แบคทีเรียกินเนื้อคน ระบาดหนัก!!!

โรคแบคทีเรียกินเนื้อคนหรือเรียกอีกอย่างว่าโรคเนื้อเน่า (Necrotizing fasciitis) เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียที่เนื้อเยื้อใต้ผิวหนัง อาทิ ไขมันใต้ผิวหนัง ผังผืดและกล้ามเนื้อ จะมีความรุนแรงมาก อันตรายถึงชีวิต ตอนนี้กำลังระบาดหนักที่ญี่ปุ่นเลย 500 กว่าราย แผลของบางคนก็อาจมีเชื้อได้หลายชนิด ถ้าเป็นในต่างประเทศก็มักจะเจอแบคทีเรียตามน้ำทะเล และเข้าสู่ร่างกายคนผ่านการว่ายน้ำ ดำน้ำ หรือกินอาหารทะเลดิบหรือปรุงไม่สุก โดยเฉพาะพวกหอยต่างๆ อย่างหอยนางรม เพราะพวกนี้มันดูดซับแบคทีเรียไว้กับตัวได้ดี แล้วเป็นตัวที่เรานิยมกินดิบ

สาเหตุ
เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียและทำให้เกิดการอักเสบแบบมีเนื้อตายที่ผิวหนังตั้งแต่ชั้นหนังกำพร้าถึงชั้นเนื้อเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ พบบ่อยในผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันต่ำ มีโรคเบาหวานหรือโรคตับแข็ง เชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคแบ่งได้เป็นสองกลุ่ม

  • กลุ่มแรกเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดร่วมกัน เช่น เชื้อแอโรโมแนส (Aeromonas spp)
  • กลุ่มที่สองเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียหนึ่งชนิดได้แก่ เชื้อสเตรปโตคอคคัสกรุ๊ปเอ (group A streptococcus) การติดเชื้อมักพบหลังการผ่าตัดหรือหลังประสบอุบัติเหตุทำให้เกิดแผลและสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่มีเชื้อแบคทีเรียซึ่งแตกต่างกันตามชนิดของเชื้อ เช่น เชื้อแอโรโมแนสจะพบในน้ำจืด น้ำกร่อย

บริเวณที่ติดเชื้อได้ง่าย
ส่วนใหญ่โรคนี้จะเป็นที่ขาและเท้า อย่างบ้านเราก็เจอเยอะ เพราะชาวไร่ชาวนาต้องเดินลุยนาข้าว ลุยพงหญ้า ทำให้มีแผลใบไม้ใบหญ้าบาด เปลือกหอยบาด กิ่งไม้ตำ พอเป็นแผลเล็กๆก็เลยไม่ได้สนใจทำความสะอาด บางคนก็ไปหาสมุนไพรมาพอกแผลเอง บ้างก็ย่ำโคลนตอนทำนา เชื้อโรคมันก็เลยเข้าไปในแผลได้ ทำให้อักเสบ ผิวหนังจะออกคล้ำๆ ลุกลาม หรือเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด บางคนถึงแก่ชีวิตก็มีหากรักษาไม่ทัน เพราะเชื้อจะทำลายเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคเนื้อเน่าได้แก่

  • ผิวหนังมีแผลจากแมลงกัดต่อย อุบัติเหตุถูกของมีคมตำหรือบาด แผลผ่าตัด
  • มีโรคประจำตัว เช่น ติดสุรา ติดยาเสพติด โรคตับ โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง วัณโรค
  • อาจเกิดหลังจากป่วยเป็นโรคไข้สุกใส
  • มีการใช้ยา Steroid หรือชอบกินยาชุด
  • คนชรา
  • คนอ้วน

วิธีป้องกันมีดังนี้

  1. รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ถ้าภูมิคุ้มกันต่ำเชื้อจะลุกลาม ติดเชื้อง่าย
  2. อย่าย่ำน้ำย่ำโคลน ถ้าต้องทำงานก็ให้ใส่รองเท้าบูท อย่าให้แผลสกปรก ทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาด ฟอกสบู่ และใส่ยา
  3. หลังทำไร่ทำนาย่ำน้ำย่ำโคลน ให้รีบอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายทันที
  4. อย่ากินยาชุด ยาลูกกลอน พวกนี้ชอบใส่สารเตียรอยด์ มันจะไปกดภูมิต้านทานของร่างกาย ทำให้ติดเชื้อง่าย
  5. หลีกเลี่ยงการกินอาหารทะเลแบบปรุงไม่สุก
  6. ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำ หลังสัมผัสกับอาหารทะเล

อาการของโรค
ไข้สูง หนาวสั่น คลื่นไส้อาเจียน เหงื่อออก เป็นลม ช๊อกหมดหมดสติ

  • อาการของโรควันที่ 1-2 มีอาการปวดบริเวณที่เกิดโรค บวม และแดง ลักษณะจะคล้ายกับผิวหนังอักเสบหรือไฟลามทุ่ง แต่โรคเนื้อเน่าเกิดในชั้นลึกกว่านั้นซึ่งมองไม่เห็น อาการปวดจะรุนแรงมากขึ้นซึ่งไม่สอดคล้องกับอาการทางผิวหนังที่ตรวจพบ ไม่ตอบสนองต่อยาปฎิชีวนะ ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัวหัวใจเต้นเร็ว มีลักษณะอาการขาดน้ำ
  • อาการของโรควันที่ 2-4 พบว่าบริเวณที่บวมจะกว้างกว่าบริเวณผิวหนังที่แดง มีผื่นผุพองซึ่งบ่งบอกว่าผิวหนังขาดเลือด และมีเลือดออก ผิวมีสีออกคล้ำเนื่องจากผิวหนังเริ่มตาย เมื่อกดผิวจะพบว่าแข็งไม่สามารถคลำขอบของกล้ามเนื้อได้ อาจจะคลำได้กรอบแกรบใต้ผิวหนัง เนื่องจากเกิดแก๊สใต้ผิวหนัง
  • อาการของโรควันที่ 4-5 จะมีความดันโลหิตต่ำ และมีภาวะโลหิตเป็นพิษ ผู้ป่วยจะไม่ค่อยรู้สึกตัว

อาการแทรกซ้อน
อัตราเสียชีวิตจะสูง เกิดภาวะโลหิตเป็นพิษ การติดเชื้ออาจจะทำให้เส้นประสาท กล้ามเนื้อและหลอดเลือดถูกทำลาย อาจจะต้องตัดอวัยวะทิ้ง

การรักษา
มาพบแพทย์โดยด่วนเพื่อวินิจฉัยให้เร็ว และผ่าตัดเอาเนื้อที่ตายหรือเนื้อที่ติดเชื้อออกให้มากที่สุด ผ่าตัดเพื่อระบายเอาหนองออก และตัดเนื้อเยื่อที่ตาย หากติดเชื้อรุนแรงอาจจำเป็นต้องตัดอวัยวะนั้นออก


แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– โรงพยาบาลวิภาวดี,
– คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
– มหาวิทยาลัยมหิดล
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM

แชร์

สินค้าที่เกี่ยวข้อง

No results found.

ยังไม่มีบัญชี