แผลกดทับเกิดจากอะไร?
แผลกดทับ (Bedsores หรือ Pressure sores) คือ การบาดเจ็บของผิวหนังหรือชั้นใต้ผิวหนังที่เกิดจากการกดทับนาน ๆ ต่อเนื่อง แผลกดทับเจอได้บ่อยในผู้ป่วยที่ติดเตียง หรือมีปัญหาในการเคลื่อนไหว เช่น ต้องนั่งอยู่บนเก้าอี้หรือวีลแชร์เป็นเวลานาน ๆ ต่อเนื่อง แผลกดทับเกิดได้จากกลไกของการกดผิวหนังเป็นเวลานาน ๆ การเสียดสีกับเตียงหรือเสื้อผ้า และการฉีกขาด ของผิวหนังที่เกิดจากการครูดไถกับพื้นผิว เช่น การเคลื่อนย้ายตัวจากเตียง
แผลกดทับ มักเป็นได้ง่ายในบริเวณร่างกายที่เป็นปุ่มกระดูกแล้วเกิดการกดทับนาน ๆ ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจทำให้แผลกดทับแย่ลง เช่น ความสกปรกหรืออับชื้นของผิวหนัง การเสียดสี ที่อาจทำให้เกิดแผลได้มากขึ้น หรือ เพิ่มโอกาสการติดเชื้ออักเสบแทรกซ้อนได้
บริเวณที่มักเกิดแผลกดทับ ได้แก่
- ก้นกบ
- ศอก
- สะโพก
- ส้นเท้า
- ข้อเท้า
- ไหล่
- หลัง
- ท้ายทอย
การป้องกันแผลกดทับ
ปัญหาใหญ่สำหรับผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียงที่เกิดมากที่สุดและสร้างปัญหามากเป็นอันดับต้นๆ คือ ปัญหาแผลกดทับ เกิดจากการที่ร่างกายและผิวที่บอบบางถูกกดทับเป็นเวลานานๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนทำให้จุดที่ถูกกดทับ เลือดไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงเพียงพอจนเป็นรอยแดง เกิดเป็นแผล มีความอับชื้น และมีอาการเป็นแผลเรื้อรัง และเสี่ยงต่อแผลติดเชื้อ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่เป็นโรคเบาหวานที่จะมีอาการของแผลที่ลุกลามง่าย หรือผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องความอ้วนมากๆ ทำให้เลือดไหลเวียนไม่ดี หรือผู้ป่วยที่มีความผอมมากๆ ทำให้ผิวหนังบริเวณปุ่มกระดูกกดทับผิวหนังจนเกิดแผลได้ และอีกสาเหตุที่พบมากก็คือ การลื่นไถลของผิวหนังจากการเคลื่อนย้ายร่างกายบนที่นอนของผู้ป่วย
6 เทคนิค ช่วยป้องกันการเกิดแผลกดทับ
- หมั่นพลิกตะแคงตัว เปลี่ยนท่านอนอย่างน้อยทุกๆ 2 ชั่วโมง
- ดูแลที่นอนให้สะอาด แห้ง อากาศถ่ายเทอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้เกิดความอับชื้น
- การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยควรมีผ้ารอง
- ดูแลผิวหนังผู้ป่วยไม่ให้อับชื้นหรือแห้งเกินไปอยู่เสมอ
- ออกกำลัง ขยับแขน, ขา และข้อต่อต่างๆ ให้ผู้ป่วยเป็นประจำ
- ผู้ป่วยจะต้องได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน โดยเฉพาะโปรตีน, วิตามิน, ธาตุเหล็ก และน้ำ
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับมาก
ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือตัวเองได้น้อยมีภาวะโรคประจำตัวเยอะ ขาดสารอาหารรวมถึงมีปุ่มกระดูกขนาดใหญ่ที่ตำแหน่งกดทับ สามารถเลือกใช้อุปกรณ์ที่ช่วยลดแรงกดทับ เสริมได้ เช่น หมอนนุ่ม ๆ หรือที่นอนรังผึ้งที่จะช่วยลดแรงกดทับได้ เตียงลมที่มีคุณภาพ หรือเจลรองตำแหน่งกดทับเป็นต้น
นอกจากนี้ การเครื่องย้ายผู้ป่วยควรมีเครื่องทุ่นแรงและปลอดภัยต่อผิวหนัง และไม่ควรทำตามลำพัง เพื่อป้องกันการบาดเจ็บทั้งต่อคนไข้และผู้ดูแล รวมทั้งการดูแลด้านโภชนาการที่ต้องปรับสัดส่วนของสารอาหารให้เหมาะกับผู้ป่วยซึ่งสามารถปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการได้
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– healthathome.com
– thonburihealthvillage.com
– cherseryhome.com
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM