซม์ค็อกซ์-2 มากกว่า หรือออกฤทธิ์เฉพาะเอนไซม์ค็อกซ์-2 อย่างเดียว เพื่อลดผลข้างเคียงต่อร่างกาย
ปริมาณการใช้ยา NSAIDs
ยาในกลุ่ม NSAIDs แพทย์จะสั่งยาตามเงื่อนไขของผู้ป่วยแต่ละคน เช่น 1-4 ครั้งต่อวัน อาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่านั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ยาจะสะสมในร่างกาย หรืออายุและน้ำหนักตัวของผู้ป่วย แพทย์อาจเพิ่มความแรงของยาในผู้ป่วยที่เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือลดความแรงของยาในผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมหรือมีอาการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อ ตัวอย่างปริมาณการใช้ยาในกลุ่ม NSAIDs
ยาไอบูโปรเฟน (Ibuprofen)
ผู้ใหญ่ เริ่มต้นรับประทานยาปริมาณ 400 มิลลิกรัม แล้วต่อด้วยปริมาณ 200-400 มิลลิกรัม ตามความจำเป็นทุก 4 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 4 ครั้งต่อวัน
เด็ก รับประทานทุก 6 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 4 ครั้งต่อวัน ปริมาณของยาขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวของเด็ก ดังนี้
- น้ำหนักตัว 7-8 กิโลกรัม รับประทานยาปริมาณ 50 มิลลิกรัม
- น้ำหนักตัว 9-10 กิโลกรัม รับประทานยาปริมาณ 75 มิลลิกรัม
- น้ำหนักตัว 11-16 กิโลกรัม รับประทานยาปริมาณ 100 มิลลิกรัม
- น้ำหนักตัว 17-21 กิโลกรัม รับประทานยาปริมาณ 150 มิลลิกรัม
- น้ำหนักตัว 22-27 กิโลกรัม รับประทานยาปริมาณ 200 มิลลิกรัม
- น้ำหนักตัว 28-32 กิโลกรัม รับประทานยาปริมาณ 250 มิลลิกรัม
- น้ำหนักตัว 33-43 กิโลกรัม รับประทานยาปริมาณ 300 มิลลิกรัม
- น้ำหนักตัว 44 กิโลกรัมขึ้นไป รับประทานยาปริมาณ 400 มิลลิกรัม เหมือนผู้ใหญ่
ยานาโปรเซน (Naproxen)
ผู้ใหญ่ เริ่มต้นด้วยปริมาณ 440 มิลลิกรัม แล้วต่อด้วยปริมาณ 220 มิลลิกรัม ทุก 8-12 ชั่วโมง ตามความจำเป็น
ดื่มน้ำตามมาก ๆ และไม่ควรรับประทานยาเกิน 660 มิลลิกรัม ต่อวัน
ผู้ใหญ่ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ไม่ควรรับประทานยาเกิน 220 มิลลิกรัม ต่อ 12 ชั่วโมงยกเว้นแพทย์สั่ง
ไม่ควรใช้ยานาโปรเซนในเด็ก ยกเว้นแพทย์สั่ง
ข้อควรระวังในการใช้ยา NSAIDs
- การใช้ยากลุ่มนี้จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์หรือใช้ภายใต้คำแนะนำของเภสัชกรเท่านั้น และมีข้อควรระวัง ดังนี้
- ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยาหรือมีประวัติเคยแพ้ยากลุ่ม NSAIDs
- ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีแผลในทางเดินอาหารระยะเฉียบพลัน
- ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืด เพราะยาอาจทำให้อาการหอบหืดรุนแรงขึ้น
- ระวังการใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะการแข็งตัวของเลือดบกพร่อง ผู้ที่อยู่ระหว่างการใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน โรคกระเพาะอาหารอักเสบ โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคตับ โรคไต
- ระมัดระวังการใช้ยา NSAIDs ในผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง
- ระวังในการใช้ในสตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตร เนื่องจากยาบางตัวสามารถถูกส่งผ่านรกและถูกขับออกทางน้ำนมได้
- ระวังการใช้ยาร่วมกับยาอื่น เพราะยาในกลุ่มนี้เกิดปฏิกิริยาระหว่างยาได้มาก
- ห้ามรับประทานยา NSAIDs ร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะยิ่งทำให้ตับทำงานหนักขึ้น
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา NSAIDs
- ผลข้างเคียงต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้เกิดภาวะหัวใจวายและเส้นเลือดในสมองแตก ผู้ที่รับประทานยาในกลุ่ม NSAIDs หรือผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจวายและเส้นเลือดในสมองแตกได้ โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ยาเซเลเบรก (Celebrex) อย่างไรก็ตาม ยากลุ่ม NSAIDs บางชนิดเช่น แอสไพริน มีคุณสมบัติต้านการทำงานของเกล็ดเลือดหากให้ในระดับต่ำ จะส่งผลให้เลือดแข็งตัวได้ช้า ลดโอกาสเกิดลิ่มเลือด แพทย์จึงใช้ยากลุ่มนี้เพื่อต้านการแข็งตัวของเลือดในการป้องกันและรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน แต่หากใช้ยากลุ่ม NSAIDs ร่วมกับแอสไพรินอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกได้
- ผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหาร มักพบอาการแสบร้อนกลางอก คลื่นไส้ ปวดท้อง มีแผลหรือเลือดออกในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ พบมากในผู้ป่วยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป สูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ มีประวัติเป็นแผลในกระเพาะอาหาร หรือมีภาวะไตวาย ยกเว้นการใช้ยาเซเลเบรก (Celebrex) ที่ออกแบบมาให้ไม่มีผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหาร
- ผลข้างเคียงต่อความดันในเลือด เมื่อรับประทานยาในกลุ่ม NSAIDs เข้าไป จะทำให้ความดันในเลือดสูงขึ้น ผู้ที่มีเลือดออกในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ จะเสี่ยงต่อภาวะเลือดไหลไม่หยุด ถ้ามีการรับประทานยา NSAIDs ก่อนการผ่าตัดประมาน 1 สัปดาห์ แพทย์จะแนะนำให้หยุดรับประทานยาเพื่อลดความเสี่ยงของภาวะเลือดออกมากเกินไป
- ผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดการหายใจเสียงดัง หายใจเร็ว ใบหน้าหรือลำคอบวม อาการเหล่านี้พบมากในผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืด ไซนัส หรือมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ หรือเนื้องอกในโพรงจมูก
- ผลข้างเคียงต่อตับ ทำให้เกิดความเสียหายต่อตับ โดยเฉพาะผู้ที่รับประทานยากลุ่ม NSAIDs เป็นระยะเวลานาน และใช้ในปริมาณมาก
- ผลข้างเคียงต่อไต การรับประทานยากลุ่ม NSAIDs แม้ในระยะเวลาสั้นก็สามารถส่งผลให้เกิดอันตรายต่อไตได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่เป็นโรคไตอยู่แล้ว ควรตรวจความดันเลือดและการทำงานของไตอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรือมากกว่า ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของผู้ป่วยแต่ละราย
การใช้ยากลุ่มนี้จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ หรือซื้อภายใต้คำแนะนำของเภสัชกร
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– doctorraksa.com
– เว็บพบแพทย์
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM