เช็คเลย 4 ระยะ ของริดสีดวงทวาร(Hemorrhoids)

โรคริดสีดวงทวารหนักเป็นโรคที่พบบ่อยในวัย 20 ปีขึ้นไป เกิดจากการบวมหรือการหย่อนหยานของเนื้อเยื่อบริเวณภายในปากทวารหนัก โดยเนื้อเยื่อนี้จะช่วยยืดหยุ่นรองรับการเสียดสีระหว่างอุจจาระกับทวารหนักโรคริดสีดวงทวารหนักเป็นโรคที่พบบ่อยในวัย 20 ปีขึ้นไป เกิดจากการบวมหรือการหย่อนหยานของเนื้อเยื่อบริเวณภายในปากทวารหนัก โดยเนื้อเยื่อนี้จะช่วยยืดหยุ่นรองรับการเสียดสีระหว่างอุจจาระกับทวารหนัก

ปัจจุบันเชื่อว่ามีหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดริดสีดวงทวารหนัก เช่น ภาวะท้องผูก การเบ่งอุจจาระนานๆ รับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย และรสจัด รวมถึงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาจกระตุ้นอาการริดสีดวงทวารได้

ริดสีดวงทวาร คืออะไร โดยปกติแล้วบริเวณเยื่อบุช่องทวารหนักจะมีเส้นเลือดและหลอดเลือดขนาดเล็กอยู่ เมื่อเกิดจากการโป่งพองของหลอดเลือดขนาดเล็กบริเวณเยื่อบุช่องทวารหนัก รวมถึงมีการบวม และหย่อนยานของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของเยื่อบุช่องทวารหนักด้วย จะก่อให้เกิดเป็นโรคริดสีดวงทวารขึ้น ซึ่งสามารถเป็นพร้อมกันหลายอันและหลายตำแหน่ง โดยริดสีดวงทวารแบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ

ริดสีดวงทวารภายใน
จะเกิดขึ้นภายในทวารหนัก โดยหลอดเลือดที่โป่งพองอาจจะไม่โผล่ออกมาให้เห็น และไม่สามารถคลำได้ จะตรวจพบต่อเมื่อส่องกล้องเท่านั้น ซึ่งแบ่งเป็น 4 ระยะ ตามขนาดจากเล็กไปใหญ่

  • ระยะที่ 1 ขนาดเล็ก อยู่ข้างในรูทวาร ไม่ยื่นออกมา อาจมีเลือดสด ๆ ขณะถ่ายหรือหลังถ่ายอุจจาระ
  • ระยะที่ 2 หัวริดสีดวงโตขึ้นโผล่ออกมาขณะเบ่งถ่ายและหดกลับเข้าไปได้เองหลังถ่ายอุจจาระเสร็จเรียบร้อย จะมีเลือดออกได้บ่อยขึ้น สีแดงสด
  • ระยะที่ 3 หัวริดสีดวงขนาดใหญ่ และ โผล่ออกมาขณะเบ่งถ่ายอุจจาระ ไม่กลับเข้าไปได้เอง ต้องใช้มือดันเข้าไป จะมีเลือดออกบ่อยๆ และ มีอาการระคายเคืองมากขึ้น
  • ระยะที่ 4 หัวริดสีดวงโตมากโผล่ออกมาด้านนอกไม่สามารถดันกลับเข้าไปได้ อาจรู้สึกปวด รบกวนชีวิตประจำวัน

ริดสีดวงทวารภายนอก
จะเกิดขึ้นบริเวณปากรอยย่นรอบทวารหนัก จากการที่กลุ่มหลอดเลือดดำใต้ผิวหนังปากทวารหนักโป่งพอง สามารถมองเห็นและคลำได้ เวลาอักเสบจะมีอาการเจ็บปวด ทั้งนี้ ในผู้ป่วยบางราย อาจมีทั้งริดสีดวงภายในและภายนอกอักเสบในเวลาเดียวกัน

วิธีรักษาโรคริดสีดวงทวาร

วิธีการรักษาโรคริดสีดวงทวารขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของแต่ละบุคคล แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่

การรักษาโดยไม่ผ่าตัด ใช้รักษาริดสีดวงทวารภายใน ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 คือขนาดไม่ใหญ่มาก ซึ่งมีหลายวิธี ดังนี้

การเหน็บยา โดยแพทย์จะสั่งยาเหน็บรักษาริดสีดวงภายในที่ช่วยรักษาอาการให้ดีขึ้น (ไม่ช่วยในริดสีดวงภายนอก)

  • การฉีดยา เข้าไปในตำแหน่งที่กำหนดใต้ชั้นผิวหนังที่มีขั้วริดสีดวงเพื่อให้หัวริดสีดวงยุบลง โดยจะมีการฉีดซ้ำทุก 2 – 4 สัปดาห์ เพื่อบรรเทาอาการให้ดีขึ้น
  • การใช้ยางรัด (Rubber band ligation) บริเวณหัวริดสีดวงที่โผล่ออกมาเพื่อให้หัวริดสีดวงฝ่อและหลุดออก วิธีนี้
  • จำเป็นต้องอาศัยความชำนาญของแพทย์เฉพาะทาง เพราะอาจเกิดการติดเชื้อและผลข้างเคียงอื่น ๆ ตามมาได้ ไม่ควรใช้วิธีนี้กับผู้ป่วยที่รับประทานยาละลายลิ่มเลือด เพราะจะทำให้มีเลือดออกมากไหลไม่หยุด

การรักษาโดยการผ่าตัดริดสีดวง

เหมาะกับริดสีดวงภายนอกอักเสบ และ ริดสีดวงภายใน ระยะที่ 3 และระยะที่ 4

  • การผ่าตัดริดสีดวงแบบมาตรฐานปกติ เป็นการผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อริดสีดวงที่โตและก่อปัญหาออกมา และรวบตัดไปถึงขั้วเส้นเลือดที่เข้ามาเลี้ยงหัวริดสีดวงนั้นๆ โดยไม่ทำอันตรายกับหูรูดทวารหนัก ผู้ป่วยสามารถควบคุมการถ่ายอุจจาระได้เป็นปกติหลังผ่าตัด ซึ่งได้ผลที่ดีระยะยาวกว่าวิธีอื่นๆ มีโอกาสเป็นซ้ำใหม่น้อยที่สุด หากผ่าตัดโดยศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีริดสีดวงภายนอกขนาดใหญ่หรือริดสีดวงภายในหย่อนออกจากลำไส้ตรง ซึ่งปัจจุบันสามารถผ่าตัดได้โดยไม่ต้องฉีดยาชาบล็อกหลัง แต่จะฉีดยาเข้าเส้นเลือดให้ผู้ป่วยหลับ และ ฉีดยาฉาเฉพาะที่ ทำให้ผู้ป่วยไม่เจ็บขณะผ่าตัด และใช้ไหมละลายในการเย็บ ทำให้ไม่ต้องมาทำแผล และ ไม่ต้องตัดไหม นอกจากนั้นไม่ต้องนั่งแช่ก้น หรือ นั่งห่วงยางเหมือนในอดีต
  • การผ่าตัดริดสีดวงโดยใช้เครื่องมือตัดเย็บอัตโนมัติ (PPH stapler)
    เหมาะกับริดสีดวงทวารภายในเท่านั้น และต้องไม่ใหญ่เกินไป , เนื่องจากส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมีริดสีดวงทั้งภายในและนอกร่วมกัน จึงมีข้อบ่งชี้น้อยในการใช้เครื่องมือนี้ , แพทย์จะต้องใช้เครื่องมือตัดเย็บริดสีดวงภายใน อย่างระมัดระวัง เพราะถ้าตัดต่ำเกินไป และ ตัดถูกผิวหนังด้านนอกด้วย จะทำให้เจ็บมาก และ ในระยะยาวอาจจะมีปัญหารูทวารตีบตันได้ เพราะมีตะเข็บโลหะเป็นวงแหวนฝังตัวอยู่ถาวร
  • การผ่าตัดริดสีดวงด้วยเลเซอร์เหมาะกับริดสีดวงในระยะที่ยังไม่รุนแรงและหัวไม่ใหญ่นัก โดยจะใช้แสงเลเซอร์เข้าไปทำลายเส้นเลือดบริเวณหัวริดสีดวงให้ค่อย ๆ ฝ่อลง ได้ผลดีพอสมควร มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากเครื่องเลเซอร์ แต่ในระยะยาวมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำอีกได้มาก คล้ายการรักษาด้วยการฉีดยาซึ่งมีค่าใช้จ่ายถูกกว่า
  • การผ่าตัดริดสีดวงแบบ Hemorrhoid Artery Ligation (Doppler-guided hemorrhoid artery ligation with recto-anal repair)รักษาได้เฉพาะริดสีดวงภายในขนาดเล็ก เป็นการใช้เครื่องมืออัลตราซาวด์ (Doppler ultrasound probe) ตรวจหาขั้วเส้นเลือดแดงที่เข้ามาเลี้ยงหัวริดสีดวงทวารแต่ละอัน แล้วเย็บรวบผูกขั้วเส้นเลือดนั้นๆ โดยไม่ได้ตัดเอาหัวริดสีดวงที่อักเสบออกไป เพื่อหวังว่าหัวริดสีดวงจะฝ่อไป จึงเหมาะกับริดสีดวงทวารขนาดเล็กเท่านั้น และ ในระยะยาวมีโอกาสเป็นซ้ำได้มากกว่า เนื่องจากเส้นเลือดที่มาเลี้ยงริดสีดวงทวารมีหลายเส้น หรือ เมื่อเย็บผูกแล้ว ร่างกายก็สามารถมีเส้นเลือดแขนงใหม่งอกมาเลี้ยงหัวริดสีดวงที่ไม่ได้ตัดออก จึงมีโอกาสที่จะบวมอักเสบได้อีก

วิธีป้องกันโรคริดสีดวงทวาร ไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ

  1. ขับถ่ายเป็นเวลา และ ไม่นั่งขับถ่ายเป็นเวลานาน
  2. รับประทานผักผลไม้ให้มากขึ้น จะช่วยเพิ่มกากใยอาหาร กระตุ้นการขับถ่ายให้ง่ายขึ้น อุจจาระไม่เป็นก้อนแข็ง
  3. ดื่มน้ำให้มาก สม่ำเสมอ อุจจาระจะไม่แห้งแข็ง ขับถ่ายได้ง่าย
  4. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ช่วยให้ระบบลำไส้ทำงานได้ดีขึ้น ขับถ่ายได้คล่องขึ้น

ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดริดสีดวงทวาร

  1. ท้องผูก ถ่ายเป็นก้อนแข็งเวลาถ่ายต้องเบ่งมากเป็นประจำ
  2. รีบเร่ง พยายามเบ่งถ่ายแรงๆ ให้หมดเร็วๆ
  3. รับประทานผักผลไม้น้อย รับประทานแต่เนื้อสัตว์ อุจจาระจะจับเป็นก้อนแข็งทำให้ถ่ายลำบาก
  4. ดื่มน้ำน้อย ทำให้อุจจาระแห้งแข็ง
  5. นั่งในห้องน้ำนานเกิน อ่านหนังสือหรือดูมือถือเพลิน จะทำให้หัวริดสีดวงพองขยายตัวมากขึ้น
  6. การตั้งครรภ์ มดลูกที่โตขึ้นจะทำให้การไหลเวียนของเลือดบริเวณอุ้งเชิงกรานไม่สะดวก ริดสีดวงจะขยายตัวมากขึ้น
  7. อายุที่มากขึ้น ทำให้มีการหย่อนยายของเนื้อเยื่อเกี่ยวกันของเยื่อบุช่องทวารหนักมากขึ้น และริดสีดวงทวารหนักอักเสบง่ายขึ้น

อาการแบบไหนที่ควรมาพบแพทย์เพื่อทำการรักษา

  1. ถ่ายมีมูกขาวๆ ปนกับเลือดสีคล้ำๆ
  2. มีภาวะซีดร่วมด้วย
  3. ถ่ายอุจจาระบ่อย ถ่ายไม่สุด หรืออาการถ่ายไม่ค่อยออก
  4. รู้สึกปวดในรูปทวารหนักตลอดเวลา
  5. มีอาการท้องผูก สลับท้องเสีย
  6. ขนาดของอุจจาระเล็กลงอย่างต่อเนื่อง
  7. น้ำหนักลงลด
  8. มีประวัติเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัว

หากมีอาการผิดปกติดังกล่าวข้างต้น และอาการไม่ดีขึ้น ไม่ควรชะล่าใจควรรีบพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการวินิจฉัยอาการตั้งแต่เริ่ม ส่งผลให้ทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที


แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– โรงพยาบาลบางปะกอก
– โรงพยาบาลสิมิติเวช
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM

แชร์

ยังไม่มีบัญชี