ไข้เลือดออกในเด็กเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนชื้นที่มีสภาพอากาศเอื้อต่อการแพร่พันธุ์ของยุงลายได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเด็กมักชอบเล่นสนุกนอกบ้านและไม่รู้วิธีป้องกันการถูกยุงกัด จึงอาจติดเชื้อไข้เลือดออกผ่านการถูกยุงกัดโดยไม่รู้ตัว
ไข้เลือดออกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกเดงกี (Dengue Virus) จากยุงลายที่กัดผู้ที่มีเชื้อไข้เลือดออกมาก่อน โดยผู้ป่วยไข้เลือดออกอาจมีอาการที่แตกต่างกัน ผู้ป่วยส่วนมากมักมีอาการไม่รุนแรงและมีอาการดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์
อย่างไรก็ตาม ทารกที่อายุต่ำกว่า 12 เดือน เด็ก และผู้ที่เคยติดเชื้อไวรัสเดงกีมาก่อน มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไป นอกจากนี้ ยังไม่มียาต้านเชื้อไวรัสไข้เลือดออกและไม่มีวัคซีนที่สามารถป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ พ่อแม่จึงควรป้องกันไม่ให้ลูกถูกยุงกัด เพื่อลดความเสี่ยงของการเป็นไข้เลือดออก
สัญญาณบ่งชี้ไข้เลือดออกในเด็ก
เด็กมักมีอาการของไข้เลือดออกหลังได้รับเชื้อไวรัสภายใน 4–10 วัน โดยอาการในระยะแรกมักไม่ชัดเจนและอาจใกล้เคียงกับโรคอื่นได้ แต่พ่อแม่อาจสังเกตได้จากอาการเหล่านี้
- มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส หรือตัวเย็น โดยอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่า 36 องศาเซลเซียส
- เซื่องซึม ไม่ยอมนอน เบื่ออาหาร และงอแงผิดปกติ
- มีอาการของภาวะขาดน้ำ เช่น มีน้ำตาออกมาน้อยหรือไม่มีน้ำตาเลยขณะร้องไห้ ปากและลิ้นแห้ง ปัสสาวะน้อยลง ในเด็กเล็กอาจสังเกตจากการเปลี่ยนผ้าอ้อมน้อยกว่า 6 ชิ้นต่อวัน
- มีผื่นแดงหรือจุดเลือดขึ้นตามร่างกาย
- ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยตามข้อ กระดูก และกล้ามเนื้อ
โดยทั่วไป ผู้ใหญ่และเด็กโตที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไปมักมีอาการประมาณ 2–7 วัน แต่เด็กที่อายุน้อยกว่า 12 ปี เป็นกลุ่มเสี่ยงของการเกิดอาการรุนแรง (Dengue Hemorrhagic Fever: DHF) ซึ่งพ่อแม่ควรให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ
หากลูกมีอาการปวดท้อง อาเจียนมากกว่า 3 ครั้งใน 24 ชั่วโมง มีเลือดออกบริเวณเหงือก เลือดกำเดาไหล ถ่ายหรืออาเจียนเป็นเลือด อ่อนเพลีย และงอแงผิดปกติหลังจากไข้ลดลง 24–48 ชั่วโมง ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์ทันที เพราะไข้เลือดออกชนิดรุนแรงอาจทำให้การทำงานของอวัยวะภายในเสียหายหรือล้มเหลว ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงและการเสียชีวิตได้
นอกจากนี้ หากมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำร่วมด้วย อาการเลือดออกจะรุนแรงมากขึ้นและอาจเกิดภาวะช็อคหลังจากไข้ลดลง เด็กอาจชัก หมดสติ หรือหัวใจหยุดเต้น ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม
ไข้เลือดออกในเด็ก ควรดูแลรักษาอย่างไร
การรักษาโรคไข้เลือดออกไม่มียาที่สามารถรักษาได้โดยตรง ในเบื้องต้นพ่อแม่ควรสังเกตอาการและดูแลลูกในช่วงที่มีไข้สูงด้วยวิธีต่อไปนี้
- ให้ลูกพักผ่อนให้เพียงพอและดื่มน้ำมาก ๆ โดยให้ลูกดื่มนมแม่หรือนมผงที่เคยดื่มตามปกติ แต่ให้บ่อยครั้งขึ้น สำหรับเด็กอายุ 3 เดือนขึ้นไปสามารถให้น้ำผสมผงเกลือแร่ตามที่แพทย์สั่ง และเด็กที่อายุมากกว่า 6 เดือนสามารถให้จิบน้ำบ่อย ๆ ได้
- เช็ดตัวลดไข้และให้รับประทานยาลดไข้และบรรเทาอาการปวดประเภทยาพาราเซตามอล ควรหลีกเลี่ยงยาลดไข้ชนิดอื่น โดยเฉพาะกลุ่มยาแอสไพรินและยาไอบูโพรเฟน เพราะเสี่ยงต่อการทำให้เลือดออกมากขึ้น
ทั้งนี้ หากลูกมีอาการรุนแรง เช่น อาเจียน ท้องเสีย มีเลือดออกมาก ไข้ไม่ลดลงภายใน 3–4 วัน และดูซึมลง ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา โดยแพทย์อาจให้สารน้ำและเกลือแร่ทางหลอดเลือดดำ (IV) และรับการถ่ายเลือด (Blood Transfusion) ในกรณีที่มีเกล็ดเลือดต่ำ รวมทั้งสังเกตอาการที่โรงพยาบาลอย่างใกล้ชิด
ป้องกันลูกน้อยจากไข้เลือดออกในเด็ก
การป้องกันโรคไข้เลือดออกในเด็กมีหลายวิธี ปัจจุบันมีวัคซีนไข้เลือดออกCYD-TDV ที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา (อย.) โดยสามารถลดความเสี่ยงของการติดเชื้อไวรัสเดงกีได้ครบทั้ง 4 สายพันธ์ุ ซึ่งสามารถฉีดได้ในเด็กที่มีอายุ 9 ขึ้นไป
อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนเป็นเพียงวิธีที่ช่วยลดความรุนแรงของโรค แต่ไม่ได้ป้องกันโรคไข้เลือดออกได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ วิธีป้องกันไข้เลือดออกในเด็กได้ดีที่สุดคือ การระวังไม่ให้ลูกถูกยุงกัดและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายดังนี้
ป้องกันยุงโดยไม่ใช้สารเคมี
- พ่อแม่สามารถป้องกันยุงกัดลูกน้อยได้ด้วยวิธีต่อไปนี้
- สวมใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดร่างกาย โดยเลือกเสื้อผ้าที่มีแขนขายาว และสวมใส่ถุงเท้า
- ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีกลิ่นหอม เช่น สบู่และน้ำหอม
- หลีกเลี่ยงการออกจากบ้านช่วงค่ำ ปิดประตูและหน้าต่างให้มิดชิด เปิดเครื่องปรับอากาศ หรือนอนในมุ้ง
ใช้ผลิตภัณฑ์ทากันยุง
ผลิตภัณฑ์ทากันยุงมีหลายรูปแบบ เช่น โลชั่น ครีม หรือสเปรย์ แต่ไม่ควรใช้ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 เดือน นอกจากนี้ พ่อแม่ไม่ควรให้เด็กใช้ยากันยุงด้วยตัวเอง และระวังไม่ให้ทาบริเวณเนื้อเยื่ออ่อน เช่น ริมฝีปาก รอบดวงตา หรือบริเวณแผล โดยมีข้อควรระวังในการใช้ผลิตภัณฑ์กันยุงที่มีสารต่าง ๆ ดังนี้
- ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของดีอีอีที (DEET) เด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี ควรใช้ชนิดที่มีความเข้มข้นไม่เกิน 30% และเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ควรใช้ชนิดที่มีความเข้มข้นไม่เกิน 50%
- ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของอิคาริดิน (Icaridin) ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี
- ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของไออาร์ 3535 (IR 3535) ที่มีความเข้มข้นมากกว่า 12.5% ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี
- ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำมันตะไคร้หอม ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี และน้ำมันยูคาลิปตัส (Eucalyptus Oil) ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี
ทั้งนี้ ควรปฏิบัติตามวิธีใช้และคำเตือนบนฉลากอย่างเคร่งครัด ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์กันยุงติดต่อกันเป็นประจำ และไม่ควรใช้ปริมาณมาก
กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
ปิดฝาภาชนะเก็บน้ำให้มิดชิด หากเป็นภาชนะเก็บน้ำที่ปิดฝาไม่ได้อาจใส่ปลาหางนกยูงหรือปลาที่กินลูกน้ำ และควรเก็บทำลายภาชนะที่ไม่ใช้แล้วเพื่อป้องกันไม่ให้มีน้ำขัง นอกจากนี้ ควรหมั่นตรวจดูแจกันหรือภาชนะต่าง ๆ และเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกสัปดาห์ และใส่เกลือ น้ำส้มสายชู หรือผงซักฟอกลงในภาชนะที่อาจมีน้ำขัง เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงมาวางไข่
ไข้เลือดออกในเด็กเป็นโรคระบาดที่พบได้บ่อยในประเทศไทย แม้ผู้ที่ติดเชื้อไข้เลือดออกที่มีอาการรุนแรงจะมีจำนวนน้อย แต่เด็กเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงได้มากหากได้รับเชื้อไวรัสเดงกี พ่อแม่จึงควรป้องกันไม่ให้ลูกถูกยุงกัด หมั่นสังเกตและเฝ้าระวังสัญญาณอันตรายของไข้เลือดออกอยู่เสมอ หากลูกมีอาการรุนแรง ควรไปพบแพทย์ทันที
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– โรงพยาบาลบำรุงราษฎ์
– เว็บพบแพทย์
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM