แม้ภาวะท้องผูกจะไม่ทำให้ผู้ป่วยได้รับอันตรายถึงชีวิต แต่หลายๆ คนก็ได้รับความทุกข์ทรมานจากภาวะการขับถ่ายที่ผิดปกติ ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งร่างกายและจิตใจ ทั้งรู้สึกเครียด เบื่ออาหาร อึดอัดแน่นท้อง ขาดความกระปรี้กระเปร่า อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ริดสีดวงทวารหนัก เกิดแผลที่ทวารหนักหรือลำไส้ตรง รวมถึงอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้าย เช่น ลำไส้อุดตัน หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่อีกด้วย
ท้องผูก (Constipation)
ท้องผูก คือ ภาวะที่ขับถ่ายยาก ขับถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ อาจต้องใช้เวลาเบ่งถ่ายเป็นเวลานาน ขับถ่ายได้ครั้งละไม่มาก อุจจาระมีลักษณะเป็นเม็ดแข็ง รู้สึกว่าถ่ายไม่สุด อึดอัดแน่นท้อง ทั้งนี้ หากมีอาการท้องผูกนานมากกว่า 3 เดือน และเริ่มมีอาการหลังจากมีอาการท้องผูกครั้งแรกนานมากกว่า 6 เดือน แต่ละเลยไม่รับการรักษา อาจส่งผลให้เกิดอาการท้องผูกต่อเนื่องและรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นอาการท้องผูกเรื้อรัง ซึ่งเป็นปัญหาของระบบทางเดินอาหารที่พบได้บ่อยมากกว่าร้อยละ 30 ของประชาชนทั่วไป และมักพบในผู้สูงอายุ รวมถึงพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึง 2 เท่า
อาการ ท้องผูก
- อุจจาระเป็นก้อนแข็ง
- รู้สึกว่าถ่ายอุจจาระไม่สุด
- รู้สึกว่ามีสิ่งอุดกั้นบริเวณทวารหนัก
- ต้องใช้ตัวช่วยเพื่อทำให้อุจจาระออกมา
- ต้องใช้เวลาเบ่งนานมากกว่าปกติ
- ต้องใช้แรงในเบ่งมากกว่าปกติ
สาเหตุของภาวะท้องผูก
ภาวะท้องผูกเกิดได้จากหลายสาเหตุ แบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ
แบบปฐมภูมิ สาเหตุมาจากการทำงานที่ผิดปกติของลำไส้ใหญ่และระบบขับถ่ายโดยตรง เกิดจากลำไส้ใหญ่มีการเคลื่อนไหวน้อยลง ทําให้อุจจาระเคลื่อนลงมาช้ากว่าปกติ ซึ่งพบได้น้อยมาก เพียงร้อยละ 5-6 เท่านั้น
แบบทุติยภูมิ มีสาเหตุจากปัจจัยอื่นๆ เช่น การรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย ดื่มน้ำน้อย ไม่ออกกำลังกาย การใช้ยาหรืออาหารเสริมบางชนิด รวมถึงเกิดจากผลกระทบของโรคทางต่อมไร้ท่อและโรคทางระบบทางเดินอาหาร
การรักษาอาการท้องผูก
- การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ท้องผูกเป็นภาวะที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต สามารถรักษาเบื้องต้นได้ด้วยการรับประทานอาหารที่มีกากใย ดื่มน้ำมากขึ้น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ฝึกการขับถ่ายให้เป็นเวลาทุกวัน ไม่เล่นโทรศัทพ์ขณะนั่งขับถ่าย ตลอดจนการใช้ยาระบายอย่างเหมาะสม
- การฝึกกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเบ่งถ่ายให้ทำงานถูกต้อง (Biofeedback Training) สอนให้ผู้ป่วยขับถ่ายอย่างถูกวิธีด้วยเครื่องมือที่แสดงการทำงานของกล้ามเนื้อที่ควบคุมการขับถ่าย ใช้ในกรณีพบผู้ป่วยท้องผูกเรื้อรังที่สงสัยว่ามีการทำงานที่ผิดปกติของลำไส้ใหญ่ หรือมีสาเหตุจากภาวะการเบ่งถ่ายที่ผิดวิธี โดยผู้ป่วยหลายคนที่ขมิบหรือไม่ยอมคลายหูรูดทวารหนักระหว่างการเบ่งถ่ายทำให้ไม่สามารถเบ่งอุจจาระออกมาได้ เกิดเป็นภาวะ Dyssynergia ซึ่งแพทย์จะวินิจฉัยด้วยเครื่องมือตรวจวัดการทำงานของกล้ามเนื้อส่วนปลายของลำไส้ใหญ่และหูรูดทวารหนัก (Anorectal Manometry)
แต่หากภาวะท้องผูกเกิดพร้อมกับอาการเตือนอื่นๆ เช่น น้ำหนักลด ถ่ายเป็นเลือด ท้องผูกสลับท้องเสีย คลำได้ก้อน มีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ รวมถึงเริ่มมีอาการท้องผูกตอนอายุมากกว่า 50 ปี ควรรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย เนื่องจากอาจมีโอกาสพบโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
ลำไส้อุดตัน (Intestinal Obstruction)
เป็นภาวะที่มีสิ่งอุดตันหรือมีการรบกวนการบีบตัวของลำไส้ ทำให้อาหารหรือของเหลวต่าง ๆ ไม่สามารถเคลื่อนผ่านได้ปกติ ทำให้เกิดอาการปวดท้อง แน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง อาการที่เกิดจะบอกถึงตำแหน่งการอุดตัน อาจเกิดการอุดตันบางส่วนหรืออุดตันทั้งหมด หากมีอาการปวดท้องรุนแรง หรืออาการอื่นร่วมด้วยควรรีบพบแพทย์ หากปล่อยไว้อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้
อาการของลำไส้อุดตัน
มีได้หลายอาการ เนื่องจากขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่อุดตัน เช่น ปวดท้อง เบื่ออาหาร ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น ช่องท้องมีเสียงดังผิดปกติ ฯลฯ ลำไส้อุดตันทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ ดังนั้นควรรีบพบแพทย์หากมีอาการดังที่กล่าวมา
อาการของลำไส้เล็กอุดตัน
- ปวดท้องรุนแรงบริเวณใต้ซี่โครงหรือสะดือ
- ท้องอืดแน่นท้อง หรือกดที่ท้องแล้วรู้สึกเจ็บ
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ไม่สามารถผายลมได้
อาการของลำไส้ใหญ่อุดตัน
- ปวดท้อง
- ท้องอืด แน่นท้อง
- ท้องผูกเป็นเวลานาน อุจจาระไม่ออก
- อุจจาระมีลักษณะลีบ เล็กลง
สาเหตุของภาวะลำไส้อุดตัน
แบ่งได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้
1.ลำไส้ตีบตัน (Mechanical Obstructions) เกิดจากมีสิ่งไปอุดตันทางเดินของลำไส้ ส่วนใหญ่เกิดจากพังผืดในลำไส้หลังจากการผ่าตัดภายในช่องท้อง รวมถึงเกิดจากปัจจัยต่างๆ เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ เนื้องอกในลำไส้เล็ก นิ่วในถุงน้ำดี ไส้เลื่อน รวมถึงความผิดปกติของลำไส้ในทารกแรกเกิด นอกจากนี้อาจเกิดจากภาวะลำไส้อักเสบ เช่น โรคโครห์น (Crohn’s Disease)
2.ภาวะลำไส้อืด (Nonmechanical Obstructions) เกิดจากลำไส้ไม่สามารถบีบตัวและเคลื่อนไหวได้ตามปกติ ส่งผลต่อระบบขับถ่าย โดยมีสาเหตุมาจากการผ่าตัดในช่องท้องหรืออุ้งเชิงกราน การติดเชื้อ การใช้ยาบางชนิด รวมถึงความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อและระบบประสาท เช่น โรคพาร์คินสัน (Parkinson’s Disease) โรคเบาหวาน เป็นต้น
การวินิจฉัยลำไส้อุดตัน
ในการวินิจฉัยตำแหน่งและหาสาเหตุของการเกิด แพทย์จะซักประวัติผู้ป่วย และอาการต่าง ๆ ว่าเริ่มปวดท้องหรือพบอาการตั้งแต่เมื่อใด เคยพบอาการเหล่านี้มาก่อนหรือไม่ มีอาการปวดอย่างต่อเนื่องหรือเป็น ๆ หาย ๆ มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เป็นไข้ อุจจาระเป็นเลือด ท้องผูก หรือท้องเสียร่วมด้วยหรือเปล่า หรือผู้ป่วยเคยมีประวัติการผ่าตัดหรือฉายรังสีที่บริเวณช่องท้องมาก่อนหรือไม่ แพทย์จะทำการตรวจอาการบวมที่ช่องท้อง ฟังเสียงการทำงานของลำไส้ หรืออาจมีแนวทางในการวินิจฉัยอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น
1.การเอกซเรย์บริเวณช่องท้อง เพื่อยืนยันการเกิดลำไส้อุดตัน แต่บางครั้งการเอกซเรย์อาจไม่ได้ช่วยให้ตรวจพบสาเหตุของลำไส้อุดตันได้
2.การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ CT scan ร่วมกับการเอกซเรย์ในภายในช่องท้อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการวินิจฉัยหาสาเหตุและตำแหน่งที่ลำไส้อุดตัน
3.การอัลตราซาวด์
4.การสวนโดยใช้ลมหรือแป้งแบเรี่ยมเข้าไปที่ลำไส้ผ่านทางทวารหนักเพื่อแสดงลักษณะของลำไส้
5.การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ในกรณีที่ลำไส้ใหญ่อุดตัน
การรักษาภาวะลำไส้อุดตัน
การรักษาลำไส้อุดตันจำเป็นต้องตรวจหาสาเหตุและอาการของผู้ป่วย ทำได้ดังนี้
- การรักษาลำไส้อุดตันบางส่วน กรณีที่อาหารและน้ำยังสามารถเคลื่อนผ่านลำไส้ได้บ้าง รักษาระยะแรกด้วยการรับประทานอาหารเหลว หากผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานอาหารที่มีกากใยน้อยในระยะยาว แต่หากอาการไม่ดีขึ้น อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
- การรักษาลำไส้อุดตันทั้งหมด กรณีอาหารและน้ำไม่สามารถเคลื่อนตัวผ่านลำไส้ได้เลย จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด เพื่อนำสิ่งอุดตันออกจากลำไส้ หรือผ่าตัดลำไส้ส่วนที่เสียหายออก
- การรักษาภาวะลำไส้อืด รักษาด้วยการให้อาหารทางสายยางเพื่อป้องกันภาวะขาดสารอาหาร หากอาการไม่ดีขึ้นอาจต้องใช้ยาช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ หรือผ่าตัดลำไส้ในส่วนที่เสียหายออก กรณีผู้ป่วยเกิดภาวะลำไส้ขยายตัว แพทย์จะรักษาด้วยการบีบไล่อุจจาระร่วมกับการส่องกล้อง
ภาวะท้องผูก และ ลำไส้อุดตัน มีอาการหลายอย่างคล้ายคลึงกัน
โดยเฉพาะอาการปวดท้องและไม่สามารถถ่ายอุจจาระได้ตามปกติ แต่การรักษาอาการท้องผูกนั้นง่ายและไม่ซับซ้อนเท่าการรักษาภาวะลำไส้อุดตัน อีกทั้งอาการท้องผูกไม่เป็นอันตรายต่อชีวิต ขณะที่ลำไส้อุดตันอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้หากไม่ทำการรักษาอย่างถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเพียงภาวะท้องผูกชั่วคราว ท้องผูกเรื้อรังหรือลำไส้อุดตัน ก็ไม่ควรปล่อยไว้เพราะอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ส่งผลต่อสุขภาพในด้านอื่นๆ ทั้งลำไส้ทะลุ ริดสีดวงทวาร ภาวะไตวาย หรือรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต หากการอุดตันไปขัดขวางการไหลเวียนของเลือดไม่ให้ไปยังส่วนต่างๆ ของลำไส้ จนเนื้อเยื่อในลำไส้ตาย เกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด การทำงานของอวัยวะภายในล้มเหลว
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– โรงพยาบาลกรุงเทพ
– โรงพยาบาลสมิติเวช
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM