หลายครั้งที่เราได้ยินใครๆ พูดว่า ‘โรคสมองเสื่อมก็คือโรคอัลไซเมอร์นั่นแหละ’ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ผู้ที่เป็น ‘โรคสมองเสื่อม’ ก็ไม่ได้มีอาการหรือต้องเป็น ‘โรคอัลไซเมอร์’ เสมอไป เพราะโรคสมองเสื่อมนั้นมีอยู่หลายชนิด โดยมีสาเหตุและอาการที่แตกต่างกัน
สมองเสื่อมกับอัลไซเมอร์ต่างกันอย่างไร?
หลายคนมักเข้าใจว่าสมองเสื่อมและอัลไซเมอร์เป็นโรคเดียวกัน ซึ่งความจริงแล้วทั้ง 2 โรคนี้มีความคล้ายคลึงกันอยู่ก็จริง แต่ก็มีความแตกต่างเล็กๆ ที่ช่วยให้สามารถแยกแยะ 2 โรคนี้ออกจากกันได้อยู่
โรคสมองเสื่อม (Demantia) เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของสมองซึ่งเกิดได้จากหลายปัจจัย มีอาการแสดงเป็นความทรงจำและความคิดของผู้ป่วยที่มีคุณภาพแย่ลง จนส่งผลกระทบต่อกิจวัตรการทำงานและการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น
- จดจำชื่อคนหรือเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านมาไม่ได้
- หลงลืมการวางแผนการทำกิจกรรม หรือสิ่งที่กำลังจะลงมือทำในไม่ช้า
- พูดซ้ำๆ ถามซ้ำๆ วกวน เนื่องจากจำไม่ได้ว่าเคยพูดประโยคหรือคำเหล่านี้ไปแล้ว
- แยกแยะทิศทางไม่ได้ จำทางกลับบ้านหรือสถานที่ที่กำลังจะเดินทางไปไม่ได้
โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) จัดเป็นโรคที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับความทรงจำ และนำไปสู่การเกิดโรคสมองเสื่อมหลังจากนั้น โดยอาจมีสาเหตุมาจากความเสื่อมของสมอง หรือโรคประจำตัวอื่นๆ ที่ทำให้ผู้ป่วยมีความทรงจำแย่ลง และอาจรุนแรงถึงขั้นช่วยเหลือตนเองไม่ได้เลย
สรุปได้ง่ายๆ ว่า โรคสมองเสื่อมเป็นโรคที่สามารถเกิดได้จากหลายปัจจัยมากมาย และหนึ่งในปัจจัยเหล่านั้นก็คือ โรคอัลไซเมอร์นั่นเอง
อาการของโรคสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์
เนื่องจากทั้งโรคสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์เป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อระบบความทรงจำของผู้ป่วยทั้งคู่ อาการแสดงที่สังเกตได้จึงคล้ายคลึงกัน และส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอย่างมาก โดยที่พบได้บ่อยๆ ได้แก่
- แยกแยะทิศทางไม่ได้ มีโอกาสหลงทางในระหว่างเดินทางอยู่ข้างนอก หรือหาทางกลับบ้านไม่ได้
- อารมณ์แปรปรวน ซึมเศร้า หรือฉุนเฉียวง่ายกว่าปกติ
- จดจำบุคคลสำคัญในชีวิตไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว หรือเพื่อนสนิท
- ไม่รู้ว่าต้องเข้าห้องน้ำเมื่อปวดปัสสาวะหรือปวดอุจจาระ ทำให้ผู้ป่วยบางรายปัสสาวะราดหรืออุจจาระราด
- หลงลืมแผนการในชีวิตที่กำลังจะลงมือทำ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
- พูดจาวกวนหรือพูดไม่รู้เรื่อง ลำดับประโยคที่ต้องการสื่อสารไม่ได้
- ไม่ใส่ใจสุขอนามัยของร่างกาย เช่น ไม่ยอมอาบน้ำ ไม่แปรงฟัน หรืออาจทำกิจวัตรเหล่านี้ไม่เป็นอีก
การรักษาโรคสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์
การรักษาโรคสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์มีอยู่หลายวิธี และอาจใช้หลายวิธีร่วมกันในผู้ป่วยคนเดียวเพื่อยกระดับความถดถอยของสมรรถภาพความทรงจำผู้ป่วยให้กลับมาทำงานได้ดีขึ้นมากที่สุด เช่น การกินยา การทำกิจกรรมบำบัด การทำกายภาพบำบัด
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– โรงพยาบาลพญาไท
– web hdmall
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM